ไอทีวียื้อแจงแผนธุรกิจใหม่อีก6เดือน


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไอทีวี" ต่อลมหายใจดิ้นขอเวลาเพิ่ม 6 เดือนชี้แจงแนวทางดำเนินธุรกิจต่อตลท. เปิดทางดันธุรกิจบริษัทย่อยเป็นธุรกิจหลัก ด้านสมาคมส่งเสริมฯ โบ้ยทำงานเพื่อรายย่อยแจงคดีถึงที่สิ้นสุด จี้บอร์ดฟ้องผู้ที่ทำให้บริษัทเสียหาย ขณะที่“ปลัดฯ สปน.-อธิบดีกรมกร๊วก” ใบ้กินโบ้ยกันเอง คำถาม ปชป.จี้ใจดำเงินบริหาร “ทักษิณทีวี” เผย 20 เม.ย. ได้ฤกษ์ดันระเบียบการเงิน “เอสดียู” เข้า บอร์ด ก.พ.ร. “จุลยุทธ” รับ ก.คลัง ยังไม่ไฟเขียวใช้เงิน 70 ล้านบริหารทีวี ด้าน “คุณหญิงทิพาวดี” แจงรวม กสช.-กทช. ต้องรอพิมพ์เขียว กมธ.ยกร่างรธน. ก่อน ส่วนกระบวนการสรรหา กสช. ไม่รอรธน. เดินหน้าเต็มที่

นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯขอให้บริษัทฯ ชี้แจงแนวทางการดำเนินการและกรอบระยะเวลา เพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายใน 30 วันนับจากวันประกาศว่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เข้าข่ายถูกเพิกถอน (ภายในวันที่ 9 เมษายน 2550) บริษัทฯขอขยายระยะเวลาการชี้แจงแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนด

ทั้งนี้เหตุผลที่จะต้องขอให้มีการเลื่อนชี้แจงแนวทางเนื่องจาก การคิดคำนวณค่าปรับ และดอกเบี้ยของค่าสัมปทานส่วนต่างของสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัญญาและกฎหมาย ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ชี้ขาดในเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าตอบแทนส่วนต่างว่าบริษัทไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและ สปน.ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทราบจำนวนหนี้ที่แน่นอน และยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยและค่าปรับให้กับ สปน. หรือไม่เพียงใด บริษัทฯ จึงจำต้องขอเวลาเพื่อรอผลการพิจารณาชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

สำหรับการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เนื่องจาก สปน. ได้อ้างเหตุที่บริษัทไม่ชำระค่าปรับและดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างในการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ซึ่งบริษัทฯ ได้มีหนังสือโต้แย้งไปที่ สปน.ว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยข้อสัญญาของสัญญาเข้าร่วมงาน โดยในเบื้องต้นบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถสรุปความเสียหายและดำเนินการทางกฎหมายในการดำเนินคดีต่อศาลและหรือการเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2550 นี้

เล็งปรับธุรกิจอิงบริษัทย่อย

นายสมคิด กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แต่บริษัทฯได้พยายามพิจารณาหาแนวทางการประกอบธุรกิจใหม่ในกรณีที่บริษัทฯจะไม่สามารถดำเนินการธุรกิจสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อไปได้อีก โดยได้มีการพิจารณาฐานของธุรกิจในบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทฯ คือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัดซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ และบริษัท มีเดีย คอนเน็คซ์ จำกัดซึ่งประกอบธุรกิจ ให้บริการสื่อโฆษณาและผลิตเนื้อหา (content) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือของฝ่ายบริหารซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ยังได้พิจารณาหาแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ซึ่งรวมทั้งการวางแผนธุรกิจ และหรือการระดมทุน จากผู้ร่วมทุนภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งบริษัทฯ จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาผลดีและผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้การฟื้นฟูสถานะและกิจการของบริษัทฯ เป็นประโยชน์ให้กับบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯขอยืนยันว่าบริษัทฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงความพยายามในการที่จะปกป้องผู้ถือหุ้นรายย่อยมิให้เกิดความเสียหายจากการที่บริษัทฯ จะต้องถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่ยังไม่มีความชัดเจนที่ทำให้บริษัทฯ ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้ เนื่องจากการหาแนวทางต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร บริษัทฯ จึงใคร่ขอขยายระยะเวลาดังกล่าว

ตลท.ขอเวลาตรวจสอบ

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมพิจารณาคำร้องของบมจ.ไอทีวีที่ขอเสนอขยายเวลาการดำเนินงานเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอน หากข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยและสามารถทำให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ จะต้องพิจารณารายละเอียดข้อเสนอขยายเวลาดังกล่าวก่อน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใหมาของบริษัท

ส.ส่งเสริมฯโบ้ยคดีถึงสิ้นสุด

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง บมจ.ไอทีวี หรือ ITV โดยระบุว่าตามที่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบมจ.ไอทีวี ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันอังคารที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างบริษัทฯ กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) นั้น

ทางสมาคมได้พิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีพิพากษาดังกล่าวได้เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ซึ่งผลของคำพิพากษาดังกล่าวถือว่าถึงที่สุดแล้ว ทางสมาคมจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้อีก หากทางบริษัทเห็นว่ามีบุคคลใด ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายตามคำพิพากษาดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายของคณะกรรมการบริษัทที่จะต้องดำเนินการฟ้องร้องบุคคลนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นต่อไป


สปน.โยนให้กรมประชาฯชี้แจง

วานนี้(9 เม.ย.) นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ชี้แจงเงินบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยระบุสั้น ๆว่า เรื่องนี้ต้องให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ชี้แจง อย่างไรก็ตามได้มีการยืนยันแล้วว่า กรมประชาสัมพันธ์จะนำระเบียบการเงิน เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือ เอสดียู ที่ไปจัดทำมาใหม่ เสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ในวันที่ 20 เม.ย.นี้

นายจุลยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ สปน.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณาว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ในกำกับของ สปน. จะสามารถดำเนินการงานในระเบียบการหมุนเวียนการเงิน ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยระบบบัญชี โดยเฉพาะการรับเงินและการหมุนเวียนเงินได้หรือไม่ และกระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องกลับมาว่า กรมประชาสัมพันธ์ สามารถกำหนดระเบียบเพื่อเปิดบัญชีรับเงินรายได้ และค่าโฆษณา 70 ล้านบาทของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี นับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2550 มาเก็บไว้ได้ แต่ยังไม่สามารถนำเงินมาหมุนเวียนได้

“สปน.ได้เสนอไป 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องเกี่ยวกับการรับเงิน ที่กระทรวงการคลัง ตอบมาว่า สามารถทำได้โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ทำการแยกบัญชี และเรื่องที่ 2. การที่จะนำเงินมาใช้ในการหมุนเวียน โดยไม่ส่งกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่หารือไป แต่ยังไม่ได้รับตอบกลับมา เพียงแต่ว่าตอนนี้ได้มีการประสานงานในระดับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา และรับทราบว่ามีการประสานเร่งรัดให้กระทรวงการคลังรีบตอบกลับมาว่าจะสามารถนำเงินมาหมุนเวียนเพื่อบริหารในสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้หรือไม่ และหากใช้ได้ สปน.ก็จะต้องมาทำระเบียบการเงินอีกครั้ง”ปลัดฯสปน.กล่าว

นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ชี้แจงสถานภาพการเงินของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีว่า กรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติ และตนได้ส่งเรื่องมายัง ปลัดสปน.และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแล้ว แต่เรื่องนี้ก็มีความคืบหน้าไปมาก และทุกอย่างก็เป็นรายละเอียดทางกฎหมายที่จะเสนอต่อบอร์ด กพร.โดยเร็ว

ขณะที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพิจารณาสรุปผลการจัดรับฟังความคิดเห็นถึงอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ในวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อกำหนดที่จะยกร่างพ.ร.บ.โทรทัศน์สาธารณะหรือโทรทัศน์เสรีต่อไป

แหล่งข่าวจาก สปน. เปิดเผยว่า ก่อนวันที่ 20 เม.ย. ทางฝ่ายกฎหมาย ก.พ.ร. และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จะหารือเรื่องเอสดียู ครั้งสุดท้าย เชื่อว่าประมาณวันที่ 18 หรือ 19 เม.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินว่าจะให้เอสดียูดำเนินการชั่วคราวในระยะเวลาเท่าใด ว่าจะเป็นเดือนหรือเป็นปี หรือให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้แก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันคุณหญิงทิพาวดี เมฒสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 โดยเฉพาะ 2 องค์การ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ดำเนินการอยู่ และคณะกรรมการการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) มีนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายประสิทธิ โฆวิลัยกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดฯสปน.

คุณหญิงทิพาวดี แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องรอมติความชัดเจนในการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 เม.ย. นี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณายกร่างในมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการจัดคลื่นความถี่ฯ โดยมีแนวโน้มที่อาจจะนำมารวมกัน ทั้งนี้ตนยังได้หยิบยกข้อเสนอการรวม กทช.และ กสช. ของคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาชี้แจงโดยเฉพาะการหลอมรวมกันของเทคโนโลยีที่จะให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากหลายประเทศก็มีการหลอมรวมกันแล้ว อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังขอให้ สปน. ดำเนินการในกระบวนการคัดสรรคณะกรรมการสรรหา กสช. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 7 ปี ที่ยังไม่สามารถจัดตั้ง กสช.ได้

ทั้งนี้กระบวนการสรรหา กสช. จะดำเนินต่อไป โดยไม่รอว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติ ให้รวม กทช. และกสช. หรือไม่ แต่หากรัฐธรรมนูญ มีบัญญัติใหม่ก็จะต้องมีออกกฎหมายลูกเพื่อรอประกาศใช้ และมีการยกร่างกฎหมายเพื่อรวม กสช.และ กทช.ขึ้นมาใหม่ ซึ่งตนเข้าใจว่าจะต้องใช้เวลาการรวม กสช. และกทช. ในปีหน้า(2551)


“เข้าใจว่าจะมีการบัญญัติมาตราองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมแตกต่างไปจากที่บัญญัติเอาไว้แล้ว แทนมาตรา 40 เข้าใจว่าจะเป็นมาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชุมจึงเห็นว่า จะต้องรอกฎหมายแม่บท หรือรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะบัญญัติอย่างไร เราเป็นรัฐบาลชั่วคราวจึงต้องรอดูความชัดเจน และขณะนี้จึงไม่ควรที่จะดำเนินการใดๆในช่วงนี้”รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯกล่าว

นายจุลยุทธ กล่าวว่า ความคืบหน้าในกระบวนการคัดสรรคณะกรรมการสรรหา กสช. ยังอยู่ในขั้นขอความเห็นของตัวแทนสมาคมวิชาชีพ 37 สมาคมและตัวแทนองค์กรเอกชน 63 องค์กร โดยได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของตัวแทนทั้ง 2

องค์กรนี้ โดยกำหนดจะได้ตัวแทน 4 องค์กรประกอบด้วย ส่วนราชการ 5 คน คณาจารย์ 4 คน สมาคมวิชาชีพ 4 คน และ ตัวแทนองค์กรเอกชนอีก 4 คน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.