Dr. B.R. Ambedkar บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันคล้ายวันเกิด ของ Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar แม้จะไม่ถือเป็นวันหยุดแห่งชาติของอินเดียเช่นวันเกิดของมหาตมะ คานธี แต่รัฐบาลท้องถิ่นหลายรัฐประกาศให้เป็นวันหยุดทางการ เพื่อร่วมรำลึกถึงบุรุษผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของอินเดีย ทั้งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนจัณฑาลและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูเป็นพุทธของชาวจัณฑาลในครั้งเดียวร่วมห้าแสนคน

ดร.อัมเบดการ์เองเป็นชาวจัณฑาล เดิมชื่อ Bhim เกิดเมื่อปี 1891 ในครอบครัว สกุล "Mahars" ซึ่งในระบบ วรรณะของชาวอินเดีย ศาสนา ฮินดูถือว่าเป็นชนนอกวรรณะ เป็นที่รังเกียจเหยียดหยามจากคนวรรณะทั้งสี่ ในที่นี้ขอใช้คำว่าชาวดาลิต (Dalit) ซึ่งปัจจุบันเป็นคำที่ใช้แพร่หลายและไม่มีนัยดูหมิ่น

แม้ครอบครัวจะยากจน แต่ "รามจี" พ่อของเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือ และภิมเองก็เป็นเด็กหัวดี หลังภิมจบชั้นประถมจาก โรงเรียนในเมืองรัตนคีรี พ่อถึงกับย้ายครอบครัว ไปอยู่บอมเบย์ ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อส่งภิมเข้าเรียนที่ Elphinstone High School หนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดของอินเดียสมัยนั้น

ในวัยเด็ก ภิมผ่านประสบการณ์การดูถูกเหยียดหยามในความเป็นดาลิตนับครั้งไม่ถ้วน ในชั้นประถมเขาต้องนั่งเรียนบนเสื่ออยู่ที่มุมห้อง แยกจากเพื่อนๆ ที่นั่งโต๊ะ ต้องทนหิวน้ำอยู่ตลอดทั้งวันเพราะไม่สามารถดื่มน้ำจากก๊อกเดียวกับเด็กคนอื่นๆ เวลาตัดผมต้องให้พี่สาวเป็นคนตัดเพราะไม่มีช่างตัดผมคนไหนยอมลดชั้นมาถูกตัวเด็กดาลิต แม้ในโรงเรียนเอลฟินสโตนที่เด็กส่วนใหญ่เป็นลูกผู้ดีมีการศึกษา ครั้งหนึ่งเมื่อครูเรียกให้ภิมไปบวกเลขที่หน้าชั้น เด็กทั้งห้องพากันประท้วงเพราะต่างเก็บกล่องข้าวไว้ที่หลังกระดานดำ และกลัวว่าถ้าภิมแตะกระดานดำข้าวกลางวันของพวกเขา จะพลอยติดเสนียดดาลิต

หลังจบชั้นมัธยม ภิมได้รับความเมตตา จากมหาราชาแห่งบาโรดา ที่เห็นแววทางการศึกษาของเขา สนับสนุนให้ทุนจนเรียนจบชั้นปริญญาตรี และให้เข้ารับราชการที่เมืองบาโรดา หลังทำงานได้เพียงปีเดียว ในปี 1913 ภิม หรือ "ภิมราว" ชื่อที่ใช้เรียกกันในบาโรดา ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกาในสาขาเศรษฐศาสตร์และสังคม วิทยา จนสำเร็จปริญญาโทและ เอก หลังจบภิมราวตัดสินใจ ย้ายไปทำปริญญาเอกเพิ่มที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเข้าเรียนที่ London School of Economics อันมีชื่อ แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็ต้องเดินทางกลับอินเดีย เนื่องจากหมดช่วงทุนการศึกษา

แม้จะกลับมารับราชการพร้อมด้วยดีกรีดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อ แต่ฝันร้ายของความเป็นดาลิตยังคงตามติดมาเหมือนเงา ในที่ทำงานเพื่อนร่วมงาน เสมียน กระทั่งภารโรง ไม่มีใครยอมยื่นเอกสารให้เขาด้วยมือ และทุกวันเขาต้องทนหิวน้ำไม่ต่างจากสมัยอยู่โรงเรียนประถม ซ้ำร้ายไม่มีโรงแรมหรือห้องเช่าใดในเมืองยอมให้เขาเข้าพัก จนที่สุดเขาต้องยอมโกหกเรื่องสกุลของตนเพื่อจะได้อยู่ในห้องเช่าซอมซ่อแห่งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 11 วัน นักเลงฮินดูกลุ่มใหญ่ที่รู้ความจริงก็บุกเข้าทำร้าย และไล่เขาออกจากที่พัก

