ผ่าแผนธุรกิจแอร์ไลน์…ปฏิบัติการยึดน่านฟ้าในประเทศ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุด “ดอนเมือง”ก็เปิดให้บริการอีกครั้ง เส้นทางบินในประเทศกว่าครึ่งถูกย้ายมาอยู่ที่นี่ ขณะที่ธุรกิจการบินต่างเร่งปรับแผนกลยุทธ์
หวังสร้างแบรนด์ไทยให้เกิดขึ้นบนสนามบินแห่งนี้

สนามบินดอนเมืองกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่เหล่าบรรดานักล่าสมบัติจากสายการบินต่างๆพยายามกระโดดเข้ามาขุดทอง แต่ทว่าติดอยู่ที่กฎระเบียบข้อบังคับบางอย่างของ บมจ.การท่าอากาศยานไทย(ทอท.) อาทิ อนุญาตให้เป็นสายการบินเฉพาะจุดต่อจุด และต้องเป็นสายการบินภายในประเทศเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าหากสายการบินใดที่มีเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศจำนวนมากก็จะไม่สามารถวางแผนการตลาดได้เนื่องจากผู้โดยสารที่ใช้บริการจำเป็นต้องต่อเครื่อง และน่าจะส่งผลให้สายการบินอย่าง ไทยแอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ส ต้องประกาศจุดยืนออกมาทันทีโดยไม่ขอย้ายฝูงบินทั้งหมดไปใช้บริการของสนามบินดอนเมืองเหมือนกับ 3 แอร์ไลน์ คือ การบินไทย นกแอร์ และ วันทูโก นั่นเอง

มีการประเมินว่าหากสนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการเฉพาะ 3 แอร์ไลน์ที่ย้ายมาเปิดให้บริการคาดว่าน่าจะมีเส้นทางบินในประเทศรวมประมาณ 140 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งแน่นอนจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการคาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 18,000 คนต่อวัน จะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน

ซึ่งปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 128 ล้านบาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็นค่าเสื่อมของอาคารสถานที่ 68 ล้านบาท ทำให้ ทอท. ขาดทุนประมาณ 80 ล้านบาท แต่เมื่อมีรายได้จากการเที่ยวบินภายในประเทศ ทอท.จะสามารถลดภาวการณ์ขาดทุนน้อยลง

เท่ากับว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีสายการบินเพียงไม่กี่สายเท่านั้นที่เปิดให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศ ขณะเดียวกันสนามบินดอนเมืองก็กลายเป็นศูนย์รวมของเส้นทางบินภายในประเทศทันที และน่าจะส่งผลให้แอร์ไลน์ต่างๆทั้งที่ประจำอยู่ในสุวรรณภูมิและดอนเมืองจำเป็นต้องเร่งปรับแผนยุทธศาสตร์ โดยเลือกที่จะใช้วิธีการสร้างแบรนด์ไทยภายใต้สภาวการณ์แข่งขันที่แตกต่างกัน

TG ขอรุกตลาดก่อน

เที่ยวบินในประเทศของการบินไทยถูกกำหนดให้บริการรวม 30 เที่ยวบินต่อวัน ในเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯสู่เมืองต่างๆอาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต กระบี่ ขอนแก่น พิษณุโลก หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และอุดรธานี

ขณะที่เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย บอกว่าสำหรับเที่ยวบินที่เชื่อมต่อสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศในเส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย กระบี่ และภูเก็ต จะให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำนวน 11 เที่ยวบิน ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางในเส้นทางบินทั้ง 4 เส้นทางดังกล่าว สามารถเลือกเดินทางได้ทั้งจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง

นอกจากบริการรถบัสปรับอากาศ แท็กซี่ และรถลีมูซีน ให้บริการผู้โดยสารในราคาพิเศษ แล้ว การบินไทยยังได้เปิดบริการใหม่ THAI City Terminal (Don Muang Airport) ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารจอดรถ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว เพื่อเพิ่มจุดเช็คอินให้แก่ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปดอนเมือง โดยสามารถเช็คอินสัมภาระล่วงหน้าได้ก่อนการเดินทาง 3 ชั่วโมง ส่วนผู้โดยสารที่ไม่มีสัมภาระสามารถเช็คอินล่วงหน้าได้ 1 วัน สำหรับการตรวจสอบกระเป๋าเพื่อความปลอดภัย ทางการบินไทยเตรียมติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์กระเป๋าเดินทางเพื่อช่วยในการตรวจสอบก่อนการเช็คอินและออกบัตรโดยสาร

เมื่อเช็คอินผ่านจุด THAI City Terminal แล้ว ผู้โดยสาร พร้อมกระเป๋าสัมภาระ สามารถใช้บริการรถรับ-ส่งไปยังสนามบินดอนเมือง ซึ่งบริการเช็คอิน และบริการรับส่งผู้โดยสาภายในประเทศ จะให้บริการระหว่างเวลา 04.00-20.00 น. และสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมากับการบินไทย ในเส้นทางต่างๆ สามารถใช้บริการรถรับส่งระหว่างดอนเมืองมายังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องแสดงบัตรโดยสารเท่านั้น หากผู้โดยสารที่ไม่ต้องการนำรถมาจอดยังดอนเมืองก็สามารถนำมาจอด ที่ลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวได้ โดยคิดอัตราค่าจอดเท่ากับผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ 2 ชั่วโมง 5 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ถูกมากเมื่อเทียบกับการนำรถไปจอดที่สนามบินดอนเมือง

แม้ว่าการเปิดจุดเช็คอินในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะถูกกระแสต่อต้านจากสหภาพของการบินไทยก็ตาม แต่หากมองถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารที่จะได้รับ กลยุทธ์นี้น่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดีและที่สำคัญเป็นการสร้างแบรนด์ให้มีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้นด้วยภายใต้การแข่งขันรุนแรงของธุรกิจการบินในปัจจุบัน

นกแอร์โคแบนด์เสริมทัพ

การให้ข้อมูลถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อป้องกันความสับสนในการขึ้นเครื่องบิน โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆคือ สายการบินนกแอร์ในเส้นทางภายในประเทศจะต้องไปขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมืองแห่งเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นวันทูโกและการบินไทย ให้สังเกตจากรหัสเมืองหรือจุดบินของกรุงเทพฯ ซึ่งในตั๋วเครื่องบินและตารางแสดงข้อมูลการบินที่ระบุว่าDMK หมายถึงดอนเมือง และถ้าเป็นอักษรBKK จะหมายถึงสุวรรณภูมิ

และที่สำคัญเที่ยวบินที่จะให้บริการในดอนเมืองได้ จะต้องเป็นเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีจุดต่อเครื่องบินหรือพ้อยท์ทูพ้อยท์โดเมสติกเท่านั้น

พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ บอกว่าปัจจุบันนกแอร์ได้ประกาศให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วรับทราบแล้วว่าจะต้องไปใช้บริการที่ดอนเมือง โดยเปิดบริการเคาน์เตอร์เช็คอินภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศตั้งแต่หมายเลข 27-34 รวม 8 เคาน์เตอร์

นอกจากนี้ยังรวมถึงเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารและบริการลูกค้า 4 แห่ง โดยอยู่ในบริเวณติดกับทางเข้าอาคารผู้โดยสารขาออก 2 แห่ง อยู่ติดกับประตูผู้โดยสารขาออกจำนวน 1 แห่ง และอยู่ภายในอาคารผู้สารขาเข้าอีก 1 แห่ง เพื่อให้บริการอย่างทั่วถึงและสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าโดยนกแอร์จะเปิดเที่ยวบินภายในประเทศทั้ง 6 เส้นทางบินจากดอนเมือง อาทิ หาดใหญ่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ โดยมีเที่ยวบินทั้งหมดรวม 58 เที่ยวบินต่อวัน รองรับผู้โดยสารประมาณ 10,000 คนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม นกแอร์ได้ร่วมกับสายการบิน เอส จี เอ ผู้ให้บริการสายการบินขนาดเล็กเซสนา เป็นพันธมิตรการบิน ภายใต้แนวคิดตราสัญลักษณ์ร่วมหรือโค-แบรนดิง เพื่อส่งต่อผู้โดยสารไปยังเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวรอง เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-ปาย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น

การร่วมมือดังกล่าวได้เชื่อมต่อระบบการจองทางอินเทอร์เน็ต วิธีนี้จะช่วยสร้างแบรนด์สินค้าของทั้งสองสายการบินให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร ด้านการขยายเส้นทางในประเทศที่เป็นเมืองท่องเที่ยวรอง การประสานความร่วมมือกันในครั้งนี้ ได้ทำให้สายการบินนกแอร์มีจำนวนเส้นทางบินในประเทศมากกว่าสายการบินคู่แข่ง อย่างไทยแอร์เอเชีย

ปัจจุบันสายการบินมีช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสาร 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เอ็มเปย์ และซึทาญ่า ซึ่งช่องทางที่หลากหลายจะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้การจำหน่ายตั๋วโดยสารมีความครอบคลุมยิ่งขึ้น ความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราที่นั่งของสายการบินเอส จี เอ สัดส่วน 15-20% ต่อปี

“นกแอร์ต้องการส่งเสริมให้คนไทยใช้บริการเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่ให้บริการอย่างครอบคลุมนี้ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินไทยในประเทศปีนี้ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 14-15 ล้านคน การทำตลาดร่วมกันนกแอร์ยังไม่หวังเรื่องกำไร หรือผลตอบแทนที่จะได้รับ แต่มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก่อนวางแผนให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศในลำดับต่อไป” พาที กล่าว

สำหรับแผนการขยายเส้นทางในประเทศ ไตรมาส 3 เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-เชียงราย ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ ได้เลื่อนแผนการเปิดให้บริการกรุงเทพฯ-บังคาลอร์ ประเทศอินเดีย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสนามบิน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่จะถึงนี้

นกแอร์มีแผนที่จะขยายเส้นทางในประเทศให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มบริการให้แก่ลูกค้าให้สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้นในทุกจุดหมายปลายทางของเมืองไทย ซึ่งการร่วมมือกับเอสจีเอครั้งนี้ทำให้นกแอร์เป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินในประเทศมากที่สุด เหนือกว่าแอร์เอเชีย โดยบริษัทมีแผนว่าในอนาคต จะสร้างฮับในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ นกแอร์จะใช้เชียงใหม่เป็นฮับ ในการขยายเส้นทางบินไปในจังหวัดใกล้เคียง ส่วน ภาคอีสาน คาดว่าจะใช้อุดรธานีเป็นฮับ ขณะที่ภาคใต้ ขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา

วันทูโก สายเลือดพันธุ์ใหม่ของโอเรียนท์ไทย

กลยุทธ์ซื้อตั๋วราคาเดียวประมาณ 1790 บาทสามารถบินได้ทุกเส้นทางภายในประเทศบวกกับการเปิดให้บริการสายการบิน วันทูโก ที่บินเฉพาะเส้นทางภายในประเทศส่งออกมาสู้กับคู่แข่งขัน และทำให้โอเรียนท์ไทยภายใต้การบริหารจัดการของ อุดม ตันติประสงค์ชัย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประสบความสำเร็จเล็กๆ

ขณะเดียวกันแผนการตลาดที่ถูกวางไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 กลับมีความเข้มข้นเรื่องของกลยุทธ์ด้วยการนำเสนอบัตร GO Card ออกมา เพิ่มความสะดวกสบายกับการบิน-ท่องเที่ยวในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติพิเศษของบัตรใบนี้จะเป็นแบบระบบเหมาจ่ายพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักเดินทาง โดยมูลค่าบัตรจะมีระหว่างใบละ 5,000 และใบละ 20,000 บาท

นอกจากจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้เกิดความจดจำแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสายการบินกับลูกค้าให้มีไปอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน สายการบินวันทูโก เปิดบริการเที่ยวบินภายในประเทศที่ดอนเมือง จำนวนกว่า 38 เที่ยวบินต่อวัน สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารประมาณ 5,000 คนต่อวัน โดยเที่ยวบินส่วนใหญ่จะเปิดบริการที่ดอนเมืองเกือบทั้งหมด ยกเว้นเที่ยวบินโดยสารจากภูเก็ตบางเที่ยวบินที่ยังคงให้บริการที่สุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีผู้โดยสารต่างประเทศใช้บริการ และจำเป็นต้องใช้รหัสร่วมกับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่โอเรียนท์ไทยเปิดให้บริการอยู่ สำหรับเคาน์เตอร์เช็คอินของวันทูโกจะอยู่ระหว่างเคาน์เตอร์หมายเลข 35-40 จำนวน 6 เคาน์เตอร์

ไทยแอร์เอเชียสู้ยิบตา

สายการบินไทยแอร์เอเชีย แม้ว่าจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายเดียวที่ยืนยันว่าจะใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งเดียวเท่านั้น ว่ากันว่าเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการวางแผนการตลาด เพราะสายการบินไทยแอร์เอเชียมีเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกันจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการนำมาใช้งาน ซึ่งถ้ามีการย้ายฝูงบินไปอยู่ที่ดอนเมืองบางส่วนโดยเฉพาะเส้นทางภายในประเทศก็เท่ากับว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางธุรกิจ

การสร้างแบรนด์ของไทยแอร์เอเชีย ช่วงปีที่ผ่านมาถือได้ว่ากลยุทธ์เรื่องของ “ราคา”น่าจะเป็นตัวที่สร้างความสำเร็จในการกระตุ้นให้คนไทยอยากเดินทางด้วยเครื่องบินดูได้จากตัวเลขกว่า 3 ล้านคนที่เข้าไปใช้บริการช่วงปีที่ผ่านมาและสามารถสร้างรายได้ให้กับไทยแอร์เอเชียเป็นกอบเป็นกำ

ขณะเดียวกันการชูจุดขายภายใต้สโลแกนว่าสายการบินเอนเตอร์เทรน ยังสามารถสร้างแรงดึงดูดให้มีกลุ่มพันธมิตรเข้ามาจับมือร่วมกันทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกีฬาฟุตบอลที่กระโดดไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลแมนเชตเตอร์ยูไนเต็ด สร้างสีสันให้กับวงการธุรกิจการบินมาแล้ว

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาให้บริการไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เนทหรือการจองตั๋วผ่านระบบเอทีเอ็ม ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นแผนการตลาดที่ถูกจัดวางไว้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับลูกค้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงไม่แปลกสำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียจะยังคงให้ความไว้วางใจสั่งจองตั๋วโดยสารเครื่องบินแม้ว่าจะต้องรอบินในอีกหลายวัน หลายอาทิตย์ หรือหลายเดือนก็ตาม

และสิ่งสำคัญที่ ทัศพล แบเลเว็ลส์ ซีอีโอของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เคยบอกไว้ตั้งแต่เปิดให้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียใหม่ๆว่า ใครๆก็บินได้ จะสามารถนำพาให้ธุรกิจประสความสำเร็จได้เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่กำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถภายใต้ภาวะแรงกดดันทั้งทางธุรกิจและการเมือง...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.