ตลาดนัดข่าว PRM ของเครือเจริญโภคภัณฑ์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือเชิญร่วมงานแถลงข่าวครั้งล่าสุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้สื่อข่าวหลายๆ คนรู้สึกอึ้งไปตามๆ กัน เพราะจดหมายเชิญฉบับนั้น ระบุตัวผู้บริหารที่จะลงมาให้สัมภาษณ์ถึง 5 คนด้วยกัน

แต่ 5 คนที่ว่านี้ คือผู้บริหารระดับนโยบายของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ไม่บ่อยครั้งนักจะมาร่วมแถลงข่าวพร้อมๆ กัน

ผู้บริหารที่ว่านี้ประกอบด้วย

อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการและประธานคณะทำงานสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์, สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร และรองประธานคณะทำงานสื่อสารองค์กร, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป, และประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ ประธานคณะบริหารกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ, สุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด

มากันครบหน้าแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นมากนัก ยกเว้นว่าจะมีเรื่องราวใหญ่โตหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และยิ่งใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า "คุยกับซี.พี." ครั้งที่ 1 ด้วยแล้ว ผู้สื่อข่าวทุกสำนักพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

งานครั้งนี้จัดขึ้นที่ชั้น 29 อาคารทรูทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย สถานที่ในการจัดแถลงข่าวหรือพูดคุยครั้งนี้แคบไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในความเป็นจริง พื้นที่ตรงนี้กว้างขวางเพียงพอที่จะจัดกิจกรรมได้สบายๆ

ผู้สื่อข่าวเกือบทุกสำนักโดยเฉพาะสายเศรษฐกิจทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า นั่งกันแน่นเต็มพื้นที่ โดยบรรยากาศของการจัดงานเป็นแบบสบายๆ ผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะนั่งเก้าอื้บนเวทีเตี้ยๆ ส่วนนักข่าวนั่งกระจายไปตามโซฟาในมุมต่างๆ

เจ้าหน้าที่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จัดงานนี้บอกรายละเอียดสั้นๆ ว่า เวทีของผู้บริหารจะใช้แค่แนะนำตัวเท่านั้น จากนั้นผู้บริหารที่ลงมาแถลงข่าวจะกระจายออกไปคุยกับผู้สื่อข่าวตามโต๊ะต่างๆ

แปลก และน่าสนใจทีเดียว

ก่อนที่จะเริ่มต้นแถลงข่าวก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารที่จะลงมาให้ข่าวเล็กน้อย เดิมที่มีเพียง 5 คน ก็เพิ่มเป็น 7 คน โดยธนากร เสรีบุรี ขอถอนตัวออกไป และเพิ่ม สุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร, สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น และอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ต้องบอกว่า 7 คนที่ลงมาพบผู้สื่อข่าวครั้งนี้น่าสนใจ เพราะบางคนไม่ค่อยได้เจอหน้าผู้สื่อข่าวหรือออกมาแถลงข่าวบ่อยนัก แม้จะขาดธนากร เสรีบุรี มือหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในจีนไปก็ตาม แต่คนอื่นๆ ก็โดดเด่นพอกัน มาดูกันว่าทั้ง 7 คนดูแลอะไรกันบ้าง

อาชว์ เตาลานนท์ ขณะนี้นั่งเป็นรองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และรองประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น น่าจะเป็นผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ผู้สื่อข่าวตามตัวง่ายที่สุด เพราะมีหมวกหลายใบทั้งหอการค้าไทย และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ซึ่งจริงๆ แล้วงานหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในมือเขามีหลายส่วน และถือเป็นคนเก่าของเครือเจริญโภคภัณฑ์

สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เขาคนนี้ทำให้ฝันของธนินท์ เจียรวนนท์ ในประเทศจีน สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างและมั่นคง อยากรู้เรื่องการลงทุนในจีนต้องถามเขาคนนี้ ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวไม่ค่อยพบหน้ามากนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยู่ในประเทศไทย ร่วมงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2539 โดยก่อนหน้านั้นเป็นนักวิชาการแล้วเปลี่ยนมาเป็นนักการทูต

ประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ ประธานคณะบริหาร กลุ่มการค้าระหว่างประเทศ เขาคนนี้ดูระบบลอจิสติกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องทำงานรองรับการค้าระหว่างประเทศที่เป็นทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูป ประเทศคู่ค้ามีมากถึง 60 ประเทศ ยอดขายปีละกว่า 10,000 ล้านบาท

สุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์ เทรด งานหลักขณะนี้คือการผลักดันข้าวบรรจุถุงตราฉัตรให้ขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีข้าวตราฉัตรจำหน่ายทั่วโลก

สุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาด บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร งานหลักเฉพาะหน้าช่วงนี้ก็คือ การรีแบรนด์สินค้าอาหารของ CP ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบให้มาเป็นแบรนด์เดียวกัน และจะต้องเพิ่มปริมาณอาหารพร้อมรับประทานให้มากขึ้น

สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. เซเว่น อีเลฟเว่น กำลังผลักดันให้โรงเรียนปัญญาภิวัตน์กลายเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมบุคลากรให้กับธุรกิจค้าปลีกของเครือเจริญโภคภัณฑ์

อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ ดูแลงานด้านการช่วยเหลือสังคม และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท

เมื่อถึงเวลาทีมผู้บริหารที่นำโดยอาชว์ เตาลานนท์ ก็ลงมาครบถ้วน เวทีเล็กๆ กลายเป็นเวทีแออัดไปทันที

อาชว์บอกว่างานนี้เป็นการทดลองครั้งแรกที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทดลองใช้รูปแบบนี้ ซึ่งเขาไม่เรียกว่าแถลงข่าว แต่เป็นการพูดคุยอย่างกันเอง เขาให้นิยามงานนี้ว่า

"อยากให้งานนี้เหมือนตลาดนัดข่าว นักข่าวสะดวก ผู้บริหารสะดวก ก็นัดหมายมาพูดคุยกัน อยากถามเรื่องอะไรก็ว่ากันไป หากไปได้ดีก็อยากจะจัดให้ต่อเนื่องสัก 3 เดือนครั้งก็ได้"

เขายังหวังอีกว่า เมื่อนักข่าวพบกับผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว ต่อไปมีปัญหาอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านส่วนกลางเลยก็ได้ แล้วการจัดงานครั้งต่อไปก็จะหมุนเวียนผู้บริหารคนอื่นๆ ลงมาพูดคุยบ้าง

จากนั้นก็ถึงเวลาแนะนำตัวของผู้บริหารแต่ละคน โดยคร่าวๆ จะแนะนำตัวและงานที่ต้องดูแล แต่ละคนใช้เวลาประมาณ 10 นาที

ผู้บริหาร 7 คน ก็ใช้เวลาไปแล้ว 70 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 10 นาที นี่แค่เป็นการเกริ่นนำเท่านั้น ยังไม่เข้าเรื่องแม้แต่น้อย ยิ่งผู้บริหารใช้เวลาแนะนำตัวไปนานเท่าไร เวลาที่ผู้สื่อข่าวจะพูดคุยกับผู้บริหารน้อยลง เพราะการพูดคุยครั้งนี้กำหนดเวลาไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง

ระหว่างที่ผู้บริหารกำลังแนะนำตัวเอง เจ้าหน้าที่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เริ่มประสานกับผู้สื่อข่าวว่าต้องการคุยกับผู้บริหารคนไหน แล้วกำหนดมุมนั่งคุยไปในตัว ทันทีที่ผู้บริหารแนะนำตัวแบบฉบับย่อเสร็จ ผู้บริหารทั้งหมดถูกแยกออกไปตามโต๊ะต่างๆ ที่จัดไว้

คราวนี้ก็มาถึงเวลาวัดเรตติ้งของผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์กันแล้วว่า ใครจะดึงผู้สื่อข่าวไปได้มากที่สุด

อันดับแรกต้องยกให้กับสารสิน วีระผล มุมนั่งคุยกับเขาคนนี้ มีผู้สื่อข่าวหนาตามากที่สุด รองลงมาก็อาชว์ เตาลานนท์ ตามมาด้วย สุวิทย์ กิ่งแก้ว

ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่จะมากันแค่คนเดียวก็จะใช้วิธีคุยกับผู้บริหารที่ต้องการคุยมากที่สุดก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนไปหาผู้บริหารคนอื่น โดยต้องยอมเสียเนื้อหารายละเอียดบางส่วนไป เพื่อให้ได้คุยกับผู้บริหารให้ได้มากที่สุด

แต่บางฉบับก็เตรียมผู้สื่อข่าวมามากกว่า 1 คน เพื่อรับมือกับงานนี้โดยเฉพาะ แต่ก็มีน้อยฉบับ ส่วนใหญ่มาคนเดียว แล้วลุยผู้บริหารทั้ง 7 คน

ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวอย่างล้นหลาม แต่มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับความสนใจน้อยสุด

เขาคนนั้นก็คือ อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านสำนักประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งงานหน้าที่หลักของเขาก็คือ การดูแลงานด้านช่วยเหลือสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์

ผู้สื่อข่าวที่เข้ามาคุยกับเขาคนนี้ นับไปนับมาแล้วมีแค่เพียง 1 คน นั่นก็คือ "ผู้จัดการ" เขาบอกว่า งานด้านสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ทำมานานเหมือนกับปิดทองหลังพระ คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ คนทั่วไปในความหมายของอภัยชนม์ ไม่รู้ว่ารวมไปถึงผู้สื่อข่าวด้วยหรือไม่

ว่ากันว่างานนี้ผู้บริหารบางคนต้องตอบคำถามเดิมอยู่หลายรอบ เพราะผู้สื่อข่าวมีการหมุนเวียนเข้ามา ก็เริ่มถามกันใหม่ ตอบกันใหม่อีกรอบ

จริงๆ แล้วงานนี้น่าจะเป็นการทำ PRM (Press Relationship Management) น้องๆ CRM นั่นเอง เพราะช่วงหลังการพบปะกับผู้สื่อข่าวของผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ปล่อยให้แต่ละบริษัทจัดการกันเอง ผู้บริหารระดับสูงค่อยๆ หายหน้าหายตาไป

หลังจบงานนี้ สื่อทุกฉบับก็จะมีข่าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ทยอยออกเป็นระยะ จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์เลยก็มี

ภาพรวมของงานออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ผู้สื่อข่าวชอบ แม้จะพูดคุยกับผู้บริหารทุกคนที่ลงมาไม่ได้ทุกคน แต่ก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการข่าวอะไร

เสียอย่างเดียว ไม่มีผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องกล้ายางลงมาพูดคุยด้วย ทั้งๆ ที่หลายคนให้ความสนใจและต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก 3 เดือน ตลาดนัดข่าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะกลับมาเปิดท้ายขายของกันอีกครั้งหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.