|
ถึงคราวยกเครื่อง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเริ่มรู้สึกว่าบริการทางการแพทย์ทุกวันนี้ราคาสูงขึ้นทุกที แถมหมอยังมีเวลาให้เราน้อยลงก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกและนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ "ยกเครื่อง" กันขนานใหญ่แล้ว บริการทางการแพทย์ในหลายประเทศอาจถึงทางตันได้ง่ายๆ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
บทสรุปข้างต้นเป็นผลจากการศึกษาของ IBM Global Business Services ในหัวข้อ "Healthcare 2015 : Win-win or lose-lose" เป็นการศึกษาบริการทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ผลที่ได้ระบุว่า จำนวนประชากรสูงวัยที่มีมากขึ้นและต้นทุนการรักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อผู้ให้บริการที่เป็นภาครัฐและเอกชนจนถึงประชาชน
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คุณภาพในการรักษาพยาบาลเสื่อมถอยลง ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในด้านการแพทย์ในปี 2548 สูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 16% ของ GDP แต่กลับมียอดผู้เสียชีวิตจากความผิดพลาดในการรักษารวมถึงการดูแลที่ไม่เหมาะสมสูงถึงปีละ 250,000 คน และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้ประชาชน เกือบ 50 ล้านคนไม่มีเงินพอที่จะทำประกันสุขภาพได้ และอีก 15 ล้านคน ที่มีประกันเพียงเล็กน้อย
คริสโตเฟอร์ เยียว หัวหน้าธุรกิจ Healthcare & Life Sciences ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและจีนของ IBM กล่าวว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป บริการทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ในที่สุด
การที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อุตสาหกรรมทางการแพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient-centered) เพื่อยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการรักษาพยาบาล เพราะขณะนี้ปัญหาด้านการแพทย์เริ่มส่งผลกระทบต่อบริษัทเอกชนแล้ว
"หลายบริษัทเริ่มแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลสูงด้วยการย้ายออกจากอเมริกาไปอยู่ที่แคนาดาที่มีค่ารักษาถูกกว่า" เยียวกล่าว
จุดนี้เองที่กลายเป็นโอกาสของโรงพยาบาลไทย เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ โลกาภิวัตน์และอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์อย่างมาก โดยโลกาภิวัตน์ทำให้คุณภาพและมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ในประเทศต่างๆ ใกล้เคียงกันมากขึ้น บุคลากรด้านการแพทย์ในแต่ละประเทศได้รับการฝึกฝนจากสถาบันชั้นนำของโลกจนมีความสามารถใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับเครื่องมือทางการแพทย์ที่สามารถซื้อมาใช้ได้ทัดเทียมกัน
พร้อมกันนี้อินเทอร์เน็ตยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยสามารถค้นหาบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในราคาที่ถูกลงได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจทัวร์สุขภาพ (Medical Tourism) ให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีไทย อินเดีย และสิงคโปร์ เป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ
ผู้บริหารไอบีเอ็มระบุว่า ถึงแม้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มที่ปัญหาเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นโรงพยาบาลไทยก็ควรปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้งานก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้นได้
เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ หากไอบีเอ็มจะรุกเข้าสู่ตลาดนี้มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|