|
บันได 4 ขั้น สร้างคน ของ "บ้านพฤกษาฯ"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กลยุทธ์สร้างคนแบบคนสร้างบ้าน "พฤกษาเรียลเอสเตท" กับบันได 4 ขั้นสู่ความสำเร็จหารากองค์กร สกัด "DNA" สองขั้นแรกดึงศักยภาพคนพร้อมปูทัศนคติที่ดีใช้ "IT" ช่วยจัดการ ผู้บริหารไม่ต้องเหนื่อย พัฒนางานโดยไม่ต้องเพิ่มแรงงานหรือโอที ขั้นสาม-สี่ ใช้ชื่อเสียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดคน สร้างความสุขบนเป้าหมายที่ท้าทาย ซื้อใจด้วยเซอร์ไพรส์
ผลสรุปอัตราการลาออกในปี 2549 จากสำนักวัทสัน ไวแอท พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลาออกน่าตกใจมากที่สุดคือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสูงถึง 26.8% ซึ่งที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กรบอกว่าการเปลี่ยนงานของพนักงานในกลุ่มธุรกิจนี้ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เนื่องจากการเปลี่ยนทีมงานบ่อยทำให้คุณภาพงานของบริษัทในกลุ่มไม่คงที่
ขณะเดียวกันพฤกษา เรียลเอสเตทก็สร้างปาฏิหารย์ ให้เกิดขึ้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะสามารถทำกำไรรวมกว่า 2,000 ล้านบาทและเติบโตแบบก้าวกระโดดก้าวขึ้นแท่นที่ 2 ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ผลสำเร็จมาจากทีมงานที่มีประสิทธิภาพ
บันได 4 ขั้นสร้างคนสู่ความสำเร็จ
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลักษณะธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นงานที่ค่อนข้างหินเพราะต้องหาบาทสลึงแรกใหม่ทุกปี ดังนั้นต้องรักษาพนักงานให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นตามด้วย
มีหลายคำถามเกิดขึ้นว่าเหตุใดระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความผันผวนในวงการอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถทำอะไรพฤกษาฯได้เลย
เหตุผลคือ โอกาสที่วัฏจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สั้นลงนั้น บริษัทจึงใช้ช่องนี้ปรับตัวให้เร็วมากขึ้น โดยคิดว่าต้องเร็วกว่าสิ่งที่ผู้บริโภครู้ นำสู่ความสำเร็จก่อนคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยทีมเวิร์กทั้งสิ้น
สิ่งที่ทำให้องค์กรทำรายได้ติดต่อกันเป็นประวัติการณ์ของพฤกษาฯนั้น คือ 1.โครงสร้างธุรกิจ การบริหารที่มีวิสัยทัศน์ 2.การสร้างมูลค่าในธุรกิจสิ่งสำคัญคือหาดีเอ็นเอในตัวคน สร้างทัศนคติที่มุ่งมั่นที่จะทำความสำเร็จให้องค์กร 3. เมื่อเป็นสตาร์ในวงการแล้ว ต้องมีแม่เหล็กที่จะดึงดูดคนเพื่อที่จะมาต่อยอดได้ และ4. การส่งเสริมทีมงานให้ทำงานอย่างมีความสุขบนเป้าหมายที่ท้าทาย
หารากองค์กร ตรวจดีเอ็นเอคน
บันไดขั้นแรกต้องเริ่มจากรากเหง้า เนื่องจากพฤกษาฯมีความต่างจากรายอื่น เพราะขยันมากกว่า ทำงานมากกว่า 3 เท่า เนื่องจากเป็นทั้งคนขายบ้าน คอนแทคเตอร์ และมีโรงงานผลิตวัสดุเป็นของตนเอง การวางโครงสร้างวิสัยทัศน์จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ต้องทำความเข้าใจและวางโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายเริ่มที่งานบริหารต้องมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจ และเป้าหมายธุรกิจที่ชัดเจน คือเป็นจุดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ
ขั้นที่ 2 ระหว่างที่บริษัทกำลังจะเดินไปสู่ความสำเร็จจะทำอย่างไรให้พนักงานกว่าพันคนมีทัศนคติที่ดีกับงาน สามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนออกมาเพื่อส่งมอบงานที่ดีให้ลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการจัดการ เพราะเชื่อว่าไอทีเป็นตัวช่วยที่ดี นอกเหนือจากการบริหารจัดการด้านจิตวิทยา
"บริษัทมีระบบที่จะเข้าถึงลูกค้า และทำให้พนักงานในการดูแลสามารถรู้ความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที ผู้บริหารจะรู้ได้โดยไม่ต้องถามว่าพนักงานแต่ละคนดูแลลูกค้าคนไหน มีงานอะไรบ้างในความรับผิดชอบ"
นี่เองที่ทำให้ทุกอณูองคาพยพของคนพันกว่าทำงานอย่างรู้หน้าที่ และมีกระดิ่งเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าต้องทำอะไร ติดต่อกับใคร เมื่อไหร่?
ประเสริฐ บอกว่า ต้องทำขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวกับพนักงานระดับล่างก่อนหากทำได้จะส่งผลดีกับการบริหารงานระดับบน ดังนั้นการจัดการไอทีควบคู่คนทำให้บริษัทไม่ต้องจ้างคนจำนวนมากเกินความจำเป็น เพราะเน้นเพิ่มศักยภาพคนเพื่อสร้างผลงานให้บริษัท
HR จะต้องเข้าใจจุดนี้ และหาทางพัฒนาการทำงานของตนเอง ปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนคู่คิดกับฝ่ายบริหาร ทีมงานขาย และฝ่ายการตลาดได้ เพื่อพัฒนางานและคนทำงานให้ได้โดยไม่ต้องเพิ่มคน ไม่ต้องเพิ่มแรงงาน ไม่ต้องเพิ่มเทคโนโลยี ไม่ต้องเพิ่มโอที ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤกษาประสบความสำเร็จ
"ทีมงานทั้งหมดได้เฮ มีความสุขกับการทำงาน และรู้สึกว่าอยากจะทำงานอีกเพราะว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันนั้นคือการทำงานของคนทุกคนบนกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจที่วางไว้ร่วมกัน เพื่อที่จะส่งผลงานที่ดีให้กับบริษัท พยายามใช้คนที่เรามีอยู่ และใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด และส่งผลงานให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อมั่นในทีมงานว่าเขามีความสามารถหากเราช่วยเขาในเรื่องระบบต่างๆ และทักษะบางอย่าง เขาทำงานให้เราได้อยู่แล้ว ต้องเชื่อมั่น และแววตาต้องไม่ตก"
หากมีเป้าหมายที่ท้าทาย หัวหน้าก็ต้องแน่วแน่ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้เกิดในใจลูกน้องให้ได้ ทีมงานบริหารหัวโต๊ะต้องมุ่งมั่นให้พนักงานระดับกลางและล่างเห็น พร้อมกับชี้แนวทางที่จะเดิน ถ้าประสบความสำเร็จครั้งแรกแล้ว การสร้างปรากฏการณ์ครั้งที่สองหรือสามก็ง่ายดาย นี่คือปรัชญาในการทำงานของคนสร้างบ้านแบบพฤกษา
สร้างความคิดเชิงบวก ส่งผลบวกกำลังสอง
ประเสริฐ บอกอีกว่า การถ่ายทอดทัศนคติเชิงบวกให้พนักงาน “Passion to be” ซึ่งเป็น Core Competency หรือดีเอ็นเอของคนที่จะมาทำงาน นอกจากจะมองโลกในแง่ดีแล้วต้องวิ่งให้ทันคนสร้างบ้านคนอื่นด้วย
"คนที่ทำงานเรื่อยๆ จะทำงานกับพฤษาลำบาก เพราะถ้าวิ่งไม่ทันก็จะโดนคนอื่นลากไป แต่ถ้าพนักงานคนอื่นลากไม่ไหว บริษัทก็ต้องหาคนอื่นมาแทน"
วิธีที่จะทำให้พนักงานเกิดทัศนคติที่ดีต่องาน และกระหายความสำเร็จ ต้องได้รับแรงหนุนจากผู้บริหารให้โอกาสพนักงานระดับล่างเสนอไอเดีย และนำเสนองบประมาณ ตลอดจนวิธีการเสนอโครงการ ซึ่งอาจจะผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่กระตุ้นให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะทำ ในบางโครงการอาจต้องใช้งบประมาณมาก บริษัทก็สนับสนุน โดยมองว่ามันเป็นการลงทุน เมื่อผู้บริหารมองในแง่บวก พนักงานก็จะฮึกเหิมในการคิดสิ่งใหม่ๆ เพื่อทำสิ่งที่อาจเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
"สิ่งที่สื่อสารกับลูกน้องแต่ละคำจะต้องเป็นมุมมองเชิงบวก On the job positive thinking ทำได้ และเรามีหน้าที่และกลยุทธ์ไอเดียที่จะไปถึงได้แม้ตลาดจะไม่ดี เราจะไม่พูดเด็ดขาดว่าแย่แล้วๆ แต่เราจะคิดถึงการปรับตัว เพราะถ้าหากเราไม่ปรับเราก็จะพูดคำนั้นออกมาจริงๆ"
ทั้งนี้ HR ต้องกล้าทักหากผู้บริหารคิดหรือพูดอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ ทักให้เสียงเบาลง แต่ต้องมีเทคนิค พูดคุยในบรรยากาศสบายๆ เราต้องจัดการทั้งเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานเราต้องทำให้ได้เพื่อให้เกิดบรรยากาศและทัศนคติที่ดีในการทำงาน
ความสำเร็จของทีมงานหรือของบริษัท จะไม่ให้พนักงานรู้จากหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะพวกเขาต้องรู้จากปากผู้บริหารก่อนลำดับแรก โดยใช้สื่อภายในบอกให้พนักงานรู้ก่อนเสมอ เพื่อให้เขาภูมิใจในความสำเร็จ ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ หรือบางโอกาสก็บอกล่วงหน้าประมาณกลางโปรเจ็กต์ เพื่อเร้าพลังงานในตัวเขาออกมา ซึ่งเป็นจุดเล็กจุดน้อยที่ไม่ควรมองข้าม
สร้างแรงดึงดูด สู่เป้าหมายที่ท้าทาย
บันไดที่ 3 จะเกิดหลังจากที่องค์กรเป็นสตาร์ในวงการ จะต้องดึงดูดคนเพื่อที่จะมาต่อตัวกับโมเดลที่วางรากไว้แล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน
การสร้างแรงดึงดูดให้พนักงานจากพื้นฐานของธุรกิจ แม่เหล็กของบริษัทเราจะสร้างจากพื้นฐานธุรกิจ ซึ่งในวันนี้สามารถการันตีได้ว่าพฤกษาฯเป็นบริษัทที่น่าร่วมงานด้วย
รูปแบบการสร้างทีมงานของพฤกษาเป็นแบบกบในกะลาหงาย เท้าเราเหยียบกะลาและตาเรามองฟ้า เพราะการหาคนเก่งมาเสริมทีมงานต้องมีเครือข่ายภายนอกด้วย เรียกว่า Business partner โดยใช้บริษัทโฆษณา ประชาสัมพันธ์ จากภายนอก เพราะต้องยอมรับว่าในบางเรื่องบริษัทไม่มีความรู้ และไม่สามารถเรียนรู้และทำงานทุกอย่างได้ทัน ดังนั้นต้องหาผู้ชำนาญ เพื่อที่จะโตเร็วกว่าคนอื่นและสร้างสิ่งใหม่ให้บริษัท
"ดึงจุดแข็งเหล่านี้มาไว้ในบริษัท และพนักงาน เขาก็จะมีความสุขทีได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก การทำแบบนี้จึงเป็นการเทรนนิ่งแบบลัดที่ดี นอกจากนี้ยังเน้นที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ สร้างเครือขายกับภายนอก ทำให้เราพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ลดความผิดพลาดของทีมงานและความเสียหายของบริษัท"
บันไดขั้นที่ 4 สุดท้ายเป็นการส่งเสริมศักยภาพพนักงานให้ทำงานอย่างมีความสุขบนเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งพฤกษาให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงานเท่าๆ กับใส่ใจในความสำเร็จ บริษัทไม่ต้องการให้พนักงานแบกความเครียดเพื่อที่จะทำยอดขายสูงๆ แต่ต้องสร้างให้เกิดความเครียดในระดับหนึ่ง
"อาจจะพูดง่ายแต่ทำยาก การสร้างความรู้สึกความสำเร็จร่วมกันระหว่างพนักงานและบริษัท ทำให้รู้สึกว่าบริษัทได้เงิน เขาก็ได้เงินด้วย สิ่งที่บริษัทมีคือ การให้ การล่อ การซื้อใจ โดยการให้ในสิ่งที่เกินคาดหมายกับพนักงาน เป็นของขวัญตอบแทนความมุ่งมั่น เช่น เซอร์ไพรส์พนักงานโดยพาไปเที่ยวต่างประเทศ"
ประเสริฐ ฝากข้อคิดให้ผู้บริหารไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ในจำนวนเงินเหรียญบาทหนึ่งเหรียญมีค่าต่างกัน ถ้าในธุรกิจเงินบาทเดียวเล็กมากหรือไม่มีค่าเลยสำหรับผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ตรงกันข้ามหากผู้ใหญ่นั้นบอกว่าถ้าพนักงานทำอย่างนี้แล้วจะให้เงินหนึ่งบาท สำหรับพวกเขามันใหญ่มากมีค่ามาก"
ความผูกพันสร้างได้เช่นนี้เอง...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|