เอ-ไทม์ มีเดีย ปั้นอากาศเป็นเงิน

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

จากธุรกิจที่เริ่มต้นการเช่าชั่วโมงผลิตรายการ มีคนเพียงแค่ 2-3 คน ที่ก่อร่างสร้างตัว สร้างโมเดลของธุรกิจ ที่เข้าถึงกลุ่มคนฟังจำนวนมาก สามารถแปรอากาศให้เป็นเงิน จนทำรายได้เป็นอันดับสอง ให้กับกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

"เป็นการเรียนรู้ และต่อยอดแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจาก ผลิตรายการวิทยุแบบเช่าชั่วโมง มีคนทำ 2-3 คน จนกระทั่งมาเป็น format station ก็เหมือนกับเส้นกราฟพุ่งสูงขึ้น" สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือ "พี่ฉอด" กรรมการผู้จัดการ บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) บอกกับ "ผู้จัดการ"

เส้นทางการเติบโตของอาณาจักรของ เอ-ไทม์ มีเดีย คงไม่ต่างไปจากเส้นทางชีวิตการเติบโตของการเป็นดีเจของสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา มากนัก

เอ-ไทม์ มีเดีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงที่ไพบูลย์ดำรงชัยธรรม เริ่มต้นธุรกิจเพลงได้ไม่นาน เขาเริ่มมองหาธุรกิจสื่ออย่างวิทยุเพื่อส่งผ่านเสียงเพลงไปสู่การรับรู้ของผู้ฟัง

แต่การขาดประสบการณ์ในธุรกิจวิทยุ ไพบูลย์ชักชวนสายทิพย์ ที่เป็นทั้งรุ่นน้อง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลูกน้องของไพบูลย์ สมัยทำบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ที่ต่อมาผันตัวเองไปใช้ชีวิต และสร้างชื่อจากการเป็น ดีเจทำรายการเพลงไทยจนมีชื่อเสียง ให้มาร่วมบุกเบิกธุรกิจวิทยุ

ความสำเร็จจาก "ร่มไม้รายทาง" รายการวิทยุแรกของ เอ-ไทม์ มีเดีย ที่นอกจากเป็นตราประทับความเป็นดีเจของพี่ฉอด ที่ได้เสียงตอบรับจากมิตรรักแฟนเพลงในเวลานั้นแล้ว ยังเป็นก้าวย่างของการเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลกำไรขาดทุน

เมื่อโครงสร้างธุรกิจวิทยุเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ส่งผลให้ระบบเช่าเหมาเวลาเป็นช่วงๆ ในแต่ละวัน เริ่มเปลี่ยนมาเป็นระบบการประมูลเวลาแบบเช่าเหมาตลอดทั้งวัน ที่นอกจากต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ยังต้องมีความพร้อมในเรื่องของเงินทุน

จากดีเจรายย่อย เดินหอบแผ่นเสียงเพลงเช่าห้องอัดรายการเป็นรายชั่วโมง กลายเป็นเรื่องของธุรกิจรายใหญ่

เอ-ไทม์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการยุคแรกๆ ที่เข้าสู่กลไก การเปลี่ยนแปลง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่ความเป็น format station ที่มีการกำหนดคอนเซ็ปต์ และบุคลิกของคลื่น มีการแบ่งกลุ่มคนฟัง ส่งผลให้ธุรกิจวิทยุที่ทำกันไร้ทิศทางไปสู่กระบวนการของการทำธุรกิจ ที่มีระบบจัดการ การตลาด และโฆษณา เข้ามาใช้อย่างเห็นผล

"การทำวิทยุสักคลื่น ไม่สามารถบังคับคนฟังได้ มันเป็น know-how ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำวิทยุได้สำเร็จ ถามว่าเราได้คลื่นวิทยุมาใหม่จะทำสำเร็จหรือไม่ ยังตอบไม่ได้เลย มันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มี 1 บวก 1 แล้วเป็น 2 เป็นช่วงเวลา บุคลากรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก" สายทิพย์สะท้อน

การบุกเบิกเข้าสู่การสร้างบุคลิกของคลื่นในช่วงแรกของ เอ-ไทม์ ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ควานหาแนวทาง กว่าจะมาลงตัวด้วย concept ของคลื่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

"ตอนเริ่ม Green Wave และ Hot Wave ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทาง ไหน เราจัดเหมือนกับรายการเพลงทั่วไป เรายังไม่รู้ know-how ว่าทำอย่างไร คุยกันเองในทีมงาน แต่ละคลื่นควรมีบุคลิกของคลื่น แต่ถ้าเป็นกีฬา หรือสุขภาพ ทำยังไงก็ไม่ติด ต้องสนุก ทันสมัย" สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร Producer Director ที่มีหน้าที่ดูแลการ Producer ทั้ง 5 คลื่น ของ เอ-ไทม์ มีเดีย

สมโรจน์ เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เอกสาขาวิทยุ และโทรทัศน์ เริ่มงานที่จีเอ็มเอ็มในการเป็น Producer ผลิตรายการโทรทัศน์ ถูกชักชวนเข้ามาร่วมงานกับเอ-ไทม์ ในช่วงข้อต่อของการขยายไปสู่การเป็น format station

กว่าจะมาเป็นคลื่น