เอ็มดีคนใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะกรรมการผู้จัดการคนใหม่ จากนี้ไปเขาจะต้องพิสูจน์ฝีมือการทำงานภายใต้แรงกดดันจากความตกต่ำของอุตสาหกรรมที่ปรึกษาเพื่อให้ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ ไชยยศ หนึ่งใน "big four" ในตลาดเมืองไทยก้าวไปอย่างมั่นคง

เสาร์ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะ กรรมการของดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ บริษัทที่ปรึกษาด้านบัญชีอันดับ 2 ของโลก มีมติ แต่งตั้ง William Parrett เป็นประธาน เจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน James Copeland และก่อนหน้านั้นเพียง 4 วัน ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ได้ประกาศต่อ หน้าสื่อมวลชน ให้สุภศักดิ์ กฤษณามระ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน แอนดรูว์ เบิร์นส

อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริง จังหวะดังกล่าวผ่านการตัดสินใจและกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี โดย Parrett ขึ้นแทนคนเดิมเนื่องจาก Copeland ทนความบีบคั้นจากภาวะอุตสาหกรรมไม่ได้ ทั้งๆ ที่กลางปีนี้เขาจะเกษียณ

ขณะที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ถูกกำหนด เอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม สุภศักดิ์เข้ามารับหน้าที่สำคัญนี้ และตัวเขาเองก็รับรู้มาโดยตลอด

เหตุผลที่มาสนับ สนุน ก็คือ กฤษณามระ เป็นตระกูลที่ก่อตั้งบริษัทนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 ภาย ใต้ชื่อ สำนักงานไชยยศ โดยพระยาไชยยศ สมบัติ จากนั้นได้พัฒนาการด้านธุรกิจที่ปรึกษาโดยเน้นบริการด้านบัญชี จากคนของครอบครัวกฤษณามระรุ่นต่อมาอย่างต่อเนื่องในลักษณะกิจการครอบครัว

จนกระทั่งปี 2540 ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจท่าม กลางความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจ และ การเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ทรงอิทธิพลแห่งธุรกิจที่ปรึกษาที่รู้จักกันนาม "big five" และปัจจุบันเหลือเพียง "big four"

กระนั้นก็ดี หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ครอบครัวกฤษณามระยังคงถือหุ้นใหญ่เกินครึ่ง แต่เพื่อความอยู่รอดในระยะยาวและความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก บริษัทจึงดึงตัวแอนดรูว์ เบิร์นส กรรมการผู้จัดการดีลอยท์ ประจำสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาบริหารงานเป็นระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่รวมเป็นหนึ่งเดียว

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นจังหวะแห่งการเรียนรู้งานของ สุภศักดิ์อย่างแท้จริง หลังจากเดินทางกลับ ประเทศไทยเมื่อปี 2536 เพื่อเข้ารับตำแหน่ง ผู้จัดการอาวุโสของทีมบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ (Management Consulting Service) ในดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ แต่จากประสบการณ์ 14 ปี กับธุรกิจในเครือดีลอยท์ทำให้เขาไม่ต้องปรับตัวในการทำงานอะไรเลย

สุภศักดิ์จบปริญญาตรีคณะวิทยา ศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จากมหา วิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร แล้วเดินทางไปศึกษาระดับปริญญาโทสาขา บริหารธุรกิจจาก Kellogg Graduate School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา

เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2532 เขา เริ่มงานกับดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ในแคนาดา (ปัจจุบันแยกตัวออกจากบริษัทแม่แล้ว) ใน ฐานะที่ปรึกษา "ผมมีหน้าที่รับผิดชอบ ตั้งแต่เก็บข้อมูลจนถึงวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็นกระบวนการทำงานขั้นเริ่มต้นของงานสายอาชีพด้านที่ปรึกษา" สุภศักดิ์เล่า

จากนั้นย้ายไปร่วมงานกับสำนัก งานดีลอยท์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า ในด้านการวิเคราะห์ตรวจสอบองค์กร และ การดำเนินการเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการบริหารจัดการด้าน การเงิน

จนกระทั่งปี 2536 สุภศักดิ์กลับมาร่วมงานกับดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ และเป็นหนึ่งในทีมที่ได้ทำงานในโครงการ Re-engineering ของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ "ได้เห็นหลายๆ มุมในวิธีการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ภาครัฐและเอกชน"

ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจที่ปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงสำคัญในชีวิตของ สุภศักดิ์จากวิกฤติเศรษฐกิจย่อมส่งผลให้เขาสามารถเรียนรู้และพลิกให้เป็นโอกาสได้ในอนาคต "ได้ฝึกฝนการทำงานจากแอนดี้ (แอนดูรว์ เบิร์นส) เป็นอย่างมาก" เขาบอก "ช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจที่ปรึกษา การตรวจสอบบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากกรณี Enron ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาร์เธอร์ แอนเดอร์เซ่น ทำให้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการบริหารงานค่อนข้างมาก"

หลังจากถูกหล่อหลอมด้วยหม้อต้มขนาดใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่สุภศักดิ์จะต้องพิสูจน์ฝีมือ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และการปรับตัวของธุรกิจ และกุญแจสำคัญ ต่อความสำเร็จในระยะยาวสำหรับแผนกลยุทธ์ที่ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ เชื่อมั่นก็คือ การมีผู้นำที่มีความเหมาะสม

"ช่วงที่ผ่านมาผมได้เผชิญกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจมากเกินไปในความรู้สึกของตนเอง แต่จากนี้ไปแน่ใจว่าภายใต้การนำของสุภศักดิ์จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งและกลายเป็นผู้นำในธุรกิจได้" เบิร์นสกล่าว

ภารกิจแรกของสุภศักดิ์ คือ การลงทุนด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยภายใต้โครงการ Firm of Choice โดยใช้เม็ดเงินประมาณ 55 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของ รายได้ของบริษัทสำหรับการดำเนินการ

"การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจนี้เป็นในแง่ที่ว่าธุรกิจทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งพวกเราต้องปรับตัวตลอดเวลา เช่น ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนไปเช่นเดียวกันทั้งความยากง่าย ความยืดหยุ่นในการทำงาน มีระบบเชื่อมโยงสลับซับซ้อนมากขึ้นและเราต้องตามให้ทัน" สุภศักดิ์อธิบาย

จากการลงทุนดังกล่าวเขาเชื่อว่าจะสามารถสนับสนุนให้ผลประกอบการ ของ ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ใน 2 ปี นับจากนี้จะเติบโตขึ้น 20% โดยมีมูลค่าประมาณ 550 ล้านบาท และ 660 ล้านบาท ตามลำดับ "ตลาดบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจในประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตสูง"

ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัทพยายามเน้นการให้บริการธุรกิจที่ไม่ใช่บริการการตรวจบัญชี เช่น บริการที่ปรึกษาทางภาษี ที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดการความเสี่ยง หรือที่ปรึกษาระบบสารสนเทศ จากการคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าธุรกิจเหล่านี้จะขยายตัวมากขึ้น

"ทุกวันนี้ธุรกิจการสอบบัญชีทำรายได้ให้บริษัทประมาณ 60% แต่จากแนวโน้ม ที่เปลี่ยนไปรายได้ตรงนี้จะลดลงเหลือ 40% ซึ่งไม่ได้หมายความว่าปริมาณงานลดลง เพียงแต่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ อื่นๆ เติบโตเพิ่มสูงขึ้น" สุภศักดิ์กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.