ประเมินด้านบวก ปรับเรตติ้งประเทศไทย

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเร็วๆ นี้มีนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ไทยหลายคนที่เสนอมุมมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะ 1-2 ปีบวกกับแนวโน้มการเติบโตอย่าง ต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสากลหลายแห่ง นอกจากจะปรับมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยแล้ว น่าจะปรับอันดับความน่าเชื่อถือให้ด้วย

อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย บอกว่าความกังวล เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการคลัง (Fiscal risk) ซึ่งถือเป็น อุปสรรคสำคัญต่อการพิจารณาปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้มีแนวโน้มลดลงแล้ว

ในเดือนพฤศจิกายน 2545 มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ทรงอิทธิพล ได้ทำการปรับมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจากระดับเป็นบวก (Positive Outlook) ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีอย่างมาก และในตอนนั้นนายกรัฐมนตรีก็ออกมาบอกว่าจะมีการปรับอันดับเครดิตให้กับไทย เร็วๆ นี้ แต่นั่นก็เป็นการพูดล่วงหน้านานเกินไป ขณะที่ในตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มพูดประเด็นนี้อีกครั้งเพราะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในหลายเรื่อง

อุสราบอกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดของความเสี่ยงทางด้านการคลังที่ถูกจับตามอง คือเรื่องการจัดการปัญหาหนี้สาธารณะและโครงสร้างการก่อหนี้ของรัฐบาล

สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับ 54.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แต่โครงสร้างของหนี้สาธารณะจำนวนนี้มีการเปลี่ยน แปลงไปจากสมัยปี 2540-41 ที่ไทยเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ กล่าวคือตอนนั้นไทยมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีโดยเฉพาะการกู้เงินจากตลาดซื้อคืนพันธบัตรมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของหนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลกู้ภายในประเทศ แต่ปรากฏว่าในปี 2545 สัดส่วนนี้ลด ลงเหลือเพียง 17% โดยหนี้ระยะสั้นถูกแปลงให้เป็นหนี้ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ซึ่งในปี 2545 หนี้ระยะ ยาวก้อนนี้มีจำนวน 57% ของหนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลกู้ภายในประเทศ

นอกจากเปลี่ยนสัดส่วนอายุของหนี้สาธารณะแล้ว ยังมีการเปลี่ยนโครงสร้างแหล่งเงินกู้ด้วย โดยมีการลดเงินกู้ต่างประเทศลงจากระดับ 35% ในปี 2540 มาอยู่ที่ 25% ในปี 2545 ทำให้หนี้สาธารณะปัจจุบันเป็นการกู้จากแหล่งเงินในประเทศ 75%

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหนี้สาธารณะดังกล่าว อุสราบอกว่าช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องการ Rollover หนี้อีกด้วย ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวขึ้นมาก นอกจากนี้ระบบธนาคาร พาณิชย์ไทยที่ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระดับสูง บวกกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่ายังจะเกินดุลอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การ Refinance หนี้ของรัฐบาลและกองทุนฟื้นฟูที่จะครบกำหนดในอีก 1-2 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงต่ำ

เธอบอกด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ยังอำนวยให้รัฐบาลสามารถ Rollover หนี้ที่กำลังจะครบกำหนดด้วยต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าเดิมอีกมากด้วย

นอกจากประเด็นหนี้สาธารณะแล้ว สิ่งที่สถาบัน จัดอันดับความเสี่ยงจับตามองอีกเรื่องคือ การแก้ไขปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาที่ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยร่วมมือกับกระทรวงการคลังจัดทำขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยแบ่งภาระการรับผิดชอบที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานทั้งสองและนโยบายการออกพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ มีอยู่ทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งได้นับรวมเข้าไว้ในตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่มีอยู่ประมาณ 2.93 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 54.2% ของ GDP แล้ว นั่นเป็นข้อที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เบาใจว่าหนี้ก้อนนี้มีการรับผิดชอบชัดเจน แม้เม็ดเงินส่วนหนึ่งคือจำนวน 8 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้นที่จัดอยู่ ในระบบงบประมาณของรัฐบาล ส่วนอีกเกือบ 6 แสนล้านบาทนั้น ยังอยู่ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้รวม ความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต 245,000 ล้านบาทเอาไว้ด้วยแล้ว (ดูตาราง)

โดยภาพรวมแล้ว การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยมีแนว ทางที่ชัดเจน บวกกับการประกาศจะทำนโยบายงบประมาณสมดุลในอีก 4 ปีข้างหน้า สะท้อนว่าหนี้สาธารณะจะไม่กลับมาเป็นประเด็นความกังวลต่อผู้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยอีก อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่าการใช้จ่ายตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนาคารประชาชน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น คิดเป็นภาระหนี้ผูกพันของรัฐบาลประมาณ 39% ของ GDP ซึ่งประเด็นนี้อาจจะสร้างความกังวลขึ้นมาได้

อุสราตอบว่าภาระหนี้ตัวนี้ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบ กับความสามารถในการจัดเก็บภาษีและแหล่งรายได้อื่นๆ ของรัฐบาลในอนาคต เธอยกตัวอย่าง 3 เรื่องใหญ่ ที่จะเป็นแหล่งที่มารายได้ของรัฐบาลนอกจากการจัดเก็บภาษีในระบบปกติ นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 3% ที่รัฐบาลยังไม่ได้จัดเก็บ, การบริหารหนี้ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ TAMC ซึ่งหากสามารถทำ Recovery Rate ได้สูงกว่าอัตรา 40-45% ก็ถือว่ามีกำไร และราคาสินทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามการฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจ

ในส่วนของด้านฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทยที่ดีขึ้นตามลำดับ จากการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้น ขณะที่ยอดหนี้ต่างประเทศปัจจุบันก็ปรับตัวลดลงจากเดิมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ออกจะเป็นมุมมองที่ดีอย่างมากๆ ของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ไทย แม้สถานการณ์ทั่วโลกจะไม่เป็นใจสักเท่าใดก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.