|

บ้านที่อวดโครงสร้างได้ไม่อายใคร
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ขณะพาแขกผู้มาเยือนเดินไปบนสะพานคนเดินข้ามความยาว 80 ฟุต ที่ตัวสถาปนิก Juan Miro เป็นผู้ออกแบบเอง เพื่อนำไปยังบ้านพักรับรองริมทะเลสาบใน Austin มลรัฐเทกซัส ตัวเขาต้องหยุดเดินเมื่อเห็นกอกกเติบโตพุ่งเสียดขึ้นจากป่าชายเลนของทะเลสาบตรงบริเวณใกล้ๆ กับเสาตอม่อของสะพาน กอกกเหล่านั้นลอดผ่านช่องเล็กๆ ของพื้นสะพาน แล้วโผล่ขึ้นมาอวดโฉมอย่างสง่างาม
"โอ! วิเศษ!" Miro อุทานแล้วเดินตรงรี่ไปยังกอกกที่โผล่พ้นพื้นสะพานขึ้นมาอย่างตื่นเต้นลิงโลดใจ "ผมเฝ้ารอด้วยความหวังว่ากอกกจะโผล่ขึ้นมาอย่างนี้จริงๆ"
การที่สถาปนิกอย่าง Miro มีทัศนคติอ่อนโยนต่อเรื่องที่ผู้คนมากมายพากันคิดว่าเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น สะท้อนถึงกรอบความเชื่อในขอบข่าย ที่กว้างขึ้นของเขาว่า บ้านควรกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ส่งผลให้เขาออกแบบสะพานซึ่งเมื่อมองจากระยะไกลแล้วแลดูเสมือนหนึ่งว่าเป็น สะพานที่สร้างขึ้นมาโดยใช้วัตถุดิบคือต้นกกที่ขึ้นในน้ำเบื้องล่าง
ความกลมกลืนที่ว่านี้เองที่เป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผู้พบเห็นต้องลองก้าวเดินและย่างเหยียบไปบนพื้นสะพานเพียงเพื่อจะพบกับคำตอบที่กระจ่างแจ้งแก่ตัวเองว่า จริงๆ แล้ว ทั้งพื้นและราวสะพานนี้สร้างและประกอบขึ้นจากท่อนเหล็กที่ปล่อยให้ขึ้นสนิมจนมีสีสันสวยงาม แล้วนำมาตัดและประกอบกันเป็นส่วนของพื้นสะพาน ในส่วนของราวสะพาน ก็ตัดให้มีความยาวขนาดต่างๆ กัน (โปรดดูภาพประกอบ)
เสียงฝีเท้าของ Miro ทำให้นกกระยางขาวที่ยืนนิ่งเหมือนรูปปั้น ตื่นตกใจพร้อมกับกระพือปีกกว้างของมันบินหนีจากไปอย่างเงียบๆ เพื่อหามุมสงบแห่งใหม่ในทะเลสาบสำหรับพักเหนื่อยต่อไป
สถาปนิก "หัวใจสีเขียว" ผู้นี้ยังให้ข้อมูลน่าทึ่งอีกว่า ดงหญ้าสูงท่วมศีรษะที่เห็นขึ้นรายล้อมอาณาบริเวณบ้านกลายเป็นแหล่งพำนัก ของกวางพเนจรที่ชอบมาอาศัยหลับนอนยามเมื่อตะวันลับฟ้าไปแล้ว
ลุ่มน้ำในทะเลสาบแห่งนี้ยังเป็นแหล่งหยุดพักของบรรดาฝูงนกกระเรียนและหงส์ที่อพยพหนีหนาวลงซีกโลกใต้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ณ ที่แห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง Austin ออกไปเพียงไม่กี่ไมล์ก็สามารถกลายเป็นจุดที่สถาปนิกและธรรมชาติหาความลงตัวและผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนจนแทบไม่น่าเชื่อ
บ้านพักรับรองสูง 3 ชั้นขนาด 3 ห้องนอนนี้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในผืนน้ำซึ่งด้านหนึ่งเป็นตัวทะเลสาบที่มีทางออกสู่ทะเล และอีกด้านหนึ่งเป็นทะเลสาบ Lake Austin จริงๆ แล้ว Lake Austin เป็นอ่างเก็บน้ำที่ต่อเนื่องมาจากแม่น้ำ Colorado ซึ่งไหลจากใจกลางเมืองลงสู่ Hill Country ทางทิศตะวันตกนั่นเอง
บ้านพักรับรองนี้เป็นโครงการที่ออกแบบและสร้างจนแล้วเสร็จก่อนโครงการบ้านพักอาศัยหลังใหญ่ การนำเสนอในบทความนี้จึงทำได้เฉพาะในส่วนของบ้านพักรับรอง โดย Miro รับผิดชอบร่วมกับหุ้นส่วนและเพื่อนสถาปนิก Miguel Rivera โดยลูกค้าให้ขอบข่ายงานกว้างๆ แก่พวกเขาว่า ต้องการบ้านที่มีหน้าต่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพวกเขาแวดล้อมอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามน่าอภิรมย์