อัมเบดการ์จึงตัดสินใจย้ายกลับไปบอมเบย์ และได้งานสอนหนังสือที่วิทยาลัย Sydenham ทั้งร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ภาษามาราธีชื่อ "Mook Nayak" (ผู้นำคนใบ้) เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนดาลิต

ในปี 1920 ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ อัมเบดการ์กลับไปศึกษาต่อที่ LSE จนจบปริญญาเอก พร้อมกับเรียนกฎหมายที่ Gray's Inn เมื่อเดินทางกลับอินเดีย อัมเบดการ์ ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะทำงานเพื่อยกระดับชีวิต และการศึกษาของชาวดาลิต

เวลาเดียวกันนั้น เมืองบอมเบย์ได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้บ่อและแท็งก์น้ำสาธารณะได้เท่าเทียม กัน แต่สี่ปีผ่านไปก็ยังไม่มีดาลิตคนไหนกล้าไปใช้น้ำจากบ่อของคนวรรณะอื่น อัมเบดการ์ต้องการทำลายม่านประเพณีอันคร่ำครึนี้ จึงนำขบวนชาวดาลิตนับพันไปดื่มน้ำจากแท็งก์สาธารณะที่ตลาดโชว์ดาร์ ต่อมาเขาชักชวนให้ชาวดาลิตถือสัตยาเคราะห์ ปฏิบัติการขัดขืนโดยอหิงสาเพื่อทวงคืนสิทธิการเข้าวัดของชาวฮินดูที่เมืองนาสิก แม้จะถูกต่อต้านโดยคนวรรณะสูงด้วยวิธีการอันป่าเถื่อน แต่ขบวนของอัมเบดการ์ก็ยืนหยัดในสันติวิธี ตั้งแถวดื้อแพ่งอยู่หน้าวัด จนทำให้วัดแห่งนั้นต้องปิดอยู่นานกว่าหนึ่งปี

ระหว่างปี 1930-1932 เมื่อรัฐบาลอังกฤษจัดให้มีการประชุมโต๊ะกลมขึ้นที่ลอนดอน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลอินเดีย ดร.อัมเบดการ์เป็นผู้แทนของชนชั้นล่าง (The Depressed Class) เข้าร่วมการประชุม และเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งแบบแยกลงเสียง ให้ชาวดาลิตและชนชั้นล่างอื่นๆ ลงเสียงเลือกผู้แทนของตนเอง ด้วยมองว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประกันสิทธิและเสียงของชนชั้นล่างอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาลอังกฤษก็มีมติเห็นชอบตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

แต่มหาตมะ คานธี ซึ่งเข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนพรรคคองเกรสไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าระบบดังกล่าวจะแยกสังคม ชาวฮินดูออกจากกัน จึงประกาศอดอาหารประท้วง ผู้นำพรรคคองเกรสจึงพากันไปขอร้องอัมเบดการ์ให้ถอนข้อเรียกร้องดังกล่าวทีแรกเขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ในเมื่อชาวคริสต์ มุสลิม และซิกข์ได้รับสิทธิแยกลงเสียง ทำไมชนชั้นล่างอื่นๆ จึงจะไม่ได้รับสิทธิเดียวกันนี้

แต่ที่สุด อัมเบดการ์ต้องยอมอ่อนข้อเพื่อเห็นแก่ชีวิตคานธี โดยทำสัญญาที่เมืองปูนาถอนข้อเรียกร้องดังกล่าว ด้วยเงื่อนไขว่าชนชั้นล่างจะต้องมีตัวแทนเพิ่มขึ้นในระบบบริหารราชการของรัฐ ซึ่งต่อมาเห็นได้ชัดว่าพรรคคองเกรสไม่ได้ทำให้สัญญานั้นเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ในปี 1935 ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของ วิทยาลัยกฎหมายของบอมเบย์ ดร.อัมเบดการ์กล่าววาทะสำคัญ ที่เป็นนัยถึงหนทางที่เขาเลือกในอนาคตว่า "ข้าพเจ้าเกิดเป็นฮินดู แต่จะไม่ขอตายในฐานะฮินดู"

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 ดร.อัมเบดการ์ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกฎหมาย และเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวในการ ปกครองประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ตลอดช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย ดร.อัมเบดการ์มีความเห็นขัดแย้งกับ มหาตมะ คานธีหลายครั้งในกรณีที่เกี่ยวกับระบบ วรรณะ เขาเห็นว่าควรยกเลิกเพราะขัดต่อสิทธิ ขั้นพื้นฐานของประชาชนและเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าของสังคมโดยรวม ขณะที่คานธีมองว่า ปัญหาการกดขี่นั้นแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนะของคนวรรณะสูง แต่อัมเบดการ์แย้งว่ามุมมอง เช่นนั้นเป็นแค่การรักษาอาการไม่ใช่การรักษา โรคที่แท้จริง ทั้งกล่าวโต้ไว้อย่างคมคายว่า

"ที่ผ่านมาอินเดียมีมหาตมะ (ผู้มีจิตประเสริฐ) เกิดมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งล้วนปรารถนาจะปลดแอกระบบชนชั้น แต่ต่างก็ล้มเหลว มหาตมะเกิดมา มหาตมะจากไป แต่ดาลิตผู้ถูกกดขี่ก็ยังคงเป็นดาลิต"

ด้วยสายตาที่กว้างไกลของนักกฎหมาย ผู้เป็นทั้งนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักปฏิบัตินิยม รัฐธรรมนูญที่ ดร.อัมเบดการ์นำเสนอต่อรัฐสภา และได้รับมติประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญของอินเดีย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1948 แสดงชัดในเจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร ที่จะประกันสิทธิอันเสมอภาคของประชาชนที่ไม่อาจลิดรอนหรือเลือกปฏิบัติด้วย เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นชน และเพศ ขณะเดียวกัน ก็มีการประกันสิทธิแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ด้วยระบบสำรองที่นั่งในระบบการบริหารประเทศ ตลอดจนสถานศึกษา สำหรับคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม ด้อยโอกาสทางชนชั้น (Scheduled Castes) และทางกลุ่มชาติพันธุ์ (Schedule Tribes)

หลังลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ในปี 1951 ดร.อัมเบดการ์ใช้เวลาห้าปีในการวางแผนการต่อสู้เพื่อปลดแอกชาวดาลิตขั้นสุดท้าย และในปี 1956 ขณะที่พุทธศาสนิกชน ทั่วโลกเตรียมการฉลองกึ่งพุทธกาล ดร.อัมเบด การ์เลือกวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งถือกันว่าเป็นวันที่ อโศกมหาราชประกาศตนเป็นพุทธมามกะ นำชาวดาลิตจำนวนห้าแสนคน ประกาศละทิ้งศาสนาฮินดูและเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ที่เมืองนาคปุระ รัฐมหาราชตะ

เพียงเจ็ดสัปดาห์หลังจากนั้น ดร.อัมเบด การ์ถึงแก่กรรมจากอาการป่วยเรื้อรัง และจากไปในขณะหลับ

หากศึกษาชีวิตของ ดร.อัมเบดการ์อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเขาสนใจศึกษาศาสนาเปรียบเทียบมาตั้งแต่ครั้งจบปริญญาตรี ทั้งในการประกาศตนที่จะไม่ขอตายไปเยี่ยงฮินดูเมื่อปี 1935 นั้น เขามีศาสนาที่เลือกในใจไว้แล้ว แต่ที่ยังไม่ประกาศในเวลานั้น เพราะเห็นว่าจำเป็นต้องทำภารกิจการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียให้ลุล่วงก่อน และไม่ต้องการให้เรื่องศาสนากลายเป็นชนวนขัดแย้งกับแนวร่วมคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

ส่วนเหตุผลที่เลือกพุทธศาสนานั้น เห็น ได้ชัดว่าเพราะเป็นศาสนาแห่งความเสมอภาค ทั้งมุ่งสอนให้ฝึกปฏิบัติขัดเกลาตนเอง โดยไม่พึ่งชะตาฟ้าลิขิตหรือพระผู้ไถ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดร.อัมเบดการ์ย้ำบอกชาวดาลิตเสมอว่า อย่าบูชาวีรบุรุษอย่าเชื่องมงาย อิสรภาพและชีวิตที่ดีกว่าจะเกิดได้ด้วย

"การยืนหยัดขัดขืน การศึกษา การรวมกลุ่ม และศรัทธาในตนเองเท่านั้น"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.