มหา'ลัยแฉกันเอง! ตัวการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(9 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อธิการบดี มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนขานรับ กม. "ฟัน"คนรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ชี้เป็น "อาชญากรรม"ทางการศึกษาที่ร้ายกาจ เสนอใช้บทลงโทษรุนแรงไล่ออก - ลบชื่อออกพ้นสภาพนักศึกษา ขณะที่ "มือปืนรับจ้าง"เปิดโพย "ค่ารับจ้าง" มีสนนราคาตั้งแต่ 25,000- 500,000 บาท พร้อมทิ้งบอมส์ ผู้บริหาร เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาเพราะทุกแห่งเร่งเปิดหลัก "สูตรพิเศษ"หวังแค่ปั๊มเงินเข้าคณะฯขณะที่ความพร้อมในสถาบันยังไม่มี

การออกมาเสนอให้ออก พ.ร.บ.ทำผิดทางวิชาการ ของ วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)อันเนื่องมาจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามาเกิดกระบวนการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาตรี - โท -เอก โดยอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์ หาลูกค้าผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

กระบวนการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ทั้งของรัฐและเอกชนต่างก็พร้อมใจกันเปิด "หลักสูตรพิเศษ"สำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อระดับปริญญาโท ขณะเดียวกันนั้นก็มีสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งที่หันมาเปิดสอนในระดับปริญญาเอกขึ้น

ในที่สุดหลักสูตรพิเศษทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน จึงกลายเป็น "ธุรกิจการศึกษา" พร้อมๆกับการเกิดกระบวนการ "มือปืนรับจ้าง"ทำวิทยานิพนธ์ขึ้น อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

การศึกษาคือธุรกิจ

ดังนั้นการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อจบการศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปหากผู้เรียนหรือผู้ต้องการว่าจ้างมีคอมพิวเตอร์และใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเท่านั้น งานที่ยากแสนยากก็กลายเป็นง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ

"วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์ สาระนิพนธ์, Thesis, Research, IS(Independent Study) ปัญหาพิเศษ รายงาน เอกสารวิชาการ งานต่างๆ เหล่านี้ หากเป็นปัญหาสำหรับคุณ ผมช่วยเหลือได้ เพราะผมเคยทำมาก่อน มีประสบการณ์มาแล้วหลายเล่ม ทั้งภาครัฐและเอกชน งานด่วน งานเร่ง งานไม่เร่ง เราทำได้ในเวลาที่คุณต้องการ"

นั่นเป็นข้อความโฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆที่คนที่ต้องการจะติดต่อกับ "มือปืนรับจ้าง"งานด้านวิชาการได้ทันใจ "เอก" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "มือปืนรับจ้าง" มานานกว่า 10 ปี บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าได้เข้าสู่วงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 โดยครั้งแรกๆนั้นถูกเรียกตัวจากอาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาโทให้มาเป็นผู้ช่วยดูวิทยานิพนธ์ของรุ่นน้องๆก่อน ก่อนที่จะหันมารับจ้างคนรู้จักกันโดยการค้นหาข้อมูลตามห้องสมุด ช่วยแปลและเรียบเรียงก่อนจนเกิดความชำนาญจึงรับทำวิทยานิพนธ์เองโดยรับทำหลายแบบคือทั้งทำบางบท ให้คำปรึกษา จนกระทั่งรับทำทั้งเล่ม

"กว่าจะรับทำวิทยานิพนธ์ได้นี่ไม่ง่ายนะครับเพราะผมต้องทำตัวเหมือนเป็นผู้ไปเรียนเองยิ่งคนที่มาจ้างให้ทำทั้งเล่มยิ่งหนักเราต้องทำการบ้าน หาข้อมูลหนักมากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างแล้วก็ถือว่าคุ้ม เพราะเรื่องประเภทนี้นี้ยิ่งทำยิ่งชำนาญจะรู้ว่าหัวข้อการทำวิจัยประเภทนี้ต้องใช้อะไร ข้อมูลแบบไหน"

เอก อธิบายให้ฟังว่า โดยส่วนตัวแล้วมีอัตราค่าบริการสามแบบคือ แบบให้คำปรึกษาอย่างเดียวจะคิดในราคา 1,000 บาทหรือบางทีก็ปรึกษาฟรี ส่วนที่ให้ทำบางบทก็จะคิดตามความยากง่ายของหัวข้อ ราคาจะอยู่ที่บทละ 8,000 - 15,000 บาท ส่วนที่ให้ทำทั้งเล่มนั้นก็จะถูกกำหนดโดยความยากง่ายของหัวข้อคือถ้าหัวข้อง่ายๆจะอยู่ในราคา 35,000 บาทและที่ยากๆก็จะเรียกถึง 50,000 บาท

สำหรับคณะที่ได้รับการติดต่อให้ทำวิทยานิพนธ์มากที่สุดของเอกนั้นจะเป็นคณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ส่วนที่ไม่รับทำเลยจะเป็นคณะที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะอย่างคณะวิทยาศาสตร์

"การรับทำวิทยานิพนธ์ถือเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งซึ่งต้องใช้ความสามารถส่วนตัว คนที่มีความรู้ความสามารถเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ไม่ใช่ใครคิดจะทำแล้วทำได้เลย ส่วนตัวจบการศึกษาในระดับปริญญาโท มีงานประจำทำ การรับจ้างทำวิทยานิพนธ์เป็นเพียงการหารายได้พิเศษเท่านั้น"

รายได้ดีแถมมีความรู้เพิ่ม

อย่างไรก็ดีการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์สำหรับบางคนอาจจะเป็นเพียงการหารายได้เสริม แต่สำหรับบางคนแล้วถือว่าการเป็น "มือปืนรับจ้าง" นั้นเป็นรายได้หลักของครอบครัว อย่างครอบครัวของ "หญิง"ซึ่งมีพี่น้องสามคนทุกคนล้วนแล้วแต่เรียนเก่งและจบการศึกษาในระดับปริญญาโท

หญิงเล่าว่า ก่อนที่จะหันมารับทำวิทยานิพนธ์ทุกคนในบ้านมีงานประจำทำแต่เราพี่น้องเห็นลู่ทางในการหาเงินจากการรับทำวิทยานิพนธ์ว่าดีกว่ารายได้ประจำที่ทำอยู่จึงปรึกษากันลาออกมารับจ้างทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว โดยเริ่มต้นการทำอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันตั้งแต่ต้นปี 2544 เป็นต้นมา

"เรามีลูกค้าตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก โดยส่วนใหญ่จะรับจ้างทำ 2 รูปแบบคือทำบางบทและรับทำทั้งเล่มโดยราคาค่าทำจะขึ้นอยู่ที่ความยากง่ายของหัวข้อเป็นหลัก ซึ่งถ้าหากรับทำบางบทจะคิดราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนที่ทำทั้งเล่มจะเริ่มต้นที่ 25,000 บาทไปจนถึง 60,000 บาท"

ส่วนระดับปริญญาเอกหรือดุษฎีนิพนธ์นั้นจะคิดในราคาเริ่มต้นที่ 200,000 บาทไปจนถึง 500,000 บาทซึ่งก็ใช้หัวข้อและความยากง่ายในการกำหนดราคาค่าบริการ โดยที่ผ่านมานั้นเรารับทำวิทยานิพนธ์ และดุษฎีนิพนธ์ มามากกว่า 100 เล่มและลูกค้าทุกคนที่มาใช้บริการของเราก็ไม่เคยมีปัญหา

หญิง เล่าให้ฟังอีกว่า พวกเราคิดว่า ได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง คือได้เงินดีแถมได้ความรู้ด้วยก็ถือว่าเป็นการทำงานที่คุ้มค่า ซึ่งลูกค้าที่มาใช้บริการเรานั้นมีหลากหลาย บางคนมีงานประจำการมาเรียนเขามีเหตุผลเพื่อยกวิทยะฐานะไม่มีเวลาเราก็เข้าใจ บางคนมีเวลาจะทำเองก็ได้แต่ไม่ทำเพราะขี้เกียจก็มาใช้บริการเยอะมาก ในฐานะเป็นผู้รับทำเมื่อทำได้เราก็รับทั้งหมด แต่ถ้าทำไม่ได้หรือเราไม่มีความถนัด ก็จะบอกลูกค้าให้ไปหาคนอื่นทำแทน"

"สำหรับคณะที่ได้รับการติดต่อให้ทำมากที่สุดก็คือ คณะบริหารธุรกิจ วิจัยทางการเงิน รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ส่วนคณะที่เราไม่รับเลยคือสายวิทยาศาสตร์"

ผู้บริหาร - นักการเมือง จ้างทำมากที่สุด

การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นการยกวิทยะฐานะที่ดีที่สุดจึงไม่แปลกหากจะมีนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการจากภาคส่วนต่างๆเข้าไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

วิศ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งรับทำวิทยานิพนธ์ เล่าให้ฟังว่า เขากับกลุ่มเพื่อนๆประมาณ 15 คน รับทำวิทยานิพนธ์มาตั้งแต่ปี 2540 งานที่รับทำนั้นจะได้รับการติดต่อจากคนรู้จัก และจะไม่ไปลงโฆษณาในเว็บไซด์ ลูกค้าจึงมีเฉพาะนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการที่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาพอที่จะทำวิทยานิพนธ์จึงมาว่าจ้างให้พวกเราทำให้

สำหรับกลุ่มจะรับงานด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นหลักเพราะมีความถนัดมากที่สุด โดยจะรับทำทั้งเล่มโดยระดับปริญญาโท คิดในราคาเล่มละ 25,000 บาทขึ้นไป ส่วนปริญญาเอกจะคิดในราคาเล่มละ 100,000 บาทไปจนถึง 300,000 บาท

"พวกเรารับงานนี้มานานจนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ผ่าน "ปากต่อปาก" และลูกค้าของเราถ้าบอกชื่อออกไปแล้วเชื่อว่าทุกคนจะต้องรู้จัก ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง ยิ่งมหาวิทยาลัยต่างๆแข่งกันเปิดหลักสูตรใหม่ๆออกมาเรื่อยๆฐานลูกค้ายิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัวไปแล้ว ถ้าจะแก้กฎหมายผมว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่าและคิดว่าไม่ได้ผลแน่นอน"

อธิการบดีรัฐ-เอกชน ขานรับ

ในมุมมองของกลุ่ม "มือปืนรับจ้าง" อาจแตกต่างจากมุมมองของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำ พ.ร.บ.การทำผิดทางวิชาการออกมาบังคับใช้

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การจ้างทำวิทยานิพนธ์ถือเป็นอาชญากรทางการศึกษาเพราะทำให้ระบบการวัดผลเสียและไม่ได้คนที่เก่งจริง เพราะการทำวิทยานิพนธ์นั้นเป็นเรื่องทางวิชาการ การมีคนรับจ้างทำนั้นไม่รู้ว่าจะเอากฎหมายใดมาจัดการแต่ในส่วนของนักศึกษาหรือผู้จ้างนั้นทางสถานศึกษาอาจจะเอาผิดในเรื่องของการปลอมแปลงเอกสารเสนอต่ออาจารย์ ถือว่าเป็นการทำผิดเกณฑ์ในการสอบเพราะเหมือนกับการลอกข้อสอบหรือให้คนอื่นเข้าสอบแทนตนเอง

"เรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยมีมาตรการและมาตรฐานการลงโทษของแต่ละทีอยู่แล้ว การออกกฎหมายเพื่อควบคุมปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะออกมาในรูปแบบใดและจะทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้ได้"

ด้าน ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.)บอกว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นความผิดทั้งทางด้านกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยและความผิดทางศีลธรรมและจริยธรรม เป็นการหลอกลวงคนอื่นให้หลงเชื่อว่าตนนั้นจบการศึกษา

"ผมเห็นด้วยที่จะออกกฎหมายกำหนดบทลงโทษทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง

ทำวิทยานิพนธ์ แต่คิดว่าในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นมีบทลงโทษอยู่แล้ว โดยจะต้องให้นักศึกษาที่ทำเช่นนี้ไม่จบการศึกษาและไม่สามารถไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอื่นๆภายใน 3-5 ปี ส่วนผู้รับจ้างนั้นอาจจะถูกลงโทษด้วยการถูกปรับ ซึ่งบทลงโทษเช่นนี้ก็ถือว่ารุนแรงและคาดว่าน่าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง"

ขณะที่ ดร.ธนู กุลชล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า กรณีดังกล่าวนี้เห็นว่าการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์นั้น ถือเป็นการโกงต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อไม่ให้มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น การให้พ้นสภาพนักศึกษา ริบเงินที่ลงทะเบียน และไม่ให้มีสิทธิ์ในการเข้าไปศึกษาต่อในสถาบันอื่นๆ เป็นต้น

"โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าทุกมหาวิทยาลัยมีบทลงโทษของตัวเองอยู่แล้วเพียงแต่จะเอาจริงเอาจังกันหรือไม่เท่านั้น แต่ถ้าหากออกมาเป็นกฎหมายก็จะเป็นการ "สำทับ"ให้ผู้ที่จะกระทำเกิดความเกรงกลัวมากขึ้น"

รศ.ดร.พะยอม วงศ์สารศรี อธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต บอกว่าเห็นด้วยหากมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดบทลงโทษกับผู้รับจ้างและผู้จ้างทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดต่อทั้งทางศีลธรรม จริยธรรมและกฎหมาย

"สถาบันของเราถ้าทราบว่ามีการจ้างทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์จะไม่ให้นักศึกษาที่ทำเช่นนั้นจบการศึกษา โดยจะให้พ้นสภาพนักศึกษาโดยทันทีเช่นกัน"รศ.ดร.พยอมกล่าว

ด้าน รศ.ดร สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บอกว่า การออกกำหมายมาควบคุมการกระทำผิดดังกล่าวถือว่าดีต่อส่วนรวมแต่โดยส่วนตัวเห็นว่ามหาวิทยาลัยต่างๆน่าจะให้อาจารย์ที่รับผิดชอบนั้นดูแลนักศึกษาอย่างเข้มงวดเพราะที่ผ่านมานั้นแต่ละสถาบันต่างก็แข่งขันกันเปิดหลักสูตรใหม่ๆเพื่อจูงใจผู้เรียนแต่ไม่ได้หันมามองตัวเองว่ามีความพร้อมหรือไม่

"ไม่ได้ว่าใครแต่ที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้นจริงๆคือแต่ละที่แข่งกันเปิดหลักสูตรปริญาโท ปริญญาเอก แข่งกันใหญ่แต่พอหันมาดูอาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตรแล้วมีแค่คนเดียวถามว่าอย่างนี้จะดูแลนักศึกษา 50 -60 คนได้หรือไม่ ซึ่งถ้าแต่ละแห่งมีอาจารย์ดูแลเพียงพอผมว่าปัญหานี้คงจะลดลง" รศ.ดร สุเจตน์ ระบุ

ดังนั้นปัญหาในการว่าจ้างทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้จบการศึกษาตามหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะแต่ละสถาบันการศึกษาต่างรับรู้ รับทราบเป็นอย่างดี และปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแต่ละสถาบันจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้หรือว่าเป็นเพียง "ปากว่าตาขยิบ" เพื่อช่วยให้ผู้ที่ขึ้นชื่อว่า "ลูกศิษย์" ได้จบการศึกษาและมีคนใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ในวงการศึกษาไปแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.