คิม จงสถิตย์วัฒนา romantic enterpreneur

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ ที่บูธของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ มี "คิม จงสถิตย์วัฒนา" เป็นแม่งานใหญ่ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง โดยมีตัวบ่งชี้วัดจากยอดขายสำนักพิมพ์ที่สามารถทะลุเกินเป้าที่ตั้งไว้ 16 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนสำคัญมาจากหนังสือชุดการ์ตูนวิทยาศาสตร์แสนสนุก 18 เล่ม ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดตลาดเยาวชน จนสร้างกระแสขายต่อเนื่อง

"โปรเจ็กต์นี้คิมตั้งเป้ายอดขาย 16 ล้าน ซึ่งโตกว่าปีที่แล้ว 20% เป็นตัวเลขเดิมที่ทำไว้ในครั้งที่แล้ว พอเกิดระเบิดปลายปี มาม้าถามว่าจะเปลี่ยนเป้าหรือเปล่า? คิมถามหัวหน้าทีมขาย พี่บีบอกไม่เปลี่ยน มันมีเป้าหมายไปให้ถึง ปรากฏว่าทุกวันขายดีทะลุเป้า แม้ว่าคิมจะโดนต่อว่าจากคนในและนอกบริษัทว่า บูธนานมีบุ๊คส์ไม่มีโลโกเลยก็ตาม" ความรู้สึกผิดของคิมนี้ถูกชดเชยด้วยยอดขายเกินคาด

ตลอดสิบวันจึงเป็นช่วงเวลาทำงานทั้งวันทั้งคืน บนพื้นที่ขาย 8 โซน โดยเฉพาะโซนสุดท้าย "โซนปั่นป่วน" ซึ่ง เป็นความคิดริเริ่มของคิมเอง โดยทำแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 เพื่อลดสต็อกหนังสือเกรดบีที่คงค้างอยู่ ทำให้คิมสนุกกับการขาย การประชุมทีมงานวันละ 2 ครั้ง และสัมผัสกับความต้องการของลูกค้าโดยตรง

เธอทำงานหนักเหมือนพนักงานขายคนหนึ่งในบูธ บางครั้งก็โดนลูกค้าที่หงุดหงิดตวาดอย่างรุนแรงจนแทบร้องไห้ แต่บางครั้งก็มีลูกค้าติดใจชักชวนให้ไป เป็นเซลส์ขายรถ หรือไปทำงานร้านขายทอง โดยสัญญาจะให้เงินเดือนมากกว่าขายหนังสือ

คนที่ชวนคงหารู้ไม่ว่า คิม จงสถิตย์วัฒนา คือทายาทธุรกิจสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในวงการว่าเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ตามหลังรุ่นพี่ อย่าง ระริน อุทกะพันธุ์ แห่งอัมรินทร์ฯ และปานบัว บุนปาน แห่งมติชน ทั้งสาม ต่างมีบุคลิก working women ที่ต่างอารมณ์ความรู้สึกและต่างทักษะสไตล์การ บริหารจัดการ ขณะที่ปัจจัยภายนอกดูเหมือนกันในแง่ความเก่ง รวย และสวย

"คิมเพิ่งมาใหม่ไม่กล้าเทียบกับพี่เย็น (ปานบัว) และพี่แพร (ระริน) ซึ่งเป็นสุดยอดของความเก่ง และมีเงินทุนเยอะ บางครั้งเวลามีหนังสือเด็กดีๆ มา พี่เย็นจะโทรมาบอกให้เอาไปเลย เพราะมติชนไม่จับตลาดเด็ก แต่จะออกแนวผู้ใหญ่และสารคดี สำหรับวรรณกรรมเยาวชน คิมคิดว่าของเราเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าเราจะเป็นสำนักพิมพ์อันดับสาม แต่ยังไม่คิดจะเข้าตลาดหุ้นขณะนี้ เราคิดว่าธุรกิจครอบครัวน่าจะสื่อความต้องการของเราได้ชัดเจนมากที่สุด" คิมเล่าให้ฟัง

23 ปีของคิมเกิดและเติบโตในครอบครัวนักคิดนักกิจกรรมยุค 14 ตุลา 2516 บิดาของเธอคือ พิชิต จงสถิตย์วัฒนา อดีตประธานสมาคมอุตสาหกรรมรองเท้าฯ และมารดาคือ สุวดี อดีตนายกสมาคมหนังสือและภาษาฯ ซึ่งก่อตั้งสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์เมื่อ 15 ปีที่แล้วหลังจากแยกตัวมาจากธุรกิจค้าเครื่องเขียน "นานมี" อันเก่าแก่ของบิดา

