|
ธปท.หั่นจีดีพีเหลือ3.8 "บริโภค-ลงทุน"ทรุด
ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
วานนี้ (24 เม.ย.) นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2550 ลงอีก 0.2% ทำให้จีดีพีล่าสุดเหลือเพียง 3.8-4.8% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 4-5% เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคชะลอตัวลงกว่าที่ กนง.คาดการณ์ไว้ แต่ กนง.เชื่อว่าจะมีการใช้จ่ายทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นผลมาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองปรับตัวดีขึ้น และจะช่วยกระตุ้นให้การลงทุนฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปี 2551
“ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงมีผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนเท่านั้น ปีนี้คาดว่าการลงทุนจะฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่มีเพียงโครงการต่อเนื่องเท่านั้นยังคงเดินหน้าต่อไปได้ แต่โครงการใหม่ๆ คาดว่าจะยังชะลอการตัดสินใจการลงทุนต่อไปจนถึงต้นปีหน้า หลังจากที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน ถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน รวมถึงปัจจัยการลงทุนเช่นกัน ดังนั้นหากเงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยไม่สูงมาก และการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นจะช่วยเสริมความมั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้ ในปีนี้ กนง.คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลออยู่ที่ 2-3% จากเดิมที่ได้ประเมินไว้ครั้งที่แล้วในระดับ 4.5-5.5% ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 9-10% จากเดิม 10-11% โดยการลงทุนที่ชะลอตัวทั้งภาคเอกชนและภาครัฐส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ชัดเจนด้านการเมืองในปีนี้เป็นสำคัญ ทำให้นักลงทุนมีการเลื่อนการลงทุนออกไปอีก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอต่อเนื่องคาดว่าปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3.5% จากเดิม 3.5-4.5% แต่การบริโภคในส่วนของภาครัฐเชื่อว่าขยายตัวดีกว่าที่ประมาณการณ์ครั้งที่แล้วอยู่ที่ระดับ 8-9% จากเดิม 4.5-5.8% เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ในการบริโภคสูงกว่าการลงทุน
สำหรับภาคการต่างประเทศ การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวดีขึ้นมากกว่าที่คาด ขณะที่การขยายตัวของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)มีการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ดังนั้น กนง.คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จากการประมาณการครั้งก่อนที่ 4.2%
กนง.เชื่อมั่นว่าการส่งออกจะเป็นอีกตัวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ จึงได้ปรับเพิ่มการประมาณการการขยายตัวของการส่งออกเป็น 9-12% จาก 7.5-10.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเช่นเดียวกันและได้เพิ่มประมาณการนำเข้าเป็น 7.5-10.5% จาก7-10% ในครั้งก่อน จึงคาดว่าประเทศไทยจะเกินดุลการค้าทั้งปี 3,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะเกินดุล 2,000-4,000 ล้านเหรียญฯ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 4,000-6,000 ล้านเหรียญฯ จาก 2,500-4,500ล้านเหรียญฯ ต่อปี ซึ่งเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แม้ กนง.จะตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 56.5 เหรียญต่อบาร์เรล เป็น 58.8 เหรียญต่อบาร์เรล แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกนง.ได้ประมาณการเท่ากับครั้งก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5-2.5% และใน 8 ไตรมาสข้างหน้า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ก็เชื่อว่าจะไม่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปกว่าเป้าหมายที่กนง.กำหนดไว้ที่ระดับ 0-3.5%
“ในการประมาณการเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่มีการตั้งสมมติฐานว่าหากในอนาคตรัฐธรรมนูญไม่ผ่านและการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจหรือเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรบ้างในอนาคต เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลชุดนี้คาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้” นายเมธีกล่าว
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 กนง.ประมาณการว่าจะขยายตัวในระดับ4.3-5.8% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5.5% คงประมาณการการอุปโภคภาครัฐและเอกชนที่จะขยายตัว4-5%การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนที่จะขยายตัว 7.5-8.5% และประมาณการการขยายตัวของการส่งออกที่ 5.5-8.5% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน ขณะที่ปรับเพิ่มการขยายตัวของการนำเข้าเป็น 8-11% จาก 7-10% ในการประมาณการครั้งก่อนโดยคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 300 ล้านเหรียญฯและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1,000-4,000 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ธปท.โดย กนง.ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง นับจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ที่ผ่านมา มีการปรับประมาณการมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกช่วงปลายปีปรับลดเหลือ 4.5-5.5% ต่อมา 26 ม.ค.50 ปรับลดเหลือ 4.0-5.0% และล่าสุดปรับมาเป็น 3.8-4.8%
ช่วงเช้าวานนี้ ก่อน ธปท.ปรับลดจีดีพี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน ให้ความเห็นถึงแนวทางการปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ ธปท.จะประกาศในช่วงบ่ายว่า หากอยู่ในระดับร้อยละ 4 ไม่น่าจะมีปัญหาต่อภาพรวม และไม่ส่งผลต่อจิตวิทยาด้านการลงทุนมากนัก เพราะเป็นการสะท้อนภาพที่แท้จริง แต่หากต่ำกว่าร้อยละ 4 คงอาจจะเกิดปัญหา แต่เชื่อว่าการปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจคงไม่มีผลต่อความเชื่อมั่น หรือกระทบต่อจิตวิทยาของผู้บริโภค เพราะเป็นการสะท้อนภาวะที่แท้จริง
ขณะที่นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลัง ธปท.แถลงการณ์ ว่า จะไม่มีผลต่อภาคการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขหลังการปรับลดแล้วยังอยู่ในระดับใกล้เคียงที่ได้ประเมิณไว้ที่ร้อยละ 4-4.5 แต่ยอมรับว่าปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคเป็นเรื่องหลักที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยภาครัฐควรเร่งฟื้นความเชื่อมั่นกลับคืน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ การปรับลดดอกเบี้ย สถานการณ์ราคาน้ำมันในภาวะปัจจุบันจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 นี้.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|