|
ธปท.แจงลดดบ.รั้งค่าบาทไม่อยู่ อ้างแข็งตามภูมิภาค-ดอลล์อ่อน
ผู้จัดการรายวัน(30 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติออกรายงานชี้แจงหลังบาทแข็งรั้งไม่อยู่ โบ้ยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ประสบผลเท่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ ระบุเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจและความเสี่ยง รวมทั้งการเก็งกำไรอัตรา แลกเปลี่ยน และค่าเงินในภูมิภาค
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่า ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเมษายน 2550 ได้ออกบทความเรื่อง"ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ออัตราแลกเปลี่ยน” โดยระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในขณะนี้ ความกังวลดังกล่าวได้นำไปสู่การนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานได้กล่าวถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ผ่านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนบางส่วนไหลออกไปต่างประเทศเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีกว่าและเมื่อเงินทุนไหลออกไปก็จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ทั้งนี้ บทความของธปท.ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้องส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุน และ 2.การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีเงินทุนเคลื่อนย้ายจะหาผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระยะที่ผ่านมา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลเพียงบางส่วนต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนยกตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากค่าเฉลี่ย 0.20% ในปี 2546 เป็น –0.56% ในปี 2548 ตามวัฏจักรดอกเบี้ยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 1 วัน แต่ส่วนต่างที่ลดลงไม่ได้ทำให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น แต่กลับทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น 0.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ในปี 2546 และในปี 2548 มีเงินทุนไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งบ่งชี้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนให้ความสนใจ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็คือ ความเชื่อมั่นและความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากการที่นักลงทุนต่างประเทศโยกย้ายการถือครองสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ กลับไปถือครองสินทรัพย์ในตลาดหลัก ทั้งๆ ที่ส่วนต่างของระหว่าง 2 ตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือเรียกว่า Emerging Market Risk Aversion ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2549 และต้นปี 2550 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการคาดการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะนอกจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยแล้วการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินก็มีส่วนกำหนดอัตราผลตอบแทนการลงทุนด้วย ดังนั้น หากนักลงทุนคาดว่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งจะแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีหรือแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงิน
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่นกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สรัฐ ซึ่งเป็นผลเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรับลดลงและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทยตั้งเดือนสิงหาคม 2549 เป็นต้นมา
โดยในปี 2549 มีเงินทุนไหลเข้าในระดับที่สูง โดยเฉพาะการลงทุนในตราสาร ในช่วง 11 เดือนของปีที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าทั้งสิ้น 5.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.แต่หลังจากธปท.ออกมาตรการให้ดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้น เมื่อ 18 ธ.ค.2549 ทำให้ช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค. 2550 มีเงินไหลออกรวม 0.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะทีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สรอ.และดัชนีค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น 0.6% และ 1.8% ตามลำดับ ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดรวม 2.8 พันล้านดอลลาร์สรอ.ที่สร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทั้งที่มีเงินทุนไหลออก
จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง อย่างเช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% ในเดือนก.ค.2544 เป็น 1.25% ในเดือนก.ค.2546 อัตราแลกเปลี่ยนกลับแข็งค่าขึ้นจาก 45.62 บาทต่อดอลลาร์สรอ. เป็น 41.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดแรงกดดันทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ประสบผลเท่าที่คาดการณ์ไว้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|