|
ผู้ออกบัตรเสนอรัฐใช้บัตรเครดิตกระตุ้นเศรษฐกิจ "สังศิต" เน้นแก้กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค
ผู้จัดการรายสัปดาห์(23 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการบัตรเครดิตแนะรัฐใช้กลไกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้เป็นประโยชน์ เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เผยกฎเกณฑ์แบงก์ชาติคุมเข้ม เมื่อการเมืองไม่นิ่ง ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกอย่างยิ่งทรุด คนยิ่งไม่กล้าจับจ่าย ประธานคณะกรรมาธิการการคลังพร้อมรับฟังข้อเสนอ เห็นด้วยเรื่องเน้นเสถียรภาพสถาบันการเงิน แต่เศรษฐกิจต้องเดินได้ด้วย
7 เดือนของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือการดำเนินการตรวจสอบเรื่องคอรัปชั่นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจกลับถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม แม้จะมีการเปลี่ยนตัวขุนคลังเป็นคนที่ 2 แล้วก็ตาม
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดมีเพียงการลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 11 เมษายน 2550 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลง 0.5% จาก 4.50% เหลือ 4.00% หลังจากในไตรมาสแรกของปี 2550 อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นไปตามแรงกดดันที่หลายภาคส่วนคาดการณ์ไว้ ที่เหลือเป็นการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในไตรมาส 3 ของปีนี้ ด้านศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังศึกษาอยู่
ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่กำลังซื้อภาคประชาชนลดลงจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแนวทางด้านเศรษฐกิจจากนโยบายประชานิยมมาใช้แนวทางของรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ภาคประชาชนไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความปลอดภัยของตนเองจึงต้องลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเฉลี่ยต่อบัตรสูงขึ้นมาเหนือกว่า 15,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 และจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นน้อยมากโดยบัตรเครดิตเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 3,644 บัตรเท่านั้น สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้อำนาจซื้อของประชาชนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล แต่ยอดการใช้จ่ายดังกล่าวถูกธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเป็นรายการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยทำให้หนี้สินภาคครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 1 แสนบาทต่อครอบครัว จึงได้มีมาตรการออกมาควบคุม ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผ่อนชำระขึ้นต่ำจาก 5% เป็น 10% และเพิ่มเพดานดอกเบี้ยจาก 18% เป็น 20% ส่วนสินเชื่อบุคคลคุมเพดานดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกไว้ไม่เกิน 28%
วัดใจแบงก์ชาติ
แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตกล่าวว่า จริง ๆ แล้วตัวบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของรัฐบาลว่าผู้ให้บริการจะเป็นตัวสร้างปัญหาหรือเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นใจภาคประชาชน
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในวันนี้ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อหดหายไปจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของบ้านเมือง ไม่แน่ใจว่ารายได้ในอนาคตของประชาชนจะลดลงหรือไม่ จึงต้องชะลอการใช้จ่าย อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ อะไรที่พอซ่อมแซมได้ก็ซ่อมแซมไม่ต้องซื้อของใหม่ ยิ่งเกณฑ์ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ทั้งผู้ถือบัตรเดิมและบัตรใหม่ทำให้ผู้ถือบัตรต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
เมื่อกำลังซื้อในประเทศลดลง ย่อมกระทบต่อทุกภาคส่วน ผู้ผลิตสินค้าค้าขายไม่มี มีกำไรน้อยลง เสียภาษีน้อยลง รัฐบาลก็จัดเก็บได้น้อยลง ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้นาน ๆ ผู้ผลิตสินค้าจะทนสภาพที่มีกำไรน้อยลงจนอาจถึงมีภาระขาดทุนได้นานแค่ไหน ถ้าต้องเลิกการผลิต ก็ต้องปลดคนงาน ปัญหาสังคมก็จะเกิดขึ้น เงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อมาใช้ผลิตสินค้าก็อาจกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปัญหาจะลามไปทั้งระบบ
ผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลในช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นห่วงนั้น เชื่อว่าลูกค้ากลุ่มนี้หายไปจากระบบแล้ว เนื่องจากทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงของผู้ให้บริการแต่ละราย มีการปิดบัตรเครดิต เรียกให้ประนอมหนี้หรือดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย
เราเชื่อว่าถึงวันนี้ผู้ถือบัตรหรือผู้จะขอใช้สินเชื่อก็มีประสบการณ์มาพอสมควร รวมถึงผู้ให้บริการเองก็ต้องระวังในเรื่องของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อภาคครัวเรือนสูงขึ้นนั้นคงจะมีน้อย อีกทั้งรายการของสินเชื่อภาคครัวเรือนไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการรวมเอาสินเชื่อทั้งหมดเข้ามาไว้รวมกัน ซึ่งมีทั้งสินเชื่อบ้าน รถ หรือสินเชื่ออื่น ๆ อีก
ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศรัฐต้องมองภาพรวมทั้งหมด และออกมาตรการกระตุ้นในทุกด้าน ไม่ใช่แค่ออกมาตรการเดียวแล้วจบ ซึ่งตัวบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลก็เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ต้องดำเนินการให้ถูกวิธี
ที่ผ่านมาผู้ให้บริการแข่งขันกันสูงมาก มีผู้ให้บริการหลายราย ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าก็ต้องการขายสินค้าให้ได้มากที่สุด ประกอบกับรัฐบาลในขณะนั้นมีการอัดเงินลงสู่รากหญ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น
แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก แม้จะมีผู้ให้บริการมากมีการแข่งขันกันสูง แต่ผู้ถือบัตร ผู้มีคุณสมบัติที่จะขอสินเชื่อบุคคลถูกคุมอย่างเข้มงวด เงินที่อัดฉีดสู่รากหญ้าก็มีน้อยลง หากรัฐจะใช้ช่องทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาที่น่าหนักใจเหมือนก่อน
"ยอมรับว่าวันนี้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเปลี่ยนไปมาก ไม่ซื้อสินค้าและบริการง่ายเหมือนในอดีต คิดก่อนใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลลดลง"แหล่งข่าวกล่าว
ระวังไล่คนสู่หนี้นอกระบบ
เขากล่าวต่อไปว่า อย่าเพิ่งมองว่าเราสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยได้เป็น 20% เพราะแค่ 2% นั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนในปัจจุบัน เดิมที่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยที่ 18% นั้น ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ประมาณ 1% ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยได้ 20% แต่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 3-4% ทำให้ส่วนต่างของรายได้น้อยกว่าเดิม ขณะที่บางแห่งก็ยังคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 18%
ช่วงที่ผู้คนไม่มั่นใจในสถานการณ์ วันนี้เราทำได้เพียงแค่การประคองสถานการณ์ หรือทำได้อย่างมากคือการกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรเดิมใช้จ่ายผ่านบัตรให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยิ่งทำมากก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เสี่ยงต่อภาวะขาดทุน
แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ให้บริการคือการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% ขึ้นเป็น 10% ตรงนี้มีผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรบางรายลดลง ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งระบบสำหรับบัตรเครดิตเริ่มเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการบางแห่งต้องว่าจ้างพนักงานเรียกเก็บหนี้เพิ่มขึ้น
การเพิ่มยอดผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% แม้จะทำให้ยอดหนี้คงค้างของผู้ถือบัตรลดลง แต่จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ถือบัตรลดลง ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวปี 2547 ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในขณะนั้นกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ปัจจุบันสภาพการณ์อยู่ในทิศทางตรงกันข้าม สุดท้ายจะกลายเป็นการผลักประชาชนให้ไปสู่การพึ่งหนี้นอกระบบ ตรงนี้จะอันตรายยิ่งกว่าปลดล็อกบัญชีดำ
สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคลัง กล่าวว่า ทางกรรมาธิการการคลังกำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการขึ้นบัญชีดำในกฎหมายเครดิตบูโร เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในบัญชีดำเหล่านี้ให้ได้รับความยุติธรรม เนื่องจากมีลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สถาบันการเงินทั่วไปที่ถูกขึ้นบัญชีดำจำนวนมาก ทั้งที่ลูกหนี้เหล่านี้อาจมีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดจากความประพฤติ โดยจะขอรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้
"หลักการ ระเบียบและกฎหมายตอนนี้เน้นที่เสถียรภาพสถาบันการเงิน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ ทำอย่างไรให้อีกด้านหนึ่งเดินหน้าไปได้และสถาบันการเงินก็อยู่ได้"
ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้าย การเมืองเลวร้าย ย่อมมีทางออกเสมอ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอื่น ๆ คณะทำงานได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชมรมบัตรเครดิตด้วย เพื่อรับฟังข้อเสนอและต้องปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ถึงเวลานี้เราต้องมองกันที่ความจริงว่า เราจะแก้ปัญหาของประเทศในเวลานี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้สร้างกลไกที่เอื้อต่อเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศ เลือกที่จะดูแลเฉพาะภาคส่งออก เลือกที่จะมองว่าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลทำให้คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว หากมองปัญหาทั้งระบบได้และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทำการเมืองให้นิ่ง สุดท้ายความเชื่อมั่นของประชาชนก็จะกลับคืนมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|