|

ASPทุ่ม500ล.ลุยตปท.เล็งซื้อบ.เพิ่มทางเลือก
ผู้จัดการรายวัน(24 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เอเชีย พลัส เดินหน้าลงทุนต่างประเทศหลังก.ล.ต.อนุมัติ เปิดเกณฑ์คัดเลือกผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ย้อนหลัง 15% ขึ้นไป "ก้องเกียรติ"เผยปีนี้เตรียมลงทุน 5 กองทุนอย่างน้อย 500 ล้านจากพอร์ตบริษัทที่มีกว่า 3.5 พันล้าน เปรยสนใจลงทุนในบริษัทขนาดเล็ง-กลาง เพิ่มทางเลือก ระบุโบรกฯนอกมีรายได้หลักมาจากการลงทุน ขณะที่งานด้านวาณิชฯมีดีลควบรวม 8 ดีล พร้อมดีลไอพีโออีก 5 บริษัท
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะไปลงทุนในต่างประเทศโดยเป็นการลงทุนผ่านกองทุนใหม่อีก 4 กองทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถลงทุนได้ทั่วโลกทุกสินค้า มูลค่าลงทุนอย่างน้อยกองทุนละ 100 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือกแล้ว 1 กองทุน และอยู่ระหว่างเลือกผู้ดูแลสินทรัพย์(คัสโตเดียน) ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส2/50ก็สามารถไปลงทุนได้ จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)อนุมัติให้โบรกเกอร์สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้
สำหรับในปีนี้บริษัทจะลงทุนในต่างประเทศรวมจำนวน 5 กองทุน จากที่ปีที่ผ่านมาบล.เอเซียพลัสได้มีการลงทุนผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนต่างประเทศ (FIF) ที่ไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่น กว่า 100 ล้านบาทในช่วงกลางปี2549 โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกกองทุนที่จะไปลงทุนนั้น บริษัทจะดูด้านผลการดำเนินงานย้อนหลัง10 ปี และจะต้องสร้างผลตอบแทนแต่ละปี 15% โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตในการลงทุนรวมประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนกระจายทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ฯลฯ
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต ผู้บริหารมีประสบการณ์ โดยจะเป็นลักษณะการร่วมถือหุ้นประมาณ 20-30% และจะถือลงทุนในระยะยาว 5-6 ปี เมื่อบริษัทดังกล่าวมีการเติบโตที่ดีขึ้นก็จะสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยถือว่าการลงทุนดังกล่าวนั้นดีกว่าการลงทุนในหุ้นเนื่องจากให้ผลตอบแทนไม่แน่นอนเพราะการปรับขึ้นลงจะต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาด
“จากการที่ภาวะตลาดไม่ดีและงานไอพีโอน้อยลง ประกอบกับอนาคตจะมีการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันที่สูงนั้น บริษัทได้มีการปรับตัวโดยการพยายามกระจายรายได้ด้านอื่นมากขึ้น ซึ่งบริษัทดูโอกาสที่จะไปเทคโอเวอร์ หรือ เข้าไปร่วมทำธุรกิจ ในธุรกิจต่างๆซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้มีการตัดสินใจที่จะเลือก โดยรายได้จากการลงทุนถือเป็นฐานรายได้ที่ใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศแถบตะวันตก” นายก้องเกียรติ กล่าว
นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า งานด้านวาณิชธนกิจของบริษัทขณะนี้ของบริษัทได้มีการกระจายด้านการปรับโครงสร้าง การควบรวมกิจการ การหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัท ซึ่งงานด้านการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ขณะนี้บริษัทได้มีการให้ทีมงานศึกษาว่าลูกค้าเดิมของบริษัทนั้นจะมีการเพิ่มทุนหรือไม่
ทั้งนี้พบว่าลูกค้าเดิมของบริษัทหลายแหล่งต้องการหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม ซึ่งมีทั้งการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP)และการเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (PO) เพื่อที่จะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้นโดยให้บล.เอเซียพลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้
"การลาออกของนายอุดมศักดิ์ ชาครียวาณิช ทำให้ตำแหน่งผู้อำนวยการ ว่างนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งคนเข้ามาดูแล เพราะตนก็มีการดูทางด้านการลงทุนโดยตรง"นายก้องเกียรติกล่าว
ในส่วนของรายได้บริษัทปัจจุบันมาจาก 5 ด้าน คือ ด้านการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ด้านวาณิชธนกิจ ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน การลงทุนโดยพอร์ตของบริษัท และอนุพันธ์ ซึ่ง 3 ธุรกิจหลังเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทำให้มีสัดส่วนน้อยต่อรายได้รวมแต่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับแนวโน้มการควบรวมกิจการในธุรกิจโบรกเกอร์ ในขณะนี้ มีโบรกเกอร์ต่างประเทศเข้ามาเจรจาที่จะควบรวมกับโบรกเกอร์ในไทย เพราะ ต้องการที่จะขยายฐานลูกค้ารายย่อย แต่ขณะนี้เป็นลักษณะการทาบทามเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่มีความรีบร้อนที่จะต้องสรุป โดยโบรกเกอร์ขนาดเล็กและขนาดกลางก็จะต้องมีการปรับตัว หากไม่ปรับตัวก็จะอยู่ในได้ในอนาคต ซึ่งหากบริษัทขนาดเล็กแต่สามารถหาจุดเด่นให้กับตัวเองได้ก็จะสามารถอยู่รอดได้แม้จะมีการเปิดเสรีฯ
นายเล็ก สิงขร รองผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า งานด้านวาณิชธนกิจของบริษัทในปัจจุบันบริษัทมีงานเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการ 8 ดีล โดยเป็นดีลบริษัทนอกตลาด 3 ดีล ขณะที่มีดีลในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวม 5 บริษัท นอกจากนี้บริษัทยังมีงานในด้านการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|