|
private equity ถึงยุครุ่งเรืองในยุโรป
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อไม่นานมานี้ J. Sainsbury ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ และ Alliance Boots เชนร้านขายยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ตกเป็นเป้าหมาย การซื้อกิจการของบริษัทที่ซื้อกิจการด้วยวิธีที่เรียกว่า leveraged-buyout อย่างบริษัท Kohlberg Kravis Roberts และ Blackstone จากสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทประเภทเดียวกันนี้ของอังกฤษเอง อย่าง Permira ทำให้สหภาพแรงงานในยุโรป ซึ่งไม่พอใจการลอยแพพนักงาน ที่มักเกิดขึ้นเสมอหลังการซื้อกิจการ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเลิกยกเว้นภาษีให้แก่เงินกู้ที่กองทุนเหล่านี้กู้มาเพื่อใช้ในการซื้อกิจการ และประท้วงบริษัทลงทุนประเภทนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่จัดอยู่ในประเภท private equity หรือการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น
ในปีที่แล้ว กองทุนที่เรียกว่า private equity ของยุโรป มีขนาดกองทุน 114,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปี 2004 แต่ในปีนี้คาดว่าขนาดของกองทุนยังจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 130,000 ล้านดอลลาร์ และแม้ว่าข้อตกลงการซื้อกิจการรายใหญ่ที่มีมูลค่าสูงๆ จะยังคงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ยุโรปกำลังจะกลายเป็นเป้าหมายที่กองทุนประเภทนี้โปรดปรานมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง
เพราะการซื้อกิจการในยุโรปยังมีราคาถูก และมีข้อดีอื่นๆ อีกมาก บริษัทในยุโรปไม่เพียงมีทรัพย์สินมากมายที่จะนำออกขายได้ แต่การที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมเป็นหนึ่งเดียวในนามของสหภาพยุโรป (European Union) ยังเปิดโอกาสให้สามารถ ซื้อและควบรวมกิจการขนาดใหญ่ข้ามประเทศได้ด้วย จึงไม่แปลกที่บรรดาผู้จัดการกองทุน private equity ข้ามชาติต่างกำลัง เล็งบริษัทในยุโรปตาเป็นมัน
อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการของ private equity ยังคงมีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ในสายตาของชาวยุโรป นักการเมืองเยอรมนีมักกล่าวโจมตีบริษัท private equity ว่าเป็นนายทุนหน้าเลือด แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี Tony Blair ของอังกฤษ ซึ่งปกติเป็นมิตรกับนักลงทุนยังเตือนบริษัทประเภทนี้ให้ประพฤติตัวอย่าง "รับผิดชอบ" แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่า private equity ได้ช่วยให้รายได้ของบริษัททั่วยุโรปเพิ่มพูนขึ้นก็ตาม
ธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายการซื้อของกองทุน private equity ในขณะนี้ได้แก่ บริษัทโทรคมนาคมและสื่อ โดยเฉพาะบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท private equity อย่างเช่น 3i และ Permira ของอังกฤษ ได้เข้าซื้อ VNU ในเนเธอร์แลนด์ Eircom ในไอร์แลนด์ ProSienbenSat ในเยอรมนี และ TDC ในเดนมาร์ก ด้วยเงินลงทุน 13,000 ล้านยูโร ซึ่งทำสถิติการซื้อกิจการแบบ leveraged buyout ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นักวิเคราะห์ชี้ว่า Vodafone ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพอ่อนแออาจตกเป็นเป้าหมายการซื้อกิจการรายต่อไป
การซื้อกิจการต่างๆ ที่ผ่านมาข้างต้น ช่วยทลายกำแพงที่ขวางกั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ของยุโรป ทำให้หลังถูกซื้อกิจการบริษัทของยุโรปสามารถเสนอบริการหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งบริการโทรศัพท์ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ลูกค้าได้ เนื่องจากกองทุน private equity จะขายทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกิจการที่ตนซื้อมา และจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายของบริษัทที่ตนซื้อมาเสียใหม่ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ต่อไปยุโรปจะมีช่องโทรทัศน์มากขึ้นและลูกค้าจะเสียค่าบริการโทรศัพท์ที่ถูกลง
กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในยุโรปเป็นเป้าหมายอันหอมหวานเช่นกันของ private equity เพราะกิจการเหล่านี้มักครอบครองอสังหาริมทรัพย์มากมาย ซึ่ง private equity จะนำออกขายได้ ถ้าหากการเจรจาซื้อ J. Sainsbury เชนซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ประสบความสำเร็จในกลางเดือนเมษายนนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า J. Sainsbury คงจะขายร้านสาขาต่างๆ ของตน แล้วใช้วิธีเช่ากลับมา โดยการขายร้านออกไปจะทำให้ได้เงินกลับมาประมาณ 5-7.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งสามารถจะนำไปแตกธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ช่วยให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Wal-Mart ได้ และถ้าหากการซื้อห้างดังกล่าวสำเร็จ ก็คงจะมีข้อตกลงซื้อกิจการแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับกิจการอย่าง Nordea ธนาคารใหญ่สุดของสแกนดิเนเวีย และห้าง Printemps ของฝรั่งเศส
ในขณะที่ private equity อ้างว่าการซื้อกิจการของพวกเขาจะช่วยให้ยุโรปแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ตกเป็นเป้าการซื้อยังไม่แน่ใจนัก นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ อีก อย่างเช่นในการเจรจาซื้อ J. Sainsbury นั้น CEO Justin King ของห้างดังกล่าว ซึ่งจะได้รับผลกำไรจากการขายกิจการครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อตกลงซื้อขายกิจการครั้งนี้ และเขากำลังถูกผู้คุมกฎของอังกฤษจับตามองว่า การกระทำของเขาเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
และเมื่อไม่นานมานี้ Luc Vandevelde ประธาน Carrefour ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ต้องประกาศลาออก หลังจากถูกคณะกรรมการบริษัทตำหนิที่ไปเจรจากับกองทุน private equity หลายครั้ง ขณะนี้กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นทั่วยุโรป ซึ่งกล่าวหาบริษัท private equity ที่มักปกปิดแผนการที่จะทำกับกิจการที่ตนซื้อเป็นความลับ กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎเข้มงวดกับกองทุนเหล่านี้มากขึ้น และเรียกร้องความโปร่งใสจากกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและพลังงาน
ด้านบริษัท private equity พยายามยกตัวเลขขึ้นปกป้องตัวเองจากข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการตัดเฉือนสินทรัพย์ของกิจการที่ซื้อมาออกขาย โดยชี้ว่า ผลการศึกษาของ Ernst and Young พบว่า บริษัท private equity โดยทั่วไปสามารถเพิ่มมูลค่าของกิจการที่ถูกซื้อไปเป็นสองเท่าภายในเวลา 3 ปีครึ่งหลังจากการซื้อ ขณะที่รายงานของ Citigroup แสดงว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การซื้อกิจการของ private equity ในยุโรป ช่วยเพิ่มพูนรายได้ของบริษัทที่ถูกซื้อมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เทียบกับกำไรเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของดัชนี FTSE ในตลาดหุ้นลอนดอน ซึ่งแสดงถึงผลกำไรที่น้อยกว่าของบริษัทจดทะเบียน ส่วนผู้บริหารกองทุน private equity ก็พยายามจะบอกว่า ขณะนี้ private equity กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างล้นหลามจากที่เมื่อ 10 ปีก่อนแทบไม่มีนักลงทุนเหลียวแล
อย่างไรก็ตาม private equity ก็ตระหนักดีว่า จำเป็นต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เหมือนเสือหิวของตน และได้เริ่มแผนการประชาสัมพันธ์ระดับโลก เพื่อจะลบภาพลักษณ์นี้โดยในการประชุมบริษัท private equity ประจำปีที่ Frankfurt เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลในวงการ private equity เรียกร้องให้เพื่อนๆ ร่วมวงการช่วยกันเพิ่มความโปร่งใส เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มาควบคุม ขณะที่กลุ่มบริษัท private equity ในยุโรปกำลังช่วยกันร่างหลักปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งรวมถึงการขอให้บริษัท private equity เปิดเผยแผนการที่จะทำกับบริษัทที่พวกเขามีแผนจะซื้อกิจการให้สาธารณชนได้รับรู้
แต่การที่ต้องลอยแพพนักงานซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการซื้อกิจการ ทำให้ private equity ยังคงยากจะดิ้นหลุดจากภาพลักษณ์ของนายทุนหน้าเลือด สหภาพแรงงานในอังกฤษชี้ว่า มีพนักงานตกงาน 4,000 คน หลังจากการซื้อกิจการ Automobile Association และ Birds Eye ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งของอังกฤษ แต่ private equity พยายามอ้างผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Nottingham ซึ่งพบว่า แม้การจ้างงานจะลดลงราว 5 เปอร์เซ็นต์ในปีแรกหลังการซื้อกิจการ แต่กลับเพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์หลังผ่านไป 4 ปี
บริษัท private equity ในสหรัฐฯ กลับไม่เจอปัญหาอย่างบริษัทประเภทเดียวกันในยุโรป ขณะนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ ในสหรัฐฯ คือผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับสองของกองทุน private equity ซึ่งหมายความว่า ผลประโยชน์ที่ได้จาก private equity ได้ไปถึงทุกคนรวมถึงครูและข้าราชการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุน private equity ในสหรัฐฯ ไม่ถูกประท้วงต่อต้านเหมือนในยุโรป
และแม้แต่ในยุโรปเอง กองทุนบำเหน็จบำนาญในยุโรปก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุน private equity ของยุโรปเช่นกัน โดยมีสัดส่วนการลงทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ในกองทุน private equity เพิ่มจากที่เคยอยู่ในระดับเกือบ 0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 6 ปีก่อน และยังมีแผนจะเพิ่มการลงทุนใน private equity ในปีนี้อีกด้วย แม้ในท่ามกลางกระแสต่อต้าน private equity ที่ยังคงแรงอยู่ในปัจจุบัน
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 26 มีนาคม 2550
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|