ปริทรรศน์ เหลืองอุทัย พลังขับเคลื่อนของไทยธนาคาร

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

จากจุดเริ่มต้นสำหรับฝ่ายผลิตภัณฑ์ค้าเงินของไทยธนาคาร เพียงแค่ปีแรกทำรายได้ 30 ล้านบาท ปีถ้ดมากระโดดมาอยู่ที่ 100 ล้านบาท แล้วขยับมาเป็น 150 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าตัวเลขอยู่ใกล้ 200 ล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากพลังขับเคลื่อนโดยปริทรรศน์ เหลืองอุทัย

อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไป โดยธนาคารขนาดใหญ่หรือต่างประเทศให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อย (Retail Bank) และการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารขนาดเล็ก สัญชาติไทยและเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างไทยธนาคารกลับแสวงหาจุดยืนและความแข็งแกร่งของตนเอง

แม้ว่าไทยธนาคารให้บริการกับ ลูกค้าทั่วๆ ไปในลักษณะ Commercial Bank เช่นเดียวกับแห่งอื่นๆ แต่ภายใต้ ข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนสาขาและความสามารถเชิงการแข่งขัน จึงหันมามุ่งเน้นตลาดเฉพาะทางด้านวาณิชธนกิจ (Investment Bank)

นับเป็นความได้เปรียบของไทยธนาคารที่ได้บุคลากรที่มีศักยภาพอย่าง ปริทรรศน์ เหลืองอุทัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ค้าเงิน เข้ามาจัดตั้งฝ่ายนี้ขึ้นมาในช่วงต้นปี 2543 เพราะนับเป็น ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์และผ่านตลาดต่างประเทศจึงเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่ง

ปริทรรศน์เป็นคนที่เรียนเก่งมากตั้งแต่ระดับชั้นประถม และเป็นที่รับรู้ในวงกว้างเมื่อสอบเอ็นทรานซ์ได้อันดับ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ในปี 2528 แต่เขาไม่ได้เข้าไปศึกษาเนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ เสนอทุนให้แก่เขา เพื่อไปศึกษายังต่างประเทศ

ในปีถัดมาปริทรรศน์ตัดสินใจเลือกทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อไปเรียนปริญญาตรีด้าน Economics/Mathematics ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และจบในปี 2533 จากนั้นเขาไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Yale University ทางด้าน Financial Economics ใช้เวลา 2 ปีแล้วก็กลับมาทำงานใช้ทุนที่แบงก์ชาติ ในฐานะนักวิชาการที่ดูแลการพัฒนาระบบการเงิน

จนกระทั่งปี 2538 ได้รับทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไปศึกษามหาวิทยาลัยไหนก็ได้ในโลกโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น และเขาเลือกเรียนปริญญาโททางด้านไฟแนนซ์ ที่ Columbia Business School และในช่วงซัมเมอร์เขาเก็บเกี่ยวประสบ การณ์กับ Booz-Allen & Hamilton Management Consultants แผนกกลุ่มบริการทางการเงิน ประจำสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 4 เดือน

หลังจากจบการศึกษาในปี 2540 แทนที่ปริทรรศน์จะกลับมาใช้ทุนต่อที่ ธปท. เขากลับตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินใหม่ "การที่ไม่ได้ใช้ทุนที่แบงก์ชาติครบกำหนดนั้นได้ขอผ่อนผันโดยให้เหตุผลว่าได้รับทุนจากที่อื่น ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ" เขาเล่า

โกลด์แมน แซคส์ สถาบันการเงินชั้นนำของโลก คือ โรงเรียนบ่มเพาะความแข็งแกร่งให้กับปริทรรศน์เป็นแห่งแรก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ Swap and Derivertives Trader/Structure ฝ่าย Fixed Income, Currencies and Commodities Department ประจำมหานครนิวยอร์ก

"ที่โกลด์แมน แซคส์ ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ในองค์กรของเมืองไทยทำไม่ได้ ต้องยอมรับว่าสถาบันการเงินต่างประเทศพัฒนากว่าบ้านเรามาก โดยเฉพาะกระบวน การทำงาน ความเข้าใจผลิตภัณฑ์ ระบบการทำงานทันสมัยมาก" ปริทรรศน์ชี้ "อีกทั้งให้ความสำคัญกับผลประกอบการ การพัฒนาคน ดังนั้นคนของที่นั่นเก่งมาก จึงมีโอกาสเรียนรู้อย่างมาก โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานต่างๆ แล้วสามารถนำมาประยุกต์ ใช้กับลูกค้า คิดราคาและบริหารอย่างไร"

อย่างไรก็ตาม ปริทรรศน์ถูกส่งตัวมาประจำที่สาขาฮ่องกงด้วยเหตุผลวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปลายปี 2540 จังหวะนั้นโกลด์แมน แซคส์ ภูมิภาคเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการชนะประมูลสินทรัพย์ ปรส. ในประเทศไทย

"ผมไม่ได้ทำงานด้านนี้ แต่อยู่ฝ่ายเทรดดิ้งซึ่งมีปริมาณดีลมากมาย เพราะลูกค้าต้องป้องกันความเสี่ยงกันหมด โดยการค้าตราสารอนุพันธ์จากเดิมมีจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่หลังวิกฤติเติบโตก้าวกระโดดเป็นพันเท่า ไม่เฉพาะในตลาดไทย รวมถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือจีน อีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม หลังจากตลาดเอเชีย นับตั้งแต่ปี 2542 เริ่มซบเซา บรรดาผู้เล่นข้ามชาติเริ่มทยอยถอนตัวออกจากตลาดเอเชียเพื่อลดความเสี่ยง เป็นจังหวะเดียวกับปริทรรศน์เดินทางกลับมาเมืองไทยและมีโอกาสได้พูดคุยกับพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และทวีป ชาติธำรง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ แห่งไทยธนาคาร

"ต้นปี 2543 มีโอกาสพบท่านทั้งสอง แต่เป็นการพูดคุยกันเรื่องสภาพตลาด เมืองไทย ซึ่งได้พบปะกับผู้บริหารระดับสูงหลายๆ แห่ง เช่น แบงก์เอเชียและไทยพาณิชย์ โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาทำงานกับแบงก์"

หลังจากพีรศิลป์ และทวีปเล่าให้ปริทรรศน์ฟังถึงทิศทางและยุทธศาสตร์ของไทยธนาคารว่าจะเดินไปเส้นทางไหน กระตุ้นให้เขาเริ่มสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นตลาดทางด้านเทรดดิ้ง "ผมไม่สนใจ ทำงานแบงก์ที่เป็น Commercial Bank หรือเน้น Retail Bank ที่มีสินค้าทั่วๆ ไป"

เมื่อแผนงานของไทยธนาคารตรงกับความตั้งใจและความถนัดของปริทรรศน์ ประกอบกับความเชื่อว่าน่าจะเป็นองค์กรที่มีอนาคต เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมงานโดยได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งฝ่ายค้าผลิตภัณฑ์การเงินขึ้นมา

"เริ่มต้นจากศูนย์เลย แต่ค่อนข้างมีความพร้อมจากเดิมธนาคารสหธนาคารให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ แต่เป็นลักษณะที่ไม่ซับซ้อน และยังควบรวมกับสถาบันการเงิน 13 แห่ง ยิ่งทำให้เกิดความลำบาก ช่วงแรกจึงวางฐานด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและทำตราสาร อนุพันธ์ควบคู่ไปด้วย"

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 3 ปีที่ปริทรรศน์สร้างฝ่ายนี้ขึ้นมาจนประสบความ สำเร็จอย่างรวดเร็วจนสามารถปิดดีลได้ตั้งแต่ปีแรกและมีรายได้ 30 ล้านบาทและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วทำรายได้ 150 ล้านบาท และปีนี้เขาคาดว่าจะมีรายได้ใกล้ 200 ล้านบาท

"โชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์สูงที่ผ่านตลาดต่างประเทศ เพียงปีแรกสร้างฐานได้แข็งแกร่ง สามารถทำผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ครบวงจรได้ จากนั้นปีถัดมาจนถึงปัจจุบันเน้นความสามารถในการทำกำไรและปริมาณของดีล"

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเขากลายเป็นฟันเฟืองที่สำคัญสำหรับขับเคลื่อนให้ไทยธนาคารเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่กำลังปรับกลยุทธ์กันเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาด

"ทุกวันนี้ ธนาคารไม่ได้ทำหน้าที่รับเงินฝากและปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจด้านวาณิชธนกิจด้วย ซึ่งเป็นทิศทางของตลาดทั่วโลก"

ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายวาณิชธนกิจ แม้ว่าจะมีธุรกรรมค้าเงินตราต่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในฐานะแผนกปริวรรตเงินตรา ซึ่งความจริงเป็นเพียงการให้ บริการแลกเปลี่ยนเงินตราเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อไทยธนาคารถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยพิจารณาให้เข้ากับทิศทางของตลาดโลก และตำแหน่งที่ดีที่สุดของไทยธนาคาร คือ เน้นผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ทาง การเงินค่อนข้างเป็นนวัตกรรมทางการเงิน เช่น Structure Note หรือ Interest Rate Swap : IRS

"กำลังเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจ จากตลาดมากที่สุด จากความกลัวเรื่อง ดอกเบี้ย สังเกตแบงก์ขนาดใหญ่ ประกันภัย กองทุนรวมมีหุ้นกู้ที่มีดอกเบี้ยคงที่จำนวนมาก ดังนั้นหากดอกเบี้ยขึ้นจะขาดทุนจึงต้องการเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย และเครื่องมือที่ดีที่สุด คือ IRS"

นอกเหนือไปจากนี้ปริทรรศน์ยังเน้นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ Long Forward, Currency Swap (CRS), FRA, FX Option ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อน เหตุผลที่เขาให้ความสำคัญเกิดจากแนวโน้มตลาดในเมืองไทยกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกำลังเหมือนตลาดในสิงคโปร์จากนั้นรูปแบบเหมือนฮ่องกงและโตเกียว

"ตลาดตราสารอนุพันธ์ในเมืองไทย เริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และมีการประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเปิดช่องให้เกิดความ ต้องการของลูกค้าจากความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นและค่าเงินผันผวน"

เมื่อปริทรรศน์วางตำแหน่งการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ดังนั้นคู่แข่งจึงเป็นธนาคารพาณิชย์ข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และซิตี้แบงก์ ขณะที่ธนาคารท้องถิ่นอันดับต้นๆ ยังไม่นับเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เนื่องเพราะมีผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ที่ให้บริการแก่ลูกค้าไม่ค่อยสลับซับซ้อน คือ อยู่ในระดับเรียกว่า Commo-dity Product

กระนั้นก็ดี นอกจากเป็นคู่แข่ง ธนาคารต่างชาติทั้งหลายยังถือเป็นพันธมิตรที่ดีของไทยธนาคารอีกด้วย โดยได้ให้วงเงิน (Trading Line) ในการร่วมทำธุรกิจด้วยทั้งในส่วนของการค้าเงินตราต่างประเทศและตราสารอนุพันธ์เป็นจำนวน จากวงเงิน 20,000 ล้านบาทปัจจุบันตัวเลขเพิ่มเป็นระดับแสนล้านบาทภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี โดยเฉพาะ Trading Line ตราสารอนุพันธ์มีสูงถึง 50,000 ล้านบาท

นี่คือก้าวแรกแห่งความสำเร็จของปริทรรศน์ภายใต้ธงไทยธนาคาร แต่อาจจะเร็วเกินไปสำหรับคำว่า ความสำเร็จเพราะธุรกิจนี้เป็นเรื่องจินตนาการและการเล่นกับตัวเลข



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.