House-n โครงการบ้านแห่งอนาคตของ MIT


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดศตวรรษที่แล้วทั้งสถาปนิก และนักออกแบบต่างพากันติดข้องอยู่ในใจว่า ทำไมอุตสาหกรรมสร้างบ้านจึงไม่สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ แบบเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์หรือผลิตเครื่องบิน.... นิตยสาร Metropolis ฉบับเดือนธันวาคม เกริ่นนำแล้วร้อยเรียงเรื่องราวต่อไปว่า ทั้งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และเครื่องบินต่างอยู่ตรงจุดสูงสุดของยุคเครื่องจักร มีระบบวิศวกรรมโดยละเอียด (precision-engineering) ครบครันอยู่ในโรงงานพร้อมวัสดุและเทคโนโลยี ทันสมัยล่าสุด โดยเฉพาะการเน้นเรื่องรูปทรงเพรียวลมแบบ aerodynamic นั้น ล้วนเป็นไปตามความต้องการใช้งานทั้งสิ้น

แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างบ้านกลับตรงกันข้าม เพราะต้องก่อสร้างและประกอบตัวบ้านอย่างเหนื่อยยาก ณ จุดที่สร้าง ทำให้นักออกแบบ สถาปนิก และรัฐบาล ต้องทุ่มเทเวลา และงบมหาศาลสำหรับความพยายามในการบีบให้อุตสาหกรรมก่อสร้างหันมาใช้วิธีสร้างบ้านเป็นส่วนๆ แล้วนำไปประกอบทีหลัง (prefab)

และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว Kent Larson สถาปนิกแห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้ใช้ความพยายามทุ่มเทคิดค้นระบบการสร้างบ้านแห่งอนาคต ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสร้างบ้านอย่างแท้จริง และตลอดไป โดยบ้านอัจฉริยะ (smart home) แห่งศตวรรษที่ 21 ของ Larson จะถูกกำหนดโดยความต้องการของ ผู้อยู่อาศัยโดยแท้จริง "มันเป็นเรื่องของการคิดค้นวิธีการสร้างบ้านที่สามารถปรับให้เข้ากับภูมิอากาศและผู้คนที่แตกต่างกันได้ สิ่งที่เรากำลังผลักดันก็คือ บ้านที่สร้างด้วยกระบวนการที่สามารถปรับตามความต้องการทีละมากๆ ได้ (mass-customization process)"

ในสมุดปกขาวที่ MIT ตีพิมพ์ในเดือนกันยายนปีที่แล้วคือ A New Epoch พูดถึง mass-customization process ว่า "เป็นการแผ้วถางทางให้บริษัทก่อสร้างหน้าใหม่ๆ มีโอกาสเข้าสู่ตลาดก่อสร้างมูลค่า 8.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีได้"

MIT จึงได้ตั้งชื่อโครงการบ้านแห่งอนาคตนี้ว่า House-n โดยตัว "n" เป็นตัวอักษร สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ของคำว่า variable นั่นเอง

หนึ่งในตัวเร่งโครงการนี้ก็คือ การสร้างบ้านอัจฉริยะที่ติดตั้งเครือข่าย sensing networks ซึ่งจะช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์ของระบบ health-care system ในอเมริกาที่กำลังส่อแววว่า ต้องรับภาระหนักเกินไป เพราะอีก 30 ปีหรือกว่านั้น สหรัฐอเมริกาจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งเกินไปของระบบ health-care

คำตอบของ MIT สำหรับปัญหานี้ก็คือ การยกระดับให้บ้านมีสมรรถนะสูงขึ้น เพื่อ ให้สามารถรองรับความต้องการของประชากรสูงอายุได้ โดยบ้านต้นแบบที่สร้างขึ้นจะมีระบบติดตาม (monitoring system) ที่สามารถติดตามกิจกรรมของผู้อยู่อาศัยได้ เช่น การส่งสัญญาณเตือนในกรณีที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว หรือการเตือนให้รับประทานยา เป็นต้น

หากเปรียบเทียบกับการผลิตรถยนต์ หัวใจของ House-n ก็คือ chassis ที่มีอุปกรณ์ sensing ราคาถูกติดตั้งอยู่เต็ม อาทิ LEDS, ลำโพง, จอ display, ระบบไฟอัตโนมัติ, เครื่อง heat sensor และกล้องถ่ายรูปขนาดมินิที่สามารถเสียบปลั๊กใช้งานได้ทุกเมื่อ

ปัญหาตามมาก็คือ ถ้าโครงการ House-n สามารถหลุดจากโครงการทดลองมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เมื่อลูกค้าสามารถออกแบบ บ้านของตัวเองได้ แล้วสถาปนิกจะมีงานทำหรือ?

สมุดปกขาว A New Epoch ให้คำตอบว่า ในที่สุดแล้ว mass-cutomization จะทำให้สถาปนิกมีบทบาทสำคัญในการออกแบบบ้านสำหรับตลาดระดับล่าง (mass market) จากการที่สถาปนิกใช้ระบบออกแบบ Web-based ซึ่งสถาปนิกสามารถเข้าไป มีบทบาทตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรกของการสร้างระบบออกแบบที่ลูกค้ารายได้ต่ำสามารถกำหนด และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของตนเองได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.