'อาหลีกรุ๊ป' เติบโตกับทางน้ำ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การถือกำเนิดของบริษัทอาหลีกรุ๊ปออฟคัมพานี จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางน้ำแบบครบวงจรรายใหญ่ในภาคตะวันออก เริ่มขึ้นจากอาหลี แซ่ฟ่ง หนุ่มใหญ่ชาวจีน ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาปักหลักฐานทำมาหากินอยู่ในพื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2

ในครั้งนั้น อาหลี ตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวชาวจีนจนถือกำเนิดบุตร ชาย 2 คนคือ หยูฟู แซ่ฟ่ง และบรรเยาว์ พงษ์เลื่องธรรม (ชื่อ ที่เปลี่ยนภายหลัง) โดยอาชีพแรก ที่อาหลีประกอบการบนเกาะสีชังจนกลายเป็นอาชีพ ที่สร้างรายได้ให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน และเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันก็คือ การส่งเสบียงอาหารจากฝั่งสู่เรือใหญ่

เมื่อครั้งก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2 นั้น มีเรือสินค้า และเรือรบขนาดต่างๆ เข้าเทียบท่าบริเวณเกาะสีชังจำนวนมาก และคนในเรือก็ต้องการสินค้าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันจำนวนมากเช่นกัน แต่การค้าขายระหว่างบนบกกับทางน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก การลำเลียงเสบียงอาหารจากฝั่งไปขายยังเรือสินค้า และเรือใหญ่ ที่ทอดสมออยู่กลางทะเล ยังไม่มีใครริเริ่ม ที่จะทำ

แต่อาหลีมองเห็นเป็นช่องทางการค้า จึงเปิดบริการส่งเสบียงอาหารจากฝั่งสู่เรือใหญ่ ด้วยเรือเล็กเพียง 1 ลำ ที่มีอยู่ ลำเลียงอาหาร และข้าวของไป ขายให้กับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ที่ทอดสมออยู่บริเวณน่านน้ำเกาะสีชัง

การเลือกทำมาหากินในอาชีพนี้ของอาหลี ประสบความสำเร็จด้วยเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นอาชีพ ที่ไม่มีคนไทยหรือคนพื้นที่คนใดคิด ที่จะทำแข่ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีอาหลีสามารถเก็บหอมรอมริบผลกำไร ที่ได้จากการค้าขาย นำเงินมาซื้อเรือเล็กเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ลำ

ความ ที่มีหัวคิดทางการค้า อาหลีเริ่มขยับขยายธุรกิจ ด้วยการนำเรือ ที่มีอยู่ออกรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่เดินทางมากับเรือ ใหญ่ เพื่อให้บริการนำนักท่องเที่ยวจากฝั่งมาท่องเที่ยวบนเกาะสีชัง การให้ บริการเรือนำเที่ยวของอาหลี ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่นธุรกิจแรก ที่ทำ และธุรกิจดังกล่าวเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะบริการเรือนำเที่ยวในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 มีเพียงของอาหลี แซ่ฟ่ง เพียงคนเดียว

การทำธุรกิจของอาหลีเริ่มถึงจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้บริหารสู่คนรุ่นที่ 2 ซึ่งมีหยูฟู แซ่ฟ่ง และบรรเยาว์ พงษ์เลื่องธรรม ผู้เป็นลูกเข้ามาดำเนินกิจการต่อ

บรรเยาว์ คือ หัวหอกคนสำคัญ ที่ถือเป็นผู้ให้กำเนิดบริษัทอาหลี แอนด์ซัน และสร้างบริษัทอาหลี กรุ๊ป ขึ้นมาจนเป็นปึกแผ่น โดยบรรเยาว์ได้ก่อตั้ง บริษัทอาหลี แอนด์ ซัน กรุ๊ป คัมพานี ลิมิเต็ด ขึ้นในปีพ.ศ.2482 เพื่อดำเนินธุรกิจลำเลียงเสบียงอาหาร ส่งเรือสินค้าขนาดใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ

หลังจากนั้น ได้อาศัยจังหวะ ที่จังหวัดชลบุรียังไม่มีแหล่งท่องเที่ยว และ ที่ เมืองพัทยายังไม่เป็นที่รู้จัก เปิดบาร์เบียร์ และร้านอาหารขึ้น ที่เกาะขามใกล้กับเกาะสีชัง ในครั้งนั้น การดำเนินธุรกิจได้ทำเป็นระบบแล้ว เพราะบรรเยาว์ได้จัดตั้งบริษัท ที่ 2 คือ บริษัทยูไนเต็ด ซัพพลาย แอนด์ ทรานสปอร์ต คัมพานี ลิมิเต็ด ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจเรือแท็กซี่ ขนส่งนักท่องเที่ยวไปยังเกาะต่างๆ ธุรกิจนี้สร้างกำไรให้กับบริษัทอย่างมหาศาล เพราะเป็นเจ้าแรก ที่บุกเบิกธุรกิจในด้านนี้ขึ้นในภาคตะวันออก

ภายหลังเมื่อเมืองพัทยาเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้คนเดินทางไปยังเกาะขามน้อยลง บรรเยาว์ตัดสินใจปิดธุรกิจบาร์เบียร์บนเกาะขาม และ เลิกการเดินเรือจากชายฝั่งไปยังเกาะขามด้วย

แต่บรรเยาว์ได้หันมาเปิดกิจการรับส่งผู้โดยสารจากฝั่งไปยังเกาะสีชัง และรับส่งพนักงานของบริษัทต่างๆ จากฝั่งไปส่งยังเรือใหญ่อย่างเป็นรูปแบบ ขณะเดียวกันยังรับจ้างเป็นเรือแท็กซี่ทั่วไป และจากอดีต ที่มีเรือให้บริการ เพียงไม่กี่สิบลำ ปัจจุบันยูไนเต็ด ซัพพลาย แอนด์ ทรานสปอร์ต มีเรือเล็ก สัญลักษณ์สีขาวแถบเขียวอยู่ในการดูแลทั้งหมดกว่า 60 ลำ จอดรอให้บริการอยู่ บริเวณท่าเทียบเรือเกาะสีชัง, สัตหีบ จังหวัดชลบุรี และมาบตาพุด จังหวัดระยอง

การแตกไลน์ธุรกิจ เพื่อครอบคลุมให้ครบวงจรของนักบริหารรุ่นที่ 2 ของ ตระกูลพงษ์เลื่องธรรม ไม่หยุดเพียงเท่านั้น บรรเยาว์เริ่มลงทุนสร้างอู่ต่อเรือ ขึ้น ที่บริเวณหาดแหลมท้าว ในเขตอำเภอศรีราชา หลังจากเห็นว่าการขยาย กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเรือ ใหญ่ของบริษัทอื่นๆ ที่เข้าทอดสมอบริเวณน่านน้ำเกาะสีชั ง ไม่มี ที่สำหรับนำเรือขึ้นเทียบ เพื่อซ่อมแซมจุดที่ชำรุด บรรเยาว์จึงสร้างอู่ต่อเรือขึ้น เพื่อรับจ้างต่อเรือ และซ่อมเรือให้กับบริษัทเดินเรือทั่วไป ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างอู่ ต่อเรือ เพื่อต่อเรือไว้ใช้งานเอง บริษัทยูไนเต็ด มารีน เมนท์เทนแนนซ์ จำกัด จึงถูกจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท ที่ 3 ของอาหลี กรุ๊ป

เมื่อธุรกิจขยายตัวถึงขีดสุดการประกอบธุรกิจขนส่งทางน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บรรเยาว์เริ่มขยายการให้บริการจาก เรือแท็กซี่รับส่งผู้โดยสาร, ส่งเสบียงอาหารจากฝั่งสู่เรือใหญ่ เพิ่มการให้ บริการจัดหาน้ำจืดส่งให้กับเรือเดินทะเล และเรือท่องเที่ยว ที่เข้ามาเทียบท่าในเขตน่าน น้ำจังหวัดชลบุรี บรรเยาว์ จึงได้จัดตั้งบริษัทสีชัง มารีน ซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นบริษัท ที่ 4 ของตระกูลนี้ เพื่อดำเนินธุรกิจขนส่งน้ำจืด จากฝั่งให้กับเรือเดินทะเล, เรือท่องเที่ยว และเรือบรรทุกสินค้า ที่ทอดสมออยู่ บริเวณน่านน้ำเกาะสีชัง และเขตแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการให้บริการ ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออก ธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจ ที่สร้างรายได้ และทำให้กลุ่มอาหลี แอนด์ ซัน เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันนอกจากจะมีลูกค้ากระจายไปทั่วทั้งเขตภาคตะวันออกแล้ว สายการเดินเรือใหญ่ยังเป็นลูกค้าสำคัญของบริษัท โดยในแต่ละวันบริษัทสีชัง มารีน ซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จะต้องบรรทุกน้ำจืดจากฝั่งส่งเรือใหญ่ประมาณ 3-5 แสนลิตร และขณะนี้บริษัทมีเรือบรรทุกน้ำขนาดต่างๆ ทั้งเรือขนาดบรรทุก 1 ล้านลิตร, 5 แสนลิตร และ 1 แสนลิตร ประมาณ 7 ลำ

หลังจากขยายกิจการด้านการเดินเรือออกไประยะหนึ่ง บรรเยาว์ได้ตั้ง บริษัท เทพนิมิตร ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นบริษัท ที่ 5 ในเครืออาหลี กรุ๊ป ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการรถเมล์เล็กในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันผู้ที่ดำเนินธุรกิจสืบ ทอดคือ บุตรของบ รรเยาว์ ส่วนบุตรของหยูฟู ได้กระจายกันดูแลธุรกิจในเครือด้านอื่น

อาหลี กรุ๊ป ยังมีกิจการที่ 6 คือ บริษัทยูไนเต็ด เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ดอกยาร์ด จำกัด ดำเนินธุรกิจรับซ่อมเรือยอชต์ ตั้งอยู่ บริเวณอู่ต่อเรือแหลมท้าวเทวา ปัจจุบันธุรกิจด้านนี้ชะลอตัวลงเพราะผลกระทบ ทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีเรือยอชต์ และเรือจากต่าง ประเทศเข้ามาใช้บริการน้อยลง

และเมื่อท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังแล้วเสร็จเปิดบริการ เป็นท่าเรือ เพื่อ การนำเข้า-ส่งออกของประเทศ อาหลี กรุ๊ป ได้เปิดบริษัท ที่ 7 คือ ชอร์วาร์ด มาริไทม์ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านชิปปิ้งในท่าเรือแหลมฉบัง

การบริหารภายในของกลุ่มอาหลี กรุ๊ป ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากบรรเยาว์ พงษ์เลื่องธรรม เสียชีวิต บรรดาลูก และหลานคือ ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อ และคนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารธุรกิจของตระกูลก็คือ บัณฑูรย์ พงษ์เลื่องธรรม ผู้เป็นหลานของอาหลี (ลูกของหยูฟู แซ่ ฟ่ง)

บัณฑูรย์เล่าว่าตนเองเริ่มเข้ามาบริหารธุรกิจของตระกูล เมื่อ 15 ปีก่อน โดยก่อนหน้านี้บัณฑูรย์มีธุรกิจส่วนตัวคือ รับเหมาก่อสร้างแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่า ที่ควร และเมื่อบรรเยาว์ผู้เป็นอาเสียชีวิต จึงเข้ามาบริหารธุรกิจในเครือ ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำทั้งหมด

บัณฑูรย์บอกว่าปัจจุบันธุรกิจ ที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่มคือ ธุรกิจลำเลียงเสบียงอาหารส่งเรือใหญ่ ธุรกิจส่งน้ำจืดจากฝั่งสู่เรือ และธุรกิจเรือแท็กซี่ รับจ้าง ซึ่งสามารถทำกำไรงามให้กับบริษัท

ในช่วง ที่เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤตินับจากปี 2540 เป็นต้นมา การดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบเช่นธุรกิจอื่นๆ แต่ถือเป็นผลกระทบ ที่ไม่มากนัก เพราะการทำธุรกิจของบริษัทเป็นไปแบบครบวงจร ทำให้ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้

บัณฑูรย์เล่าว่าสาเหตุที่กิจการของอาหลี กรุ๊ป ได้รับผลกระทบก็เพราะเรือใหญ่เข้าเทียบท่าต่างๆ มีน้อยลง การให้บริการแบบต่อเนื่อง และธุรกิจ ที่ เกี่ยวเนื่องของบริษัทก็พลอยลดตามไปด้วย

ประกอบกับปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่ต่ำกว่า 3 ราย ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทำให้รายได้ลดน้อยลงประมาณ 20% บัณฑูรย์บอกว่าสิ่งเดียว ที่สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอด ได้ในขณะนี้ก็คือ การเสนอบริการที่ดี และครบวงจร เพื่อมัดใจลูกค้า

"ในอนาคตเราจะไม่เพิ่มธุรกิจใหม่ ส่วนธุรกิจเดิม ที่ชะลอการดำเนินงาน เราก็ยังคงประคองไว้ โดยเราจะหันมาพัฒนาเรือทั้งใหญ่ และเล็ก ที่มีอยู่ให้มีขีดความสามารถมากขึ้น โดยอู่ต่อเรือ ที่เรามีอยู่จะเน้น การทำงาน เพื่อรองรับการพัฒนาเรือของบริษัท ที่ผ่านมาเรามีการปรับปรุงเรือเก่า และซ่อมแซมเรือ ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีการต่อเรือใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของธุรกิจทางน้ำ"

หัวใจสำคัญอีกประการในการบริหารงานของอาหลี กรุ๊ป ในยุคของนักบ ริหารรุ่นที่ 3 อย่างบัณฑูรย์ พงษ์เลื่องธรรม ก็คือ การพัฒนาบุคลากร ที่มีอยู่ในส่วนการบริหาร และส่วนช่าง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน และประจำอู่ต่อเรือประมาณ 40-50 คนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการผลิตงาน และต่อเรือให้มีคุณภาพต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.