ชื่อของ "นานมี" แปลงมาจากคำจีนว่า "หน่ำมุ่ย" แปลว่า "ใต้งาม" ที่ซึ่งตั้งเซ็กซิม (ทองเกษม สุพุทธิพงศ์) อากงของคิมได้เดินทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ และเป็นผู้บุกเบิกร้านเครื่องเขียนเล็กๆ "นานมี" จากห้องแถวคูหาเดียวที่ถนนพาดสาย เยาวราชมาตั้งแต่ปี 2492 จนกระทั่งปัจจุบัน ลูกหลานได้ช่วยกันขยายธุรกิจ เครื่องเขียนและหนังสือ เช่น บริษัท นานมี จำกัด ของศุภชัย สุพุทธิพงศ์ ลูกชายคนโตและบริษัท นานมีบุ๊คส์ของสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ลูกสาวคนสุดท้องนี่เอง

"คิมผูกพันกับอากงมาก ตอนไปเรียนอเมริกา คิมจะเขียนจดหมายถึงอากงด้วยภาษาจีน โดยเปิดดิกฯ เขียนบ้าง เพราะคิมเรียนจีนแค่ปีเดียว แต่เราก็เข้าใจกัน อากงยังเก็บจดหมายของคิมไว้เป็นกล่องๆ เลย พอคิมเรียนจบก็เผอิญทางบ้านบอกว่าอากงป่วย คิมก็รีบกลับบ้านเพราะเป็นห่วงอากงมาก" คิมเล่าให้ฟังหลังเสร็จกิจวัตรเยี่ยมอากงที่โรงพยาบาลช่วงค่ำ

ความกตัญญูของคิมมีพื้นฐานจิตใจที่เปี่ยมเมตตา อ่อนไหว และเรียกร้องตัวเองสูง คิมมีชีวิตในวัยเด็กเป็นเด็กเรียนเก่ง ช่วยแม่หาสมาชิก go genius และติดแสตมป์ส่งหนังสือ และได้รับการศึกษาระดับประถมจากเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ระดับมัธยมจากโรงเรียนนานาชาติ ดัลลิช ที่ภูเก็ต เคยไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แต่สอบไม่ได้ ซึ่งทำให้ซึมเศร้าอยู่บ้างแต่ก็คิดตกว่าโลกนี้กว้างใหญ่ ไม่มีใครเป็นที่หนึ่งได้ทุกคน แค่ขอเป็นตัวเอง ให้ดีที่สุดก็พอ ดังนั้นเธอจึงสามารถใช้เวลาเพียงสามปีครึ่งก็จบปริญญาตรีวิศวอุตสาหการจาก University of Michigan and Arber, สหรัฐอเมริกาได้

"คิมเป็นคนชอบศิลปะ ฟิสิกส์และเลข ตอนแรกก็จะเลือกเรียน industrial design ก็ไปสมัครและไปดูมหาวิทยาลัยแล้ว แต่รู้สึกว่าเราน่าจะเรียนวิศวอุตสาหการที่เรียนแน่นกว่าและมี options มากขึ้น ตอนที่เลือก ปาป๊าก็คุยกันว่า จะวางคิมให้ช่วยปาป๊าทำรองเท้า และวางน้องสาว คือเจน ไปช่วยมาม้าทำหนังสือ" นี่คือเส้นทางอนาคตของคิมที่ต้องเลือก

สามปีครึ่งกับชีวิตที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนฯ คิมทำกิจกรรมเพื่อชีวิตหลายอย่าง เช่น กรรมการฝ่ายสังคม สมาคมนักเรียนไทย, ประชาสัมพันธ์ นิตยสาร "ไช" (Shei) และที่เธอ ภูมิใจมากคือการเข้าไปก่อตั้งชมรมช่วยเหลือสังคมในประเทศโลกที่สาม (World Service Team) ร่วมกับเพื่อน คือ ไมเคิลจากสิงคโปร์ กับลุคและลอเรนเพื่อนชาวอเมริกัน ทั้งสี่ระดมสมาชิกอีก 20 คน เริ่มออกค่ายอาสาที่เมืองอองนัว ประเทศกัมพูชา เป็นแห่งแรก โดยคิมรับผิดชอบระดมหาทุนโดยรณรงค์เก็บขยะไปรีไซเคิล ได้เงินมาหมื่นกว่าเหรียญสหรัฐ พอเป็นค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าก่อสร้างตึกเรียนสองห้อง ทดแทนตึกไม้เก่าๆ โทรมๆ ได้

"เหตุการณ์ที่เขมรนั้นเปลี่ยนมุมมองเรื่องชีวิตของเรา จากที่เคยคิดว่าชีวิตไร้ค่า ซ้ำซาก จำเจ ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร แต่ที่นั่นเราเจอน้องๆ ที่ผ่านเรื่องเลวร้ายถูกเขมรแดงฆ่าตาย เขายังมีความหวังในชีวิต ใช้ชีวิต so simple และมีความสุข แล้วเรามีสิทธิ์อะไรมาทำตัวเป็นนักปรัชญา ถามบ้าๆ บอๆ อยู่นั่น โอเค ตอนนั้นคิมมีพลัง และคิดว่า อยากเป็นครูบ้านนอก หรือไปร่วมกับกลุ่ม empower ที่พัฒน์พงษ์ ตอนนั้นมาม้าก็เข้าใจ เพราะเคยเป็นนักกิจกรรมเก่า รู้ว่าเรากำลังผ่านช่วงอะไรอยู่?" คิมเล่าให้ฟังถึงช่วงแสวงหา ความหมายของชีวิตขณะนั้น

คิมมีโอกาสไปฝึกงานสำนักพิมพ์ Scholastic ที่นิวยอร์ก และได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาธุรกิจของบริษัทที่ติดประกาศไว้ ซึ่งเธอถึงกับจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกหน้าเหลืองสดใส ที่แม่ให้มาว่า

"ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุขและความพอใจในชีวิตตนเองและไม่มีใครในโลกนี้มีสิทธิตัดสินความคิดของผู้อื่นได้ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแก่เด็กและผู้อ่าน จะทำให้ทุกคนเปิดใจและอยู่รวมกันอย่าง harmony ปราศจากความเกลียดและอคติ ทำให้โลกน่าอยู่" นี่คืออุดมคติที่คิมได้มา

จากแรงเหวี่ยงที่คิดจะเป็นครูบ้านนอก สู่การทำงานเป็นวิศวกรประจำโรงงานของ Scholastic ที่มิสซูรี ดูแลโปรเจ็กต์บริหารการจัดหนังสือ เลื่อน pallet จาก dock ไปเก็บที่ shelf ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ตอกย้ำว่า นี่ไม่ใช่ชีวิตทำงานที่เธอต้องการ

"คิมชอบอะไรที่ creative มากกว่า แต่วิศวกรจะถูกออกแบบให้ทำงานที่มีระบบมีเหตุมีผล แต่ว่าจำเจซ้ำซาก ไม่ค่อยได้แสดงออกตัวเอง ทางบริษัทจะเซ็นสัญญาทำงานต่อให้ แต่คิมปฏิเสธขอกลับบ้านดีกว่า"

มีนาคม 2549 คิมบินกลับเมืองไทยและตั้งปณิธานไว้สามอย่างว่า จะ make different, ทำหนังสือและอยู่กับครอบครัวที่เมืองไทย งานแรกของคิมที่นานมีบุ๊คส์คือ พนักงานติดรถส่งหนังสือที่เคยโดนยามซีเอ็ดไล่มาแล้ว ก่อนจะขยับมาเป็นพนักงานขายที่เริ่มต้นในงานสัปดาห์หนังสือปีที่แล้ว และไปงานเปิดตัวหนังสือใหม่ รวมทั้งบุกโครงการ "เล่มโปรดบุ๊คคลับ" ซึ่งเป็นกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการอ่านที่นานมีบุ๊คส์ทำมากว่า 5 ปี มีสมาชิก 2.7 ล้านคน และมีโรงเรียนเข้าร่วม 6,802 แห่ง

"ช่วงแรกๆ คิมจะทำทุกอย่างที่มาม้าจะให้ทำ เหมือนทุกอย่างถาโถมเข้าใส่ และด้วยความเป็นคนขี้เว่อร์ จึงทำให้รู้สึกเครียด อยากจะทำงานให้ดี แต่ปรากฏว่าไม่มีผลงาน จนกระทั่งวันหนึ่งเดินเข้าไปขอคุยกับมาม้าแล้ว มาม้าก็เลยบอกว่า มาม้าอาจจะให้งานลูกเร็วเกินไป ถ้างั้นให้คิมทำเรื่องขายตรงกับขายผ่านโบรชัวร์ และขายนอกสถานที่ คิมเอาทั้งสามอย่างมารวมกันเป็นทีมงานของเราเอง มีขอบเขตเป้าหมายชัดเจน หลังเสร็จงานก็ไปร้องคาราโอเกะด้วยกัน ยิ่งทำงานยิ่งเข้าขากัน ความจริงเราเป็นคนแฟร์สุดยอด ถ้าไอเดียเขาดีกว่า เราก็ทำตามทันที ตอนนี้คิมแฮปปี้"

บทบาทของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นานมีบุ๊คส์ของคิมวันนี้ มีส่วนสำคัญที่สร้างพื้นที่ใหม่ทางธุรกิจในอนาคต ตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลว มิใช่เพียงเงินทองชื่อเสียง แต่สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือการพัฒนา จิตใจให้สุขเป็นทุกข์เป็นและทักษะในการจัดการให้บรรลุเป้าหมายภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยผันผวนทั้งภายในและภายนอก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.