|
ขุนคลังเกาไม่ถูกที่คัน-ศก.ไร้อนาคต
ผู้จัดการรายวัน(30 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เกาเหลาลามหน่วยงานรัฐ เศรษฐกิจไทยไร้อนาคต เผย สศค.เตรียมนำมาตรการพยุงเศรษฐกิจแถลงต่อ สนช. 15 พ.ค. แต่ คศร.ไม่ให้ความสำคัญ อ้างแต่ละกระทรวงทำอยู่แล้ว คนคลังสอน "ฉลองภพ" ใช้นโยบายการเงินด้วยการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย-เลิกมาตรการ 30% แทนมุ่งแต่ให้แบงก์เฉพาะกิจปล่อยกู้ ทั้งๆ ที่ไม่มีโครงการใหม่ จับตาอัตราการว่างงานพุ่ง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการมาตรการบรรเทาผลกระทบของการชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ไปแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการแถลงผลงานของรัฐบาล วันที่ 15 พฤษภาคมนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่ สศค. จัดทำดังกล่าว ได้เคยนำไปเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม (คศร.) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ในกรอบกว้างๆ แล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากที่ประชุมมองว่า เป็นสิ่งที่กระทรวงต่างๆ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการจ้างงานต่างๆ เช่น โครงการการจ้างงานเพื่อปลูกป่าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอง ก็ต้องการเน้นที่มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจรากหญ้า โดยผ่านกระบวนการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐก่อน ซึ่งได้สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ไปคิดโครงการใหม่ๆ มาเสนอในการประชุมวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ แต่ดูเหมือนสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะไม่ได้มีโครงการใหม่ๆ มาเสนอมากนัก และไม่ได้เพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่
"มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอคงไม่โดนใจเอกชนนัก ถ้าจะให้โดนใจคงต้องใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คือการลดดอกเบี้ยลงอีก และการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์นั้น ทางผู้บริหารกระทรวงการคลังไม่ค่อยเห็นด้วย รวมถึงภาคเอกชนที่เป็นสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์เอง ก็ระบุว่า ไม่ค่อยมีผลมากนัก อย่างไรก็ดี เอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้ใช้มาตรการทางภาษีในการกระตุ้นบ้านมือสองมากกว่า
สำหรับมาตรการบรรเทาผลกระทบของการชะลอการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่มีอัตราการเพิ่มของรายจ่ายมากกว่ารายได้ 2.มาตรการบรรเทาปัญหาการบริโภคสินค้าคงทนที่ชะลอตัว3.มาตรการบรรเทาปัญหาการลงทุนที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้าง และเครื่องจักรการผลิต 4.มาตรการบรรเทาปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลง และ 5.มาตรการบรรเทาปัญหาการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่ลงไปสู่ภาคเศรษฐกิจ และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะดำเนินการอย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดผลในการพยุงไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป รัฐบาลอาจจะนำไปเสนอต่อ สนช. เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมแถลงผลงานต่อ สนช. โดยรูปแบบที่จะแถลง ประกอบด้วยผลการดำเนินงานในโครงการที่ได้ปรับปรุงจากรัฐบาลชุดก่อน ผลการดำเนินงานในโครงการที่คิดขึ้นใหม่ และแนวทางการดำเนินงานในระยะ 6 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้แสดงความกังวลว่า หากเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่ถึง 4% จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ โดยเฉพาะแรงงานจบใหม่ที่มีประมาณปีละ 7 แสนคน อาจจะได้รับการจ้างงานไม่เต็มจำนวน ซึ่งคาดหวังว่า การออกมาตรการของ สศค. แบบเป็นแพ็กเกจจะช่วยรับมือไม่ให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นได้ หากนำมาใช้อย่างทันเวลา
"สศค. กำลังพยายามทำแพ็กเกจอยู่ เราเห็นสัญญาณว่า จะมีผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน ส่วนจะรับมือได้แค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่จะออกมา ซึ่งจะช่วยได้"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|