|
มอเตอร์โชว์ เกือบไม่ถึงเส้นชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ดัชนีที่ใช้วัดภาวะเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร หากเป็นทางการก็ต้องเป็นตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไป ก็อาจจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูปและรถยนต์ เหมือนกับงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 28 ที่จบลงไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เศรษฐกิจดีหรือแย่ ยอดจองรถในงานมอเตอร์ โชว์ สามารถสะท้อนให้เห็นได้
งานมอเตอร์โชว์งานแรกของปีนี้ ยังมีรูปแบบการจัดงานเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ที่มีโรงงานประกอบในบ้านเราหลายแห่งเปิดตัวรถรุ่นใหม่เพื่อมาขายในวาระนี้โดยเฉพาะ เช่น โตโยต้าที่มีวีออสรุ่นใหม่มาเป็นตัวขาย ส่วนค่ายอื่นๆ ก็เปิดตัวไปตั้งแต่ต้นปี ทำให้รถรุ่นใหม่ที่ทำตลาดเฉพาะเมืองไทยมีไม่มาก
รถหรูหรา รถต้นแบบ ไม่ต้องซื้อ ขอแค่มอง ทดลองนั่ง ก็พอแล้วสำหรับภาวะแบบนี้
แต่สิ่งที่ผู้เข้าชมงานต้องการและคาดหวังสำหรับงานนี้ก็คือ บรรดาโปรโมชั่น ของแจก ของแถม จากค่ายรถต่างๆ ที่เปิดศึกแย่งชิงลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะมีเวลาแค่ 10 วัน ต้องทำยอดให้ได้สูงที่สุด
ว่ากันว่า หากปีไหนโปรโมชั่นดุเดือด ประเภทลดกระหน่ำ ดอกเบี้ยถูก ของแถมเต็มรถ ก็หมายความว่ายอดขายตั้งแต่ต้นปีต่ำกว่าเป้า ต้องมาเร่งมือหาลูกค้าในงานนี้ และปีนี้โปรโมชั่นของแต่ละค่ายก็ถล่มกันอย่างหนัก ทั้งเรื่องลดราคา ดาวน์น้อย ผ่อนนาน ดอกเบี้ยถูก
ไม่ต้องแปลกใจว่าค่ายโตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ ฟอร์ด และอีกหลายค่าย มีผู้ชมเวียนเข้าออกอย่างเนื่องแน่นตลอดวัน
สิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องมีนั่นก็คือ พริตตี้ของค่ายรถต่างๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้เข้าชมงาน ต้องแวะไปยลโฉมพริตตี้ให้ได้ทุกบูธ แล้วค่อยให้คะแนนในใจว่าค่ายไหนโดนใจมากที่สุด
แต่สีสันมากที่สุด ก็ต้องค่ายรถจักรยานยนต์เข้ากับกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี
บางครั้งทำให้แยกไม่ออกว่า "พริตตี้" กับ "โคโยตี้" ต่างกันอย่างไร
ผู้ที่เข้าชมงานต่างก็หวังจะได้ชมรถรุ่นใหม่ รถต้นแบบ ซึ่งก็สมใจกันไปทั่วหน้า แต่ปีนี้มีรถอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เคยเข้าร่วมมอเตอร์โชว์มาก่อน ตัดสินใจขอเปิดตัวในงานนี้ด้วย นั่นก็คือรถแทรกเตอร์และรถที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของบริษัทสยามคูโบต้า
กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคูโบต้าอุตสาหกรรม วีระชัย เชาว์ชาญกิจ บอกว่า นี่คือครั้งแรกของสยามคูโบต้าในงานมอเตอร์โชว์ เพราะต้องการสื่อว่าสยามคูโบต้าไม่ได้มีแค่เครื่องยนต์ดีเซลและรถไถเดินตามเพียงอย่างเดียว ยังมีเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยอีกหลายประเภท ทั้งรถแทรกเตอร์ รถไถนา รถตัดหญ้า รถขนพืชผลในไร่
ใครที่ได้ยินชื่อคูโบต้า และเห็นภาพควายเหล็ก ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถแทรกเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของมอเตอร์โชว์ก็คือ ราคาผลผลิตทางการเกษตรช่วงที่ผ่านมาราคาดี เกษตรกรขายได้ราคา การซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และระยะหลังเริ่มขาดแคลนแรงงานต้องใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่
"เกษตรกรที่มีรถ 2 คัน คือรถกระบะกับรถแทรกเตอร์ หากวันหนึ่งเกิดปัญหาไม่สามารถผ่อนค่ารถต้องเลือกว่าจะให้รักษารถคันไหนไว้ เกษตรกรจะเลือกเก็บรถแทรกเตอร์ไว้ ปล่อยให้รถกระบะถูกยึดไป" นี่คือความเชื่อมั่นของผู้บริหารสยามคูโบต้าต่อลูกค้ารถแทรกเตอร์
แต่จะมีเกษตรกรจริงๆ สักกี่คนที่มางานมอเตอร์โชว์
สำหรับบรรยากาศในปีนี้ มอเตอร์โชว์ยุคเศรษฐกิจพอเพียง ก็ดูเหมือนจะเงียบเหงาไปบ้าง
การวัดความสนใจของงานมอเตอร์โชว์ ต้องวัดจากปริมาณรถติดบริเวณหน้าศูนย์การแสดงสินค้าไบเทค เพราะปีที่เศรษฐกิจดีๆ ระยะทางที่รถติดไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร แต่ปีนี้การจราจรไม่ติดขัด
ถือเสียว่าครั้งนี้ผู้จัดงานสามารถแก้ปัญหาการจราจรในช่วงจัดงานได้อย่างเบ็ดเสร็จก็แล้วกัน
แน่นอนว่า หลังงานจบต้องมีการรวบรวมตัวเลขผู้เข้าชมงานและยอดขายรถในงาน
ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ บอกว่า ช่วงเวลาการจัดงาน 10 วัน มีผู้เข้ามาชมงานประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน มียอดจองรถยนต์ทุกประเภท ถึง 11,365 คัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท
ยอดขายอันดับแรกยังเป็นของโตโยต้า มียอดจอง 3,800 คัน อีซูซุ ที่มียอดประมาณ 1,862 คัน ฮอนด้า 1,323 คัน เชฟโรเลต 1,036 คัน มิตซูบิชิ 1,119 คัน ฟอร์ด 720 คัน มาสด้า 700 คัน นิสสัน 912 คัน บีเอ็มดับเบิลยู 290 คัน และเมอร์เซเดส เบนซ์ 530 คัน
หลังจากนี้ไปค่ายรถก็ต้องพัฒนายอดจอง เป็นยอดขายให้ได้ อย่าให้เป็นยอดทิ้งก็แล้วกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|