Miro เล่าถึงการตอบสนองของเขาและหุ้นส่วนว่า "เราจึงออกแบบให้ชั้นสองและสามของบ้านหลังนี้เป็นห้องกระจก แล้วใช้ระบบบานเกล็ดควบคุมอีกทีหนึ่ง ใครก็ตามที่เข้าพักในบ้านหลังนี้ย่อมสามารถใช้งานระบบบานเกล็ดได้ตามใจปรารถนา พวกเขาจะเปิดออกทั้งหมดก็ได้ หรือจะเปิดเฉพาะบางส่วนและ ทิ้งส่วนที่เหลือให้ปิดเอาไว้ก็ได้ เวลากลางคืนพวกเขา จะปิดบานเกล็ดลงมาทั้งหมดก็ไม่ผิดกติกาอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า พวกเขาจะรับรู้ถึงการได้เล่นอะไรสนุกๆ แบบ interactive จากการปรับปริมาณและ คุณภาพของแสงที่สาดส่องเข้ามาในห้องด้วยการควบคุมการทำงานของบานเกล็ดเท่านั้น เคล็ดลับอยู่ที่ว่า การเปิดและปิดบานเกล็ดในเวลาต่างกันของแต่ละวัน และต่างฤดูกาลของแต่ละปีจะก่อให้เกิดปริมาณและคุณภาพของแสงที่ให้ความแปลกใหม่ไม่น่าเบื่อซ้ำซาก แต่เต็มไปด้วยความสนุกน่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ"
แขกที่พักอยู่ในห้องชุดชั้นสองจะเพลิดเพลินกับการนั่งหรือนอนเล่นที่ระเบียง แล้วจิบค็อกเทลพอเลือดฉีด หรือไม่ก็อ่านหนังสือในบรรยากาศสุขสงบและได้เพลินตาพักสายตากับสีเขียวของยอดไม้ที่พลิ้วไหวตามแรงลม ขณะที่แขกซึ่งพักอยู่ในห้องนอนสองห้องบนชั้นสามก็จะได้ดื่มด่ำกับทิวทัศน์แห่งท้องน้ำในทะเลสาบจนช่ำปอดตลอดจนถึงสภาพ แวดล้อมของป่าชายเลนที่อยู่ตรงหน้า และตื่นเต้นกับสัตว์พื้นเมืองชนิดต่างๆ ที่บังเอิญแวะเวียนและโผล่มาให้เห็นในวันนั้น
บริเวณตัวบ้านชั้นล่างออกแบบให้มีหน้าต่างสูงจากพื้นจรดเพดานทั้งในห้องอาหารและห้องนั่งเล่น เพื่อให้สามารถมองออกไปพบกับเทอเรซที่ออกแบบเน้นเรื่องความโค้งเว้าไปตามเส้นแนวของทะเลสาบและป่าชายเลนเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกล้ำธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม (โปรดดูภาพประกอบ)
นอกจากแขกผู้มาพักจะตื่นตะลึงกับสุดยอดแห่งงานออกแบบสะพานคนเดินข้ามดังได้กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ความคิดสร้างสรรค์อันเลอเลิศของสถาปนิกทีมนี้ยังสะท้อนให้เห็นในงานออกแบบเส้นทางสายยาวที่จะนำแขกออกสู่ทางหลวง เพราะในระหว่างการขับรถตลอดเส้นทางนี้ พวกเขาจะได้เห็นภาพประทับอย่างไม่รู้ลืมของงานออกแบบเพื่อโชว์ให้เห็นด้านหน้าของตัวบ้านแบบเต็มๆ ตา นั่นคือ การนำเหล็กแผ่นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดมหึมาจำนวนมหาศาลมาประกอบเป็นตัวบ้าน แล้วเจาะช่องหน้าต่างตามแนวนอนตรงนั้นทีตรงนี้ทีแบบไม่ได้ตั้งใจให้มีรูปแบบแน่นอนตายตัว มองดูแล้วเหมือนหลุมในก้อนเนยแข็ง Swiss cheese ไม่มีผิด (โปรดดูภาพประกอบ)
สถาปนิก "หัวใจสีเขียว" อย่าง Miro มีหุ้นส่วนเป็นเพื่อนชาวสเปนด้วยกันคือ Santiago Calatrava ทั้งคู่ทำกิจการร่วมกันที่สเปน โดย Calatrava ได้ชื่อว่าช่ำชองกับงานออกแบบสะพานโครงสร้างซับซ้อนจนมีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก แต่เมื่อต่างช่วยกันออกแบบสะพานที่มีความเรียบง่ายอย่างเช่นของบ้านหลังนี้เป็นตัวอย่าง ผลงานก็ยังสามารถสะท้อนปรัชญาของวงการสถาปัตยกรรมที่ว่า ความงามต้องเป็นรองโครงสร้างโดยสิ้นเชิง ความงามต้องเป็นองค์ประกอบเข้ามาเสริมโครงสร้างดังที่ Miro ทิ้งท้ายว่า
"เมื่อคุณสร้างบ้านขึ้นมาสักหลังหนึ่ง คุณย่อมสามารถหาวิธีอำพรางโครงสร้างจนได้ แต่สะพานที่คุณสร้างขึ้นมาก็คือ โครงสร้างทั้งหมด คุณไม่มีทางจะหาวิธีอำพรางได้เลย"
ที่แน่ๆ คือ จากผลงานการออกแบบบ้านพักรับรองหลังนี้ คุณสามารถหาวิธีสร้างสะพานหรือบ้านที่นำเอาโครงสร้าง ออกมาอวดสายตาผู้พบเห็นได้อย่างมีศิลปะและน่าอภิรมย์โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจเรื่องการต้องอำพรางโครงสร้างอีกต่อไป
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Architectural Digest/April 2007
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|