Hobby + Business = Passion2

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจถือเป็นความสามารถพิเศษที่ควรค่าแก่การลอกเลียนแบบของไฮเนคกี้ เพราะเขาสามารถนำ "passion" หรืองานอดิเรกเข้ามาผสานกับการทำธุรกิจของเขาได้อย่างแนบเนียน

Passion แรกที่เขานำมาก่อร่างเป็นธุรกิจอย่างรูปธรรม และโกยเงินได้ไม่น้อย นั่นก็คือ การขับเครื่องบินเล็ก

อย่างที่รู้โดยทั่วกัน ไฮเนคกี้โปรดปรานการขับเครื่องบินเล็กเป็นอย่างมาก เล่าต่อกันมาว่า ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเขามีเครื่องบินเล็กเป็นของตัวเองอย่างน้อย 4 ลำ

เพียงไม่นานหลังจากที่กรมการบินพาณิชย์อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเป็นเจ้าของเครื่องบินเล็ก ไฮเนคกี้ก็เริ่มต้นธุรกิจนายหน้าจัดซื้อเครื่องบินเล็กของบริษัทไปเปอร์ทันทีในช่วงกลางปี 2538

นอกจากจะผันตัวเองจากลูกค้ากลายมาเป็นคู่ค้ากับไปเปอร์ ไฮเนคกี้ยังสามารถโน้มน้าวใจเพื่อนนักธุรกิจให้กลายมาเป็นลูกค้าของเขาได้ด้วย

"สาเหตุที่ไมเนอร์สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบินไปเปอร์ เพราะเห็นว่าเครื่องบินเล็กจะเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจในประเทศไทย" ไฮเนคกี้เคยกล่าวไว้ในนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับพฤษภาคม 2539

ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยหลายคนนิยมขับเครื่องบินเล็กเยี่ยงกีฬาชั้นสูง ขณะที่อีกส่วนชื่นชอบ "เครื่องจักรเร่งเวลา" ที่มีสนนราคาสูงกว่า 5-20 ล้านขึ้นไป ก็เพื่อประหยัดเวลาเดินทาง

นพพร พงษ์เวช, ประจักษ์ สีบุญเรือง, ธีระ ต.สุวรรณ, ภาสุรี โอสถานุเคราะห์, รชฎ กาญจนวณิชย์, ชาญ โสภณพนิช, กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน

สุวิทย์ หวั่งหลี เป็นเพื่อนนักบินคนสนิทของไฮเนคกี้ อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนธุรกิจและเป็นประธานบริษัทของโรงแรมแมริออท รอยัล การ์เด้น ริเวอร์ไซด์ (ปัจจุบันคือ กรุงเทพฯ แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา)

การเสียชีวิตของสุวิทย์ในอุบัติเหตุเครื่องบินส่วนตัวตกเมื่อปี 2537 จึงทำให้ไฮเนคกี้ต้องเสียใจที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะเขาเป็นคนแนะนำให้เพื่อนเข้าสู่วงการการบิน

ไฮเนคกี้ไม่ใช่นักบินมือสมัครเล่น เขาเคยขับเครื่องบินเล็กบินทั่วประเทศไทย บินข้ามทวีปจากลอนดอนสู่ซิดนีย์ และเขาเป็นนักบินเครื่องบินเล็กคนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บินสู่ประเทศพม่าในเส้นทางบินรอบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเขา

เช่นเดียวกับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องบินเล็กของเขา ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป

"ถึงวันนี้ เราโตเกินกว่าที่จะทำธุรกิจให้กับไปเปอร์อีกต่อไป เพราะเราต้องการรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจการบินและเซสนาก็เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า"

ไฮเนคกี้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนไปซื้อแฟรนไชส์ของบริษัทเซสนาในปี 2544 ทว่าเหตุผลที่แท้จริงก็คือ เซสนาผลิตเครื่องบินเจ็ต ขณะที่เขาเองก็อยากได้เครื่องบินเจ็ตมาโดยตลอดและเพิ่งเรียนจบหลักสูตรขับเครื่องบินเจ็ตจากประเทศสหรัฐอเมริกา

"เครื่องบินเล็กยังไม่ถือว่าเป็นธุรกิจหลัก มีสัดส่วนเพียง 1-3% ของรายได้ในไมเนอร์คอร์ปฯ แต่มีมาร์จินสูง ก็ถือว่าเป็นความชอบที่ทำกำไรได้" ประภารัตน์ ตังควัฒนา สวมบท Investor Relation ให้ข้อมูล

การสำรวจระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยที่จบหลักสูตรการขับเครื่องบินเล็กจากสโมสรการบินพลเรือนไม่ต่ำกว่า 300 คนต่อปีเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ ไมเนอร์คอร์ปฯ ยังทำธุรกิจให้บริการด้านการบิน หรือ chartered flight โดยจัดตั้งเป็นบริษัท Minor Aviation จำกัด ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นไมเนอร์คอร์ปฯ เคยร่วมหุ้นใน บริษัท SGA (Siam General Aviation) กับพรรคพวกที่รักเครื่องบินเล็กมาแล้ว เพื่อเรียนรู้ธุรกิจชาร์เตอร์ไฟลต์

นอกจากการขับเครื่องบินเล็ก ไฮเนคกี้ยังหลงใหลการขับรถแข่งอย่างมาก โดยรถแข่งแต่ละคันของเขา ล้วนแต่เป็นเครื่องยนต์ระดับโปรในการแข่งรถ

แม้จะไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง แต่เมื่อปี 2510 สมัยเพิ่งสร้างธุรกิจไฮเนคกี้เคยใช้ความชอบตรงนี้มาหาทุนทำธุรกิจ ผ่านการขอเงินสปอนเซอร์จากบริษัทฟอร์ด ในการสร้างสถิติขับรถเร็วจากสิงคโปร์สู่กรุงเทพฯ ภายในเวลาไม่เกิน 30 ชั่วโมง

ข้อตกลงก็คือ ถ้าเขาทำได้เขาจะได้เงินสปอนเซอร์ไปใช้ แต่ถ้าทำไม่ได้เขาต้องออกเงินเอง ด้วยสภาพของถนนในยุคนั้น และภัยร้ายตามแถบชายแดน การขับรถทำสถิติครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องท้าทาย และกลายเป็นข่าวระดับภูมิภาคเลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ไฮเนคกี้ก็ดังไปแล้วเรียบร้อย

หลังจากชนะพนันครั้งนั้น ก็ตามมาด้วยการแข่งรถอีกหลายหนทั้งในและนอกสนามแข่งขัน พร้อมกับชื่อเสียงของเขาในฐานะนักแข่งรถ

ในปีหลังๆ ไฮเนคกี้ใช้การแข่งรถในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจของตัวเอง

ครั้งที่สำคัญก็คือ การสร้างแบรนด์ผ่านการเป็นสปอนเซอร์ให้กับนักแข่งรถวัยเพียง 17 ปีที่ชื่อ James Grunwell เข้าแข่ง 2006 Formula BMW Asia ภายใต้ชื่อทีม "The Pizza Company Team Meritus" ซึ่งจะส่งผลให้แบรนด์เดอะพิซซ่าฯ โชว์หราท้าสายตาชาวโลก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก

เบื้องต้น แบรนดิ้งครั้งนี้จะส่งผลดีต่อ เดอะพิซซ่าฯ ในประเทศจีน อันเป็นตลาดหลักในต่างประเทศที่ไฮเนคกี้มุ่งมั่นจะทำกำไรให้ได้ก่อนปี 2553 เพราะกีฬาแข่งรถเป็นกีฬายอดฮิตติดอันดับต้นๆ ของชาวจีน

เชื่อกันว่า เหตุผลที่ไฮเนคกี้เลือกเป็นสปอนเซอร์ให้กับ James Grunwell เพราะเด็กหนุ่มนักแข่งตาน้ำข้าวคนนี้มีอะไรคล้ายกับเขา คือเติบโตและอาศัยในเมืองไทย อีกทั้งยังมุ่งมั่นจะเป็นนักแข่งรถระดับโลก ขณะที่ไฮเนคกี้ก็อยากให้แบรนด์ พิซซ่าของเขาขึ้นเวทีโลกเหมือนกัน

บ้างก็เชื่อว่า James Grunwell คือตัวแทนความฝันในวัยเยาว์ของไฮเนคกี้ เพราะถ้าวันนั้นเขาไม่เลือกเป็นนักธุรกิจชั้นนำ วันนี้เขาอาจจะเป็นนักแข่งรถมืออาชีพที่มีชื่อเสียงก้องโลกไปแล้ว

การดำน้ำ scuba เป็นอีก passion ที่ไฮเนคกี้พยายามจะหาเวลาว่างให้ตัวเอง ให้ได้อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เพื่อปลีกวิเวกดำดิ่งสู่โลกแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริงที่อยู่ใต้ทะเลลึก

แม้จะเป็นการพักผ่อน แต่ครั้งหนึ่งไฮเนคกี้ก็เคยนำงานอดิเรกนี้มาใช้กับธุรกิจของเขา นำภาพตอนที่เขาดำน้ำลงไปป้อนอาหารปลาฉลามขาวในทะเลแดง ไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ "เชื่อหรือไม่" ริปลีย์ที่พัทยาและฮ่องกง

ว่ากันว่า ความสัมพันธ์ของนักธุรกิจมักเริ่มที่กีฬา และกีฬาทั้ง 3 ประเภท ล้วนแต่ทำให้ไฮเนคกี้สามารถสั่งสมและสานสัมพันธ์กับนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยได้หลายคน เช่น ม.ล.อัศนี ปราโมช ที่มักไปดำน้ำกับเขาบ่อยๆ หรือสุวิทย์ หวั่งหลี ที่เคยเป็นเพื่อนนักบินคนสนิทของเขา

สำหรับไฮเนคกี้ เกมกีฬายังเป็นเรื่องของเป้าหมายในชีวิตอีกอย่างที่ผู้บริหารในทีมของเขาต้องพยายาม "achieve" ให้ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นสัญชาตญาณนักต่อสู้บ่อยๆ "ผมเชื่อว่า ทีมผู้บริหารของผมประสบความสำเร็จในเกมกีฬาของเขาระดับหนึ่ง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.