|
การเมืองกดดันดัชนีหุ้นจี้รัฐฯกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา สมาคมฯได้มีการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ ถึงแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน-ธันวาคม 2550 และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันและข้อเสนอแนะให้แก่รัฐบาล
รวมถึงแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดการณ์ EPS Growth ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ กลุ่มธุรกิจและหุ้นที่แนะนำให้ลงทุน รวมถึงความคิดเห็นว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิหรือไม่ และคำแนะนำให้นักลงทุน โดยมีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์แสดงความเห็นรวม 22 แห่ง
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงปลายเมษายน - ธันวาคม 2550 อันดับแรก ที่นักวิเคราะห์91% เห็นตรงกัน คือ การที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง อันดับที่สอง ได้คะแนนเท่ากันสองอันดับ 64% คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย มีกำหนดการเลือกตั้งชัดเจน หรือเป็นไปตามกำหนดเดิม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ มาตรการด้านภาษี และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
สำหรับปัจจัยลบที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นตรงกัน เป็นอันดับแรก คือ ปัจจัยทางการเมือง ที่นักวิเคราะห์ 100% ระบุเป็นปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่จะที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และความล่าช้าของการเลือกตั้ง
อันดับสอง สัดส่วน 59% คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ที่ชะลอตัวลงจากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวของการลงทุน อันดับที่สาม 32% คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคส่งออกชะลอตัว อันดับที่สี่ มีสองประเด็น คือ สถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้และการก่อการร้ายต่างๆ และ การแข็งค่าของเงินบาท มีผู้ตอบ 23% เท่ากัน
ด้านความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ในการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น นักวิเคราะห์48% มีความเชื่อมั่นเล็กน้อย 43% มีความเชื่อมั่นปานกลาง และมี 10% ที่ไม่มีความเชื่อมั่น ส่วนด้านสังคมและการเมือง นักวิเคราะห์ 53% เชื่อมั่นเล็กน้อย ขณะที่ผู้ที่เชื่อมั่นปานกลาง และไม่มีความเชื่อมั่น มีจำนวนเท่ากันที่ 24%
นายสมบัติ กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่นักวิเคราะห์มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐดำเนินการ อันดับแรกที่นักวิเคราะห์เห็นตรงกันถึง 81%คือ มาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยแนะให้เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงค์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและนักลงทุน โดยอาจลดภาษีภาคธุรกิจ รวมทั้งมาตรการลดดอกเบี้ย อันดับที่สอง มีผู้ตอบ 24% คือ ด้านการเมือง โดยแนะรัฐให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และดำเนินการให้มีการเลือกตั้งได้ตามกำหนด
ทั้งนี้ จากผลสำรวจประมาณการตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2550 พบว่า นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการตัวเลขต่างๆ เล็กน้อยจากผลสำรวจเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth เฉลี่ยของปีนี้ลดลงเล็กน้อยเป็น 4.0% เทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่ 4.2% ขณะที่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth เฉลี่ยมีการปรับขึ้นจากเดิม 2.6% เป็น 3.2% จากค่า EPS กลุ่มอสังหาฯเพิ่มขึ้นเป็น 32% จากครั้งก่อน18%และกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้น 22.2% จากครั้งก่อนที่10%
สำหรับตัวเลขสำคัญ ณ สิ้นปี นักวิเคราะห์คาดว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 35.2 บาท แข็งขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 35.7 บาท สำหรับอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ในปลายปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index สิ้นปีนี้เฉลี่ยคาดว่าใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้เดิม คือ อยู่ที่ 731 จุด จากเดิม 729 จุด แต่เชื่อดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวไม่มากจากการเมืองกดดัน โดยมีสำนักวิจัยที่พยากรณ์ดัชนีสิ้นปีสูงสุดที่ 770 จุดและสำนักวิจัยที่คาดการณ์ดัชนีวันสิ้นปีไว้ต่ำที่สุดที่ 700 จุด
นายสมบัติ กล่าวว่า นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่หรือคิดเป็น 77 % เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะ ราคาหุ้นไทยนับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนนั้น นักวิเคราะห์แนะนำ ธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นอันดับต้น ๆ สำหรับกลุ่มอื่นที่แนะนำรองลงมาคือ พลังงาน โรงไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง และชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์
ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง ที่จะกระตุ้นยอดสินเชื่อและช่วยให้ผลประกอบการของกลุ่มนี้มีการเติบโต อสังหาริมทรัพย์ก็จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเช่นกัน และยังได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วยโดยหุ้นที่วิเคราะห์แนะนำให้ลงทุน ตรงกันหลายสำนักวิจัย ได้แก่ AP, BBL, KBANK, SPALI, TOP เป็นต้น
นอกจากนี้ รวมถึงแนะนำให้แก่นักลงทุนให้หาจังหวะลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีอัตราเงินปันผลสูง ใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมือง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|