อิทธิพลของ "ข้อมูล" กับโทรศัพท์มือถือยุคที่สาม


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสแล้ว พวกเขาเรียกบริการรูปแบบใหม่ ที่จะเกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือนี้ว่า Electronic Mobile Banking หรือธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นการร่วมมือกัน บริการที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างเอไอเอส และธนาคารไทยพาณิชย์

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่โอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น ที่ต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี แม้แต่ธนาคารเองก็ลงทุนเทคโนโลยีอย่างมหาศาล ยิ่งต้องมาเจอกับคู่แข่งขันข้ามชาติด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเข้าหาช่องทางใหม่ ที่จะให้ธุรกรรมของธนาคารไปถึงลูกค้าให้มากที่สุด

และนี่เอง ที่ทำให้โอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือกับธนาคาร ต้องกลายเป็นพันธมิตรคู่สำคัญอีกคู่หนึ่งในโลกของธุรกิจออนไลน์

ยอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 1 ล้านกว่ารายของเอไอเอส เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามยิ่งเมื่อขีดความสามารถของโทรศัพท์มือถือ เวลานี้ไม่ใช่ไว้แค่บริการทางเสียง (voice) ที่เอาไว้พูดคุยอย่างเดียวอีกต่อไป โลกของ Wireless กำลังถูกพัฒนาอย่างเข้มข้นให้ใช้เพื่อการส่งข้อมูล (data) ที่ไม่แค่การส่งข้อมูล text แต่มีสภาพใกล้เคียงกับเครื่องพีซีเข้าไปทุกที มันหมายถึงการส่งภาพเคลื่อนไหว ที่เห็นหน้าเห็นตาผู้สนทนาอีกฟากหนึ่ง จะเป็นเรื่องการเข้าสู่ยุคที่สาม third generation ที่จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือเข้าสู่ยุคของข้อมูลอย่างแท้จริง

แต่ก่อนจะไปสู่โทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 ที่คาดกันว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี ในช่วงรอยต่อของการก้าวข้ามจากยุคที่ 2 ไปสู่ยุคที่ 3 ก็มีเทคโนโลยีที่จะมาเพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลได้อย่างมากมาย นั่นก็หมายความว่า ธุรกรรมของธนาคารที่จะไปกับโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอไปจนถึงยุคที่ 3

เอไอเอส จัดแบ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภท เทคโนโลยีแรก คือ บริการ Short Message Service

เทคโนโลยี ที่สอง คือ SIM ToolKit

เทคโนโลยี ที่สามคือ wap (Wireless Application Protocol)

อาภัทรา ศฤงคารินกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีทั้งสามประเภทนี้ว่า เทคโนโลยี short message นั้น ข้อดีคือ ลงทุนต่ำ การพัฒนาทำได้ง่ายมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ให้บริการแก่ลูกค้าอยู่แล้ว แต่ข้อเสียคือ การใช้งานไม่สะดวก ผู้ใช้ต้องจำคำสั่งมาก ต้องใช้คู่มือประกอบ อีกทั้งระบบความปลอดภัยยังไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

สำหรับ Sim ToolKit เป็นระบบที่ต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถทั้งในแง่ของตัวลูกข่ายและแม่ข่าย เพื่อให้มีขีดความสามารถ ที่จะรองรับกับธุรกรรมทางการเงินโดยลูกข่ายเองจะต้องเป็นเครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1999 หรือต้องเป็นเครื่องในระบบจีเอสเอ็ม เฟส 2 จึงจะใช้กับเทคโนโลยีนี้ได้ โดยจะต้องมีการเปลี่ยนข้อมูลใน sim แบบอัตโนมัติ

ขณะเดียวกันในด้านของโอเปอเรเตอร์จะต้องมีการลงทุนในการพัฒนา เพื่อให้การแสดงผลบนหน้าจอมีการใช้งานง่าย รับส่งข้อมูลได้มากขึ้น

ข้อดีของเทคโนโลยีของระบบนี้คือ นอกจากใช้งานง่ายแล้ว จะมีความปลอดภัยมากกว่าเทคโนโลยีแรก เพราะข้อความ ที่ส่งออกไปจะถูกถอดรหัส encrip ตั้งแต่คำสั่งถูกส่งจากโทรศัพท์มือถือไปยังระบบของธนาคาร ความปลอดภัยของเทคโนโลยีนี้เปรียบได้กับการเบิกถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม

แต่ข้อเสียคือ การลงทุนสูง และการเปลี่ยนแปลงมีความซับซ้อนในการพัฒนามากกว่าระบบของ short message

เทคโนโลยีของ wap (Wireless Applica tion Protocol) จะเป็นเทคโนโลยี ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อรองรับกับการรับส่งข้อมูล ให้มีขีดความสามารถไม่แตกต่างไปจากเครื่องพีซี นั่นหมายถึงการที่จะเข้าไปเชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยี wap ในสายตาของเอไอเอส ก็คือ การออนไลน์ข้อมูลที่จะทำได้ตลอดเวลา และใช้งานได้เหมือนกับเครื่องพีซี แต่ข้อเสียก็คือ เทคโนโลยียังอยู่ระหว่างการพัฒนา ความปลอดภัยทางด้านข้อมูลยังไม่ชัดเจนพอ และยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก และมีความซับซ้อนมากกว่า

แต่ใช่ว่าเอไอเอสจะละเลยกับ wap เทคโนโลยี เมื่อผู้ผลิตของโลก โดยเฉพาะกับซัปพลายเออร์ทั้ง 3 รายของเอไอเอสเอง ไม่ว่าจะเป็นโนเกีย อีริค สัน และซีเมนส์ต่างก็เดินไปสู่ wap เทคโนโลยี และกระแสของโลกก็ไปทางนี้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ ซึ่งเวลานี้เอไอเอสเองก็เตรียมทั้งทีมงาน และงบประมาณก้อนใหญ่กว่า 100 ล้านบาท สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ ยังไม่รวมกับการสร้าง content ที่จะมารองรับกับ wap ซึ่งชินนี่กำลังทำหน้าที่นี้อย่างเข้มข้น

Sim ToolKit จึงเป็นทางออกที่จะมารองรับกับกระแสของอี-คอมเมิร์ซ ที่ลงตัวที่สุดในสายตาของเอไอเอสในช่วงเวลานี้ เอไอเอสก็ต้องควักเงินลงทุนไปถึง 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบให้รองรับกับบริการนี้ให้กับลูกค้าที่ใช้เครื่องในระบบจีเอสเอ็ม สามารถใช้บริการโมบายแบงกิ้งได้ นั่นก็คือ การสอบถามยอดเงินในบัญชี โอนเงิน ตัดยอดทางบัญชี

"เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายในเรื่องของรายได้ไว้ แต่การลงทุนครั้งนี้เป็นเรื่องของการตั้งเป้าในเรื่องของเทคโนโลยีมากกว่าอย่างอื่น" สมประสงค์ บุณยะชัย กรรมการผู้อำนวยการของเอไอเอส กล่าวถึงผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้

แน่นอนว่า ในฐานะของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นกับการลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เมื่อแนวโน้มของโลกก็พัฒนามาทางด้านนี้ เอไอเอสจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับเป้าหมายในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดของอี-คอมเมิร์ซ

และเมื่อธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นได้แล้วบนโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะมีบริการรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมาอีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วหนัง ตั๋วโดยสารการซื้อขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เอดี เวนเจอร์ เป็นผู้ลงทุนสร้างฐานเอาไว้ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปเป็นร่าง

สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว การร่วมมือกับเอไอเอส เพื่อเปิดให้บริการ mobile banking นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในเรื่องไอที ของแบงก์ ที่แบงก์นี้เฝ้าทำมาตลอดหลายปีมานี้ ส่วนหนึ่งก็มีแรงผลักดันมา จากรักษาภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในเรื่องไอทีนับตั้งแต่ได้ชื่อเสียงจากเอทีเอ็มมาแล้ว

มาถึงยุคอินเตอร์เน็ต แบงก์ไทยพาณิชย์เองก็ลงทุนเพื่อรองรับกับการมาของ อี-คอมเมิร์ซเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นทั้งธุรกรรมการเงินบนอิน เตอร์เน็ตอย่าง SCB cash Management หรือแม้แต่การทำเว็บไซต์ thaimarket.net ให้ผู้ส่งออกของไทยมาใช้เนื้อ ที่ได้ฟรี และล่าสุดก็คือ การเปิดเว็บ ไซต์ scbpark.com ที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ที่ต้องใช้บริการทางธนาคาร ผ่านอินเตอร์เน็ต

การร่วมมือกับเอไอเอสในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการต่อยอดจากระบบ web banking ที่ธนาคารลงทุนไว้แล้ว เพราะสิ่งที่แบงก์จะมีการลงทุนเพิ่มสำหรับบริการนี้ก็คือ การสร้าง server file wall ที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเท่านั้น

"เราลงทุนไปไม่ถึงล้านบาท การลงทุนไม่ได้แพง ที่ตัวอุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องของคน ซึ่งเราก็มีอยู่แล้ว" วิชิต อมรวิรัตนสกุล รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยี และปฏิบัติการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว

ไทยพาณิชย์เทียบเคียงบริการนี้เหมือนกับบริการ telephone banking หรือบริการธนาคารทางโทรศัพท์ ที่จะคิดค่าบริการปีละ 200 บาท โดยลูกค้าจะต้องมีบัญชีกับธนาคารจึงจะใช้บริการได้

เป้าหมายของธนาคารก็คือ การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์ มือถือของเอไอเอส ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านราย

"ถ้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของเอไอเอสมาใช้บริการนี้ของแบงก์ปีละ 10,000 ราย ก็ถือว่าคุ้มแล้ว" วิชิตบอก

ธนาคารกสิกรไทย และแทค คือ พันธมิตรอีกคู่ที่จะร่วมกันให้บริการโมบายแบงกิ้ง

แทค เรียกบริการข้อมูลผ่านเทคโนโลยี short message นี้ว่า Information on demand ซึ่งเป็นการนำบริการเสริม short message มาปรับปรุงใหม่ เพื่อให้รองรับกับข้อมูลที่จะนำมาให้บริการ

บริการโมบายแบงกิ้ง ที่แทคและธนาคารกสิกรไทยจะร่วมกันทำ ก็ไม่แตกต่างไปจากค่ายของไทยพาณิชย์ทำกับเอไอเอส นั่นก็คือ บริการสอบถาม ยอดเงิน โอนเงินกระแสรายวัน อัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นจะเป็นบริการข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบิน การจองตั๋วหนัง

" เครื่องจะถูกโปรแกรมให้ป้อนข้อมูลตาม ที่มีการเรียกใช้งาน ก็เหมือนกับการใช้บริการ short message ทำให้เราอัพเกรดใช้งานง่ายกว่าการเลือกเทคโนโลยีอื่น"

ไม่ใช่แบงก์ไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทยก็เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องเหล่านี้ ในไม่ช้าจะมีแบงก์อื่นๆ ที่ทยอยเข้าสู่ธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ หรือ โมบายแบงกิ้ง ไม่ว่าจะเป็นแบงก์เอเชีย แบงก์กรุงเทพ หรือแม้แต่แบงก์กรุงไทยเองก็ตาม เพราะธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่โทรคมนาคมไม่ใช่โลกของการผูกขาดอีกต่อไป ไม่ใช่เรื่องแต่เป็นโลกของความร่วมมือ

การลงทุนของโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ จึงไม่ใช่แค่พัฒนาระบบให้มีความทันสมัยขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องวิ่งหา "ข้อมูล" มาใส่ลงบนโครงข่ายด้วย และนี่ก็เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมชินคอร์ปจึงต้องมีเอดีเวนเจอร์ ทำหน้าที่เป็น venture capital ในการหามันสมองใหม่มาสร้างฐานข้อมูล ส่วนหนึ่งก็ เพื่อตอบสนองทิศทางเหล่านี้ รวมถึงการที่ต้องเสาะแสวงหาพันธมิตร ที่จะมาป้อนข้อมูล (content)

third party ที่เป็นผู้กุมข้อมูล จึงมีบทบาทสำหรับโทรศัพท์มือถือนับจากนี้เป็นต้นไป

แม้กระทั่งในฟากของผู้ผลิตเครื่องลูกข่ายด้วยแล้วทำไมอีริคสันร่วมกับสยามทูยู.คอม ที่จะผลักดันให้สถาบันการศึกษาของไทย ร่วมกันสร้างแอพ พลิเคชั่น ที่จะใช้ข้อมูลผ่านระบบ wap เทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการสร้างฐานข้อมูลที่จะมารองรับกับ wap เทคโนโลยี

wap เทคโนโลยีจะหมดความหมายไปทันที เหมือนกับเครื่องลูกข่าย duo band ที่เป็นเครื่องลูกข่าย ที่ใช้ได้กับระบบจีเอสเอ็ม 900 และจีเอสเอ็ม 1800 แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเมืองไทย

ในงานสัมมนาทิศทางการสื่อสาร การพัฒนาสู่เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุคที่สาม บริษัทโนเกีย โมบายโฟน จัดขึ้น และถ่ายทอดผ่านดาวเทียม ไป 6 ประเทศไทย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ผู้บริหารของโนเกีย ก็กล่าวแล้วว่า ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือ จะพัฒนาให้มีความสามารถในการรับส่งข้อมูล ที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมาอยู่บนเครื่องโทรศัพท์มือถือชิ้นเล็กๆ นี้ได้ แต่ในโลกของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 third generation จะประสบความสำเร็จหรือเป็นที่นิยมในแต่ละประเทศได้ นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับข้อมูล (content) เป็นสำคัญ

เป็นคำกล่าว ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ของโทรศัพท์มือถือจากนี้เป็นต้นไป ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพี เจ้าของเว็บไซต์ ธนาคาร โรงภาพยนตร์ โรงแรม รถโดยสาร สถานบันเทิง แหล่งชอปปิ้ง ร้านขายหนังสือ และอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทในฐานะของผู้ป้อนข้อมูลที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลทำธุรกรรมทางธนาคาร จองตั๋วเครื่องบิน จองตั๋วหนัง จับจ่ายใช้สอยผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ในมือ

และนี่เอง คือ คำตอบของโจทย์ ที่ว่า ทำไมโนเกีย ฟินแลนด์ จึงต้องไป จับมือกับซีเอ็นเอ็น และโนเกีย โมบาย ประเทศไทย จึงต้องเข้าไปร่วมกับเอ็มเว็บ เจ้าของสนุก.คอม ร่วมมือกับไอเอสพี และผู้ให้บริการข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จับมือกับโรงภาพยนตร์

"สิ่งที่โนเกียจะต้องทำมากที่สุดต่อจากนี้ก็คือ การสร้าง content โดย เฉพาะ local content ข้อมูลที่เป็นภาษาไทย ไม่ใช่แค่ สนุก.คอม เท่านั้น แต่ จะมีอีกหลายส่วน ที่โนเกียจะต้องเข้าร่วม" กฤษณัน งามผาติพงศ์ กรรมการผู้จัดการ โนเกียโมบายโฟน กล่าว

การนำโทรศัพท์มือถือรุ่น 7110 ที่ใช้เทคโนโลยี wap ในขณะที่ยังไม่มีโอเปอเรเตอร์ในไทยสักรายที่มีระบบ wap นี้ในเมืองไทย ซึ่งโนเกียลงมือแก้ ปัญหานี้ด้วย การลงทุนติดตั้ง server สำหรับเป็นศูนย์กลางในการส่งข้อมูล และไปดึงเอาเอ็มเว็บ และบริษัทมีเดีย เอ็นเตอร์ไพรซ์ เทคโนโลยี และเซอร์วิส หรือเมทส์ มาร่วมกันเป็นพาร์ตเนอร์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น และป้อนข้อมูลให้กับลูกค้า ที่ซื้อเครื่องรุ่นนี้ไป คือ คำตอบที่ดีที่สุดในเรื่องนี้

ลูกค้า ที่ซื้อเครื่องโนเกียทุกระบบไม่ว่าจะเป็นของค่ายไหนจะได้ใช้บริการข้อมูลที่เกิดจาก wap ได้ฟรี เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำนายดวง ชะตารายงานข่าวหุ้น รายงานผลฟุตบอลข้อมูลต่างจากโนเกีย แวดวงบันเทิง และสอบถามเวลาฉายหนัง ถึงแม้ว่าบริการเหล่านี้จะยังไม่สามารถตอบสนอง ได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม

แต่สามารถสะท้อนให้เห็นแล้วว่า อิทธิพลของข้อมูล และการปิดล้อม เพื่อสร้างอาณาจักรของโทรศัพท์มือถือแบบแบ่งค่ายกำลังจะหมดไปจากเส้นทางนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.