|
งานแกะรอยของนรนิติ เศรษฐบุตร กับลายแทงบรรพบุรุษกว่า 200 ปี
โดย
สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"...พงศ์เผ่าเหล่ากอเป็นไฉน
อยู่ประเทศธานีบุรีใด
ทำไมจึงแกล้งแปลงปลอมมา..."
(จากบทละครเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 2)
บทนำข้างต้นเป็นของนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ใช้เวลา 5 ปี สืบค้นที่มาของบรรพชนข้างพ่อ ต้นสกุล "เศรษฐบุตร" คือ "พระประเสริฐวานิช (โป้)" ขุนนางไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน จนกระทั่งกลายเป็นหนังสือเล่ม "สู่สยามนามขจร" ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมี ซึ่งจุดกระแสความอยากเป็นนักสืบสมัครเล่นของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนบางคน ที่รวยและมีเวลาสืบประวัติต้นตระกูลของตน
ศาสตร์ว่าด้วยการสืบค้นเกี่ยวกับประวัติตระกูลของตัวเองนี้ ฝรั่งเรียกว่า "Genealogy" ซึ่งเคยเป็นรายการโทรทัศน์ยอดฮิต "Who do you think you are?" ของ BBC ที่อังกฤษ โดยรายการนี้จะใช้นักแสดง พิธีกร และนักร้องอังกฤษชื่อดังเป็นตัวดำเนินเรื่อง พาคนดูไปสืบประวัติบรรพบุรุษ ของดารานั้น ที่ปรากฏมีเชื้อสายทั้งชาวอินเดีย ยิว และแคริบเบียน ฯลฯ
แต่งานสืบค้นประวัติต้นตระกูลของคนจีนในไทยย้อนหลังไปกว่า 200 ปีนั้นทำได้ยาก เพราะขาดแคลนแหล่งเก็บหลักฐาน สำมะโนประชากรโบราณ ทะเบียนราษฎร์ ห้องสมุด หนังสือพิมพ์ และข้อมูลประวัติ ศาสตร์ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่พบว่าสาแหรกวงศ์ตระกูล (Family Tree) 5 ตระกูล ใหญ่ที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทยคือ ตระกูลเศรษฐบุตร ตระกูลเสถบุตร ตระกูลภิรมย์ภักดี ตระกูลโปษยะจินดา และประนิช นั้นมาจากบรรพชนที่สืบสาแหรกจาก อดีตถึงปัจจุบันได้ถึงเก้าชั่วอายุคน แม้จะสับสนเมื่อเทียบรุ่นกันว่า คนอายุมากอย่างนรนิติจะมีศักดิ์เป็นหลานคนหนุ่มอย่างคามภีร์ เสถบุตร
นรนิติ เศรษฐบุตร เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นจากความรู้สึกอยากรู้อย่างแท้จริง ว่าเครือญาติ ที่รับนับถือกันมีจำนวนมากนั้น มาจากสายไหนกันบ้าง? เพราะบรรพชนที่อพยพมาตั้งหลักปักฐานในไทยเมื่อ 200 กว่าปีนั้น บ้างก็ว่าเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน หรือแต้จิ๋ว และไม่แน่ชัดว่าเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี หรือรัตนโกสินทร์?
เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่นรนิติสนุกเหมือนเล่นเกมต่อภาพจิ๊กซอว์ (Jigsaw) จากข้อมูลหลายแหล่งทั้งจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ ที่บ่งชี้ถึงลายแทงสำคัญ อันปรากฏเป็นข้อมูลในป้ายศิลาจารึกภาษาจีนที่วัดประเสริฐสุทธาวาส ที่นำเขาไปสู่การผจญภัยเดินทางไปยังบ้านเกิดบรรพชนที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งแหล่งข้อมูลจากเอกสารจดหมายสำคัญเกี่ยวกับ ที่มาของชื่อสกุลที่ได้จากที่เครือญาติลูกพี่ลูกน้องค้นพบเจอในลิ้นชักมารดาผู้วายชนม์
"เอกสารที่เป็นลายแทงสำคัญ คือป้ายแผ่นศิลาจารึกที่วัดประเสริฐ สุทธาวาส ซึ่งเดิมญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณสอ เสถบุตร ท่านบอกผมอยู่ที่ราษฎร์บูรณะ ผมไม่ได้ไปจนกระทั่งท่านสิ้น ผมไปงานเผาศพ ท่านและก็ติดใจว่ายังไม่ได้ทำ จึงเป็นจุดเริ่มต้น" นรนิติเล่าให้ฟัง
แต่กว่าจะหาวัดประเสริฐสุทธาวาสได้ นรนิติก็ต้องหลงทางไปกับวัดราษฎร์บูรณะเป็นวันๆ กว่าจะรู้ว่า ที่นี่ไม่ใช่ เขากลับมาคิดทบทวนหาข้อมูลใหม่ และจำได้ว่า เมื่อครั้งอ่านบันทึกของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มีเกร็ดสนุกๆ ว่า สถานที่นี้เคยมีคนเลี้ยงหมูพบไหทองคำบรรจุเหรียญทองคำ 3 ไห แล้วเอามาทำบุญสร้างวัดนี้ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมเรื่องสามก๊ก ของช่างจีนประดับอยู่
"ผมมาสะกิดใจตรงที่ชื่อวัดประเสริฐสุทธาวาส เป็นวัดที่คนจีนสร้าง ผมชักสงสัยเกี่ยวกับพ่อค้าจีน แต่พอเขาบอกว่ามีแผ่นศิลาจารึกเหมือนที่ญาติบอกไว้ก็สะกิดใจว่าชื่อวัดประเสริฐสุทธาวาสเกี่ยวพันกับพระประเสริฐ วานิช แต่ที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงมากคือ ภาพสามก๊ก แม้ว่าจะอยู่ที่สูงมากก็ยังถูกความชื้นทำลายภาพเลย" นรนิติเล่าด้วยน้ำเสียงกังวล
แผ่นศิลาจารึกอายุเก่าแก่ 200 ปีนี้มีความสำคัญมากๆ ในฐานะลายแทงของตระกูลเศรษฐบุตร เขียนด้วยภาษาจีนนับอักษรจีนได้ 20 กว่าตัว ซึ่งเดิมแผ่นศิลา นี้ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ ต่อมาย้ายไปอยู่ หลังพระประธานในอุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาส ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
"ผมอ่านภาษาจีนไม่ออก ซึ่งเป็นข้อบกพร่องอย่างแรง คือมีเชื้อจีนแต่อ่านภาษาจีนไม่ออก เมื่อไม่รู้ภาษาจีน เราก็เอาตัวอักษรจีน 20 กว่าตัวนี้ไปให้เขาแปล ซึ่งออกมาว่า บรรพชนเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มาจากเมืองจางโจว ไห่เจิ้ง แต่ก็ไม่รู้ว่าหมู่บ้านอะไร ผมก็จึงไปสืบที่เมืองจีน ต้องบอกว่า ฟลุค! เพราะไปแบบไม่มีวิธีวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ เมื่อไปถึง เมืองจางโจว ไกด์เขาก็ถามว่าจะค้นหมู่บ้านไหนอีก? เราก็จนใจเพราะที่รู้มาก็ไปหมดแล้ว แต่ไหนๆ มาถึงแล้ว เราก็ลองเทียบอายุวัดประเสริฐสุทธาวาส นึกถึงตอนที่ท่านเป็นคุณพระ ก็ประมาณ 160 กว่าปี เมื่อท่านบูรณะวัด ท่านก็เอาช่างจีนไปวาดวรรณกรรมสามก๊ก" นรนิติเล่าให้ฟังต่อไปว่า
"เราก็คิดเดี๋ยวนั้นเลยและบอกเขาว่า ขอดูวัดที่อายุ 170 ปี เขาก็เอ่ยชื่อศาลเจ้าแห่งหนึ่งและเล่าประวัติว่า เป็นศาลเจ้าที่สร้างสมัยพระเจ้าเตาซัว เผอิญเราจำได้จากป้ายศิลาจารึกที่วัดประเสริฐสุทธาวาสว่า เป็นสมัยพระเจ้าเตาซัวเหมือนกัน จึงบอกเขาว่า เออๆ...เอาวัดนี้แหละ เราก็นึกไม่ถึงว่าเมื่อเข้าไปแล้วก็อึ้งเลย เพราะเหมือนกันหมด และไกด์ก็คงสงสัยว่า เราเอาแต่ถามว่า นี่ภาพสามก๊กใช่ไหมๆ? ปรากฏว่าคนที่พาไปเป็นญาติกัน แซ่เจิ้ง ซึ่งเมื่อก่อนคนจะบอกผมว่า ผมนั้นแซ่แต้ แซ่เดียวกับพระเจ้าตากสิน แต่จริงๆ เราไม่ใช่"
เป็นอันว่า พระประเสริฐวานิช (โป้) เป็นบรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล แซ่เจิ้ง ซึ่งเข้ามาไทยในช่วงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะคนสมัยก่อน ถ้าใครเดินทางได้ก็เป็นคนอีกแผ่นดินหนึ่งได้ สมัยนั้นไม่มีวีซ่า ไม่มีกองตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวด เมื่อท่านเข้ามาก็ตั้งหลักปักฐานที่ธนบุรี โดยมีลูกชายสองคนคือ หลวงประเสริฐวานิช (แย้ม) และพระประเสริฐวานิช (จีนเส็ง) ที่เป็นลูกคนสุดท้องที่เกิดจากภรรยาอีกคนหนึ่ง
"จากหลักฐานที่อาประยุทธ์ เศรษฐบุตร ท่านเอามาให้ก็เห็นเป็นจริงว่า ทำไมพี่ชายจึงเป็นแค่หลวงประเสริฐ ท่านอายุสั้น แต่ท่านเป็นคนค้าสำเภาและมีเรือสำเภาอย่างน้อยลำหนึ่ง ขณะที่พ่อท่านไม่มี และที่น่าแปลกคือ ทางวัดประเสริฐสุทธาวาส เวลานี้ก็ยังบอกเลยว่า พระประเสริฐ (เส็ง) เป็นคนสร้าง อยู่เลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2381 พ่อท่านยังอยู่" นรนิติเล่าให้ฟัง
เมื่อนรนิติสืบค้นข้อมูลและนำมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มฉบับบางๆ แล้ว คนจำนวน 70 กว่าคนในครอบครัวตระกูลทั้งห้า คือ เศรษฐบุตร เสถบุตร ภิรมย์ภักดี โปษยะจินดา และประนิช ได้นัดมาพบกันในวันรวมญาติ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2549
ปรากฏว่าหลักฐานชิ้นสำคัญเก่าแก่กว่า 94 ปีที่นรนิติ ได้จากประยุทธ์ เศรษฐบุตร อดีตหัวหน้าสำนักบัญชี สถานทูต อเมริกา คือเอกสารหนังสือสำคัญซึ่งเป็นลายพระหัตถ์รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล "เศรษฐบุตร" ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2456 ที่ระบุถึงพระนรเนติบัญชากิจ (ลัด) และนายภักดีนารถ (เลิศ) เจ้าของรถเมล์ขาวนายเลิศ ผู้เป็นบิดาของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ ไว้ว่า
"นามสกุลที่เจ้าขอนั้น ได้ไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าในสกุลของเจ้าได้มีประเสริฐวานิชอยู่ 2 คนต่อกัน และมีชื่อเสียง ขึ้นก็เพราะประเสริฐวานิช (โป้)
เพราะฉะนั้นขอให้นามสกุลของเจ้าว่า "เศรษฐบุตร" (เขียนตัวอักษรโรมันว่า "Sreshthabutra") เพื่อนามแห่งพระประเสริฐติดอยู่ในแผ่นดิน
ขอให้สกุลเศรษฐบุตรเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน"
แต่การสะกดเขียนนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษดังกล่าว ไม่เคยเป็นที่ทราบจึงไม่ปรากฏเคยใช้กัน แม้แต่ สอ เสถบุตร เจ้าของพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ที่มีชื่อเสียงและเจ้าของผลงานหนังสือขายดีชื่อ "ไปนอก" ที่สำนักพิมพ์นานมีใช้ก็ยังสะกดนามสกุลว่า Sethaputra ที่ต่างจากของนรนิติด้วย
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสำคัญในซองจดหมายเก่าที่มารดาผู้วายชนม์ของเขาเก็บไว้
"จดหมายนี้เพิ่งค้นเจอครั้งแรกที่บ้านผม หลังจากคุณแม่เสียปลายปี 2541 ผมไปเจอซองนี้ แต่ไม่สนใจเท่าไร และเก็บไว้ในเซฟตลอด จนกระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นงานรวมญาติ ตระกูลเศรษฐบุตรปีที่แล้ว ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า ผมมีเอกสารเก่าแก่เก็บไว้ที่บ้าน เลยได้รายละเอียดมาเยอะเกี่ยวกับวันเกิดวันตายของบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 ถือเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่อายุครบ 94 ปีในเดือนกรกฎาคมนี้ มันมากกว่าอายุผมเสียอีก" ประยุทธ์เล่าพลางแสดงเอกสารหลักฐานที่เก็บไว้อย่างดี
ความหมายของการค้นพบที่มาที่ไปของตระกูล คือความสบายใจของคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่สามารถ เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ได้ถูกต้อง มิใช่เพียงคำบอกเล่า ทำให้คนรุ่นต่อมาทราบว่าเป็นญาติเกี่ยวดองกันได้อย่างไร
"ตอนนี้เราโยงได้หมด บางสายของตระกูลก็อยู่ต่างจังหวัด เวลาจัดเลี้ยงพบญาติ เขามาเอง เช่น กรณีจากศรีสะเกษ เราก็ไม่รู้ว่ามี จนกระทั่งเราจัดพบญาติ เขาก็มาและตัวเขาก็ขนาดผมนี่ ค่อนข้างเป็น 'เศรษฐบุตรไซส์' พอสมควร" นรนิติกล่าว
ผลงานเขียนถึงการสืบค้นตระกูลในหนังสือเล่ม "สู่สยามนามขจร" ของนรนิตินี้ ไม่ถือว่าเป็นงานเขียนเชิงวิชาการ แต่ตั้งอยู่บนเรื่องเล่าที่เขียนเพื่อให้ญาติรู้จักกัน และสำนวนการเขียนที่นรนิติสนุก กับการเชื่อมโยงเหตุการณ์และข้อมูลพอให้คนอ่านเพลิดเพลิน ด้วยจำนวนหน้าที่ไม่ยาวมากนัก
"ผมสนุกนะ เพราะเขียนโน่นแปะนี่ และที่แปลกมากคือ ผมเขียนหนังสือวิชาการมาเยอะ แต่ไม่มีใครตามมาพบเลย แต่พอเขียนเล่มนี้ ฝรั่งมาขอพบ เพราะกำลังศึกษาเรื่องจีนฮกเกี้ยนในเมืองไทย เขาถามผมว่า ยูไปเอาหลักฐานนี้มาอย่างไร? ผมก็บอกว่า ยูต้องไปอ่านหลักฐานตามวัด"
ถึงวันนี้ คนในตระกูลใหญ่ทั้งห้าต่างมีสถานภาพระดับสูงในสังคมไทย และการรับรู้ว่าบรรพชนตนเองเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ก็เป็นเพียงปมเล็กๆ ที่เก่าแก่ที่สุดปมหนึ่ง ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|