"แบงก์"พาเหรดปล่อยกู้บ้านเรียกขวัญดักทาง"มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาวะเศรษฐกิจถูกตรึงแน่นอยู่กับที่กลายเป็นเกมท้าทายภาครัฐ ก่อนระดมสมองงัดมาตรการทั้ง "การเงิน-การคลัง" แก้ปัญหาเศรษฐกิจติดหล่ม"เรียกขวัญ"ความเชื่อมั่นที่เปราะบางกลับคืน แบงก์พาณิชย์ ประเดิมพาเหรดลดดอกเบี้ยขากู้ กระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะในสินค้าคงทนอย่าง บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หวังปลุกเศรษฐกิจคืนชีพภายใต้มรสุมการเมืองยังคาดเดาได้ยาก...

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.5% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือสัญญาณสำคัญที่บอกได้ว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องหันมาหาไม้ตาย เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้พลิกฟื้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศยังคงเปราะบางหนึ่งในมาตรการด้านการคลังที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การปล่อยเม็ดเงินลงสู่ฐานราก และการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคโดยเฉพาะบ้าน ซึ่งถือเป็นปัจจัย 4 ของการดำเนินชีวิต ซึ่งปัจจุบันความต้องการบ้านยังมีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากเงินเฟ้อเร่งตัวเร็ว เป็นแรงบีบให้ ธปท. ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น และมีผลให้แบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ยขากู้ขึ้นตาม

ปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้คนซื้อบ้านต้องแบกภาระเพิ่ม ส่วนคนที่อยู่ระหว่างตัดสินใจซื้อก็หยุดชะงักในทันทีเพราะดอกเบี้ยวิ่งขึ้น

จนภายหลังสถานการณ์เงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะปรกติ บวกกับเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะขาดความเชื่อมั่นในหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาด้านการเมือง ทำให้ ธปท.ต้องลดแรงกดดันด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 4.0% ซึ่งผลจากการลดนโยบายการเงินครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคที่ครั้งหนึ่งเคยคิดซื้อบ้านกลับมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

และแว่วมาว่าจะมีมาตรการด้านการคลังหนุนในเรื่อง การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน เหมือนเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ 0.01% ในอัตราดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าไม่เสียภาษีด้วยซ้ำ แต่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการกระตุ้นการบริโภคด้วย การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน

ศักดิ์ ศรีสนั่น รองกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) ถึงกับบอกว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. คงไม่มีผลมากเท่ากับการลดภาษีการโอนเหลือ 0.01% เพราะสร้างแรงจูงใจได้มากกว่า

อย่างไรก็ตามก็ยังมีส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ให้เหตุผลว่าเพราะสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่วิกฤติเช่นปี 2540 การกระตุ้นโดยก่อให้เกิดการเร่งซื้อบ้าน อาจนำมาซึ่งการเก็งกำไรได้ ที่สำคัญ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช้ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง เพราะเป็นภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ถึงกระนั้นเมื่อดูจากรูปการณ์แล้ว การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจก็จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้เกี่ยวผันกับหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเท่ากับว่าตราบใดที่ อสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว การจ้างงานจะเกิดขึ้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างธุรกิจก่อสร้างก็จะขยายตัวตามด้วย ดังนั้น มาตรการด้านการคลังที่ออกมาสนับสนุนให้เกิดการบริโภคสินค้าคงทน โดยเจาะลงไปในหมวดอสังหาริมทรัพย์ได้นั้น ย่อมทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวงกว้าง

ดังนั้นดูเหมือนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้มาตรการทางการเงินและการคลังจะออกมาสอดรับกัน และในทางภาคของแบงก์พาณิชย์ก็เริ่มตอบสนอง ด้วยการออกแคมเปญลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เริ่มที่ แบงก์กรุงไทย กรณีลูกค้าทั่วไป คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกที่ 4.25% (จากเดิมอยู่ที่ 4.75%ต่อปี ) หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR-0.25 % ตลอดอายุสัญญาการกู้ ส่วนลูกค้าโครงการ คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 4% (จากเดิม 4.25% ต่อปี) หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR-0.25%

ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ก็เตรียมปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ลูกค้าไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมพิจารณามาตรการสำหรับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่3 ปีใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกลูกค้าได้รู้ถึงรายจ่ายที่ชัดเจน

รวมถึง กสิกรไทย ที่ถล่มแคมเปญ K-Home Loan Delivery ออกมาท้าทายในรูปการโทรสั่งสินเชื่อบ้านได้ถึงที่ ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่จุดไหนนอกจากนี้แบงก์พาณิชย์อีกหลายแห่งก็ยังอยู่ระหว่างการเตรียมปรับดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปอาจเป็นไปได้ที่ปรับลดลงอีก 0.5% ซึ่งในภาพรวมเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการบริโภคและเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็ตามอยู่ที่ปัจจัยด้านการเมืองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะความไม่นิ่งได้บั่นทอนความเชื่อมั่น และเมื่อไม่เชื่อมั่นย่อมไม่เกิดการบริโภค ในท้ายสุดต่อให้มีมาตรการด้านการเงินการคลังมาหนุนช่วยอะไรไม่ได้มาก

การเสริมใยเหล็กด้วยมาตรการด้านการเงินและการคลัง จึงไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด นั่นเพราะปัจจัยสำคัญทางการเมืองยังไม่นิ่งพอ ความเชื่อมั่นไม่เกิด ซึ่งต่อให้มีร้อยแปดพันเก้ามาตรการก็คงทำได้แค่เพียงประคองตัวไปวันๆ จนกว่าความสงบทางการเมืองจะเกิดขึ้น...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.