สวัสดีค่ะ..นภาพรค่ะ" เสียงทักทายเปิดไมค์ของดีเจเสียงใสผู้จัดรายการ Green
Wave 106.5 FM ตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสามทุ่มทำให้แฟนานุแฟนที่ติดตามรายการของเธอ
อดรู้สึกไม่ได้ว่า ขาดฟังเธอวันใดเหมือนขาดอะไรสักอย่าง เพราะวิทยุของใครบางคนคล้ายโลกส่วนตัวอีกโลกหนึ่ง
ที่มีเธอนำความรื่นรมย์และเรื่องราวมาให้รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตามลำพัง
ความสำเร็จของกรีนเวฟในระยะเวลา 10 ปีที่นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ทำงานกับบริษัท
เอ-ไทม์ มีเดีย หลังจากเคยมีประสบการณ์เป็นดีเจที่คลื่นแซด 88.5 FM หนึ่งปีหลังจบจากนิเทศศาสตร์
จุฬาฯ นภาพรถือเป็นดีเจที่สามารถจัดควบ 2 คลื่นระหว่าง Green Wave และ Hot
Wave ที่แตกต่างกันมากๆ ทั้งรูปแบบ กลุ่มคนฟัง เนื้อหารายการ แต่เธอยังคงรักษาตัวตนของดีเจมืออาชีพได้เสมอ
"อ้อยเจอเสมอว่า งานดีเจไม่มีถูกหรือผิด มันขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบ
เวลาจัดกรีนเวฟ มันมีความยากอยู่อย่างหนึ่งคือมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่
ถ้าจัดเพลงใหม่ไปก็ไม่ต่างจากคลื่นอื่นที่เขาทำกัน ถ้าเก่าไปคนก็คิดว่าเพลงไม่ทันสมัยหรือเปล่า?
หรือเอาเพลงใหม่กับเก่ามาต่อกัน sound มันก็ไม่ต่อเนื่อง หรือถ้าเอาเรื่องวาเลนไทน์เยอะไป
คนจะคิดว่าบ้ารักเกินไป? มันต้องละเอียดทุกจุดในงานดีเจ คุณจะเป็นดีเจที่ดีได้
จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีมาก่อน"
ความเป็นคนช่างรู้สึกและช่างสังเกตของนภาพร เป็นสะพานเชื่อมโยงกับสมองให้เธอได้คิดสร้างสรรค์
วิธีปรุงแต่งวัตถุดิบแห่งชีวิตแต่ละวันออกมา ในรูปของเสียงคุยแทรกในแต่ละช่วงเบรกของรายการ
เช่น ทักทาย-เปิดเพลง-ชวนคุย-พักโฆษณา-ขอหลังไมค์ จนกระทั่งจบท้ายรายการ
นอกจากงานดีเจประจำที่ Green Wave นภาพรยังมีตำแหน่งเป็นหนึ่งในทีม executive
producer ที่คัดหาดีเจหน้าใหม่มานานกว่า 4 ปีแล้ว โดยบางวันเคยรับเทปเดโมสูงสุดถึง
40 ม้วนก็มี โดยเฉพาะช่วงนักเรียนนักศึกษาปิดเทอม นอกจากนี้นภาพรยังทำหน้าที่เป็น
co-monitor ในทุกคลื่นด้วย
"ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีทุกบริษัท พี่ฉอดอยากให้มีคนคอยมอนิเตอร์ฟังอย่างเดียว
ไม่ต้องจับผิดแบบคนทำงาน นอกจากนี้พี่ฉอดรู้สึกว่า เวลามี production ส่งต่อให้คนทำงานเบื้องหน้า
น่าจะมีคนทำงานเบื้องหน้ามาทำงานอยู่ตรงกลาง จะได้รู้ว่าส่วนคิดเกมบางอย่าง
ดีเจอึดอัดไหม หรือเล่นเกมทีเดียว 3 สาย รู้สึกยากเกินไปไหม? อ้อยจะทำหน้าที่ตรงนี้คอยสกรีนขั้นหนึ่งก่อน"
ณ วันนี้ นภาพรยอมรับว่า งานดีเจเป็นงานที่ต้องการคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิดแตกต่าง
แต่ Green Wave ก็ยังมีแฟนเหนียวแน่นอยู่
"กระบวนการบริหารคลื่นแบบ format station จะทำให้เขาไม่ติดดีเจ เพราะดีเจทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคลื่น
แต่เมื่อใดที่ดีเจคนใดคนหนึ่ง drop คุณจะเป็นหลุมของคลื่น มันก็เป็นความเครียดอีกแบบหนึ่ง
สมมติผู้ฟังอาจจะบอกว่าฟังทุกคลื่นยกเว้นช่วงคุณจัด เราต้องคิดว่าจะยอมไม่ได้...
ฉันต้องสู้ตาย เพราะฉันต้องทำให้คุณฟัง Green Wave ตลอด...โจทย์ของดีเจคือ
จงทำให้รายการของคุณมีคนฟังเยอะที่สุด และความสำเร็จจะเกิดขึ้นเมื่อคนเปิดวิทยุแล้วแอบคิดว่า
เป็นคุณจัดรายการหรือเปล่า?"
หลังไมค์ ผู้หญิงคนนี้ทำงานหนักด้วยหัวใจที่ทุ่มเท และภาคภูมิใจกับอาชีพดีเจที่ให้
good word, good feeling กับผู้ฟัง โดยมีสาระชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งภายใต้บริบทของธุรกิจวิทยุที่หล่อเลี้ยงความฝันของคนในอุตสาหกรรมแห่งนี้