ชี้ลดอาร์พี0.50%ยังไม่พอกระตุ้นศก. ลุ้นกนง.ประชุมนัดหน้าขยับลงอีกระลอก


ผู้จัดการรายวัน(9 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์-นักวิชาการมั่นใจกนง.ปรับอาร์พีลงอีก 0.50% หนุนภาวะเศรษฐกิจชะลอ ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลดลง จับตาประชุม กนง.นัดต่อไปเดือน พ.ค.มีลุ้นปรับลงต่อ 0.25% ด้านนักวิชาการชี้ลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความผันผวนค่าเงิน ดึงความเชื่อมั่นภาคเอกชนกลับสู่การลงทุน

นายเชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 11 เมษายนที่จะถึงนี้ คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์พี 1 วัน)ลง 0.50% จาก 4.50% เหลือ 4.00% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับต้วลดลงอีกในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ แม้ว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้ แต่ในช่วงต่อไปก็จะลดลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ในระดับกว่า 6% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจะภาคการอุปโภคบริโภคที่ลดลง ทำให้คาดว่าธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50%

"เงินเฟ้อในเดือนเมษาฯและพฤษภาฯนี้คงจะปรับตัวลดลงมากเพราะได้รับอานิสงส์จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่สูงถึง6%กว่า ขณะที่ในปีนี้จากการอุปโภคบริโภคที่ลดลงทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน แบงก์ชาติจึงน่าจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในระดับ 0.50%"นายเชาว์กล่าว

นอกจากนี้ ยังคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปของกนง.ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ก็ยังคงต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 3.75% ซึ่งในส่วนนี้คงต้องรอทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2550 นั้นก็เห็นได้ว่ามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากปลายปี 2549 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทนยังคงเป้าเศรษฐกิจไว้ในระดับเดิมคือ 3.50-4.50% ซึ่งเชื่อว่าในกรอบล่างที่ระดับ 3.50%เพียงพอที่จะรองรับการชะลอของเศรษฐกิจได้ เว้นแต่จะมีปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าคาดการณ์ไว้ อาทิ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ถดถอยลงรุนแรง จึงจะมีการทบทวนสถานการณ์อีกครั้ง

นายเชาว์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่ยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไปนั้น เป็นส่วนของภาคการส่งออก ซึ่งยังคงเป็นความหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ และอีกส่วนเป็นกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างจะล่าช้า ซึ่งในส่วนนี้หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในขณะที่ภาคการอุปโภคและบริโภคไม่สามารถเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองก็ยังมีความเสี่ยงแม้ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระดับ 0.50% แล้วจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%หรือไม่นั้น ขณะนี้คงไม่สามารถตอบแทนธปท.ได้ แต่เชื่อว่าธปท.คงจะพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากหากมีการยกเลิกไปแล้ว เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วจะนำมาตรการกลับมาใช้อีกก็จะส่งผลเสียต่อระบบได้ แต่ค่าเงินบาทขณะนี้ก็ทรงตัวอยู่ในระดับ 35 บาท ภายหลังจากที่มีมาจรการต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจัยหลักที่ทำให้แบงก์ชาติน่าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% นั้นน่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่าในเรื่องของค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับที่ทรงต้วแล้ว"นายเชาว์

ด้านนางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าในการประชุมกนง.นัดถัดไปวันที่ 11 เมษายนนี้คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีก 0.50% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีทิศทางชะลอตัวลงประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส2 อาจจะชะลอลง ราคาน้ำมันมีทิศทางเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากความขัดแย้งของประเทศอิหร่าน แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันไม่น่าจะเกินจากเป้าหมายที่ทางฝ่ายวิจัยธนาคารคาดการณ์ไว้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์น่าจะอยู่ในกรอบ 2.0-2.5%

"ในไตรมาสแรกเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ 2.4%ซึ่งตรงกับที่เราได้ประมาณการไว้ ส่วนทั้งปีน่าจะอยู่ 2.0-2.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะสามารถทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้” นางรัตนา กล่าว

ทั้งนี้หาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกก็จะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐเพิ่มโดยหากการประชุมครั้งนี้ลด 0.50%ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับมาอยู่ที่ 4% ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐอยู่ที่ 5.25% ซึ่งต่างกัน 1.25% ส่วนทั้งปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงต่ออีกหรือไม่นั้น คงต้องรอพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคมประกอบการพิจารณา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสำหรับ กนง.ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้หรือปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถาบันการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามทันทีหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาเห็นว่าสถาบันการเงินต่างๆได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งในส่วนของเงินฝาก และ MLR ไปแล้วส่วนจะทำการปรับตามอีกหรือไม่นั้นเชื่อว่าสถาบันการเงินต่างๆ คงต้องพิจารณาดูแนวโน้มเศรษฐกิจเนื่องจากที่ผ่านมาการขยายสินเชื่อยังชะลอตัวซึ่งต้องดูว่าจากการลดอัตราดอกเบี้ย 0.50%จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินการคลัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าในการประชุม กนง.นัดถัดไปวันที่ 11 เมษายนนี้น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ออีก 0.50% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงค่าเงินบาทในปัจจุบันยังมีทิศทางปรับตัวแข็งค่าขึ้น ประกอบกับมาตรการกันสำรอง 30%ที่ได้ประกาศไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการผ่อนคลายบางอย่างเข้ามาก็ยังทำให้ค่าเงินยังแข็งค่าอยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นมาเสริม ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการใช้อัตราดอกเบี้ยในการดูแลค่าเงิน เพราะดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนของเงิน ซึ่งหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงก็จะทำให้เงินทุนไหลเข้าย้ายออกไปยังแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ก็จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาบ้าง

“มีความเป็นไปได้สูงต้องลดดอกเบี้ยลง และเพื่อให้เห็นผลคงจะต้องลดลงมากหน่อยน่าจะลง 0.50% เพราะค่าเงินยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของไทยที่ส่งผลต่อการส่งออก เพราะเราพึ่งพาการส่งออกคิดเป็น 60%ของเศรษฐกิจ ถ้าส่งออกยังพอไปได้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้ ประกอบกับเรื่องเงินเฟ้อ โดยในปีนี้อาจจะไม่สูงมากนักเพราะราคาน้ำมันก็ยังเคลื่อนไหวไม่มากโดยในปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา” นายมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงค่อนข้างมาก ฉะนั้นการใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือก็จะช่วยให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทำให้เกิดผลหลายทางและช่วยให้ค่าเงินอ่อนลงได้ในบางส่วน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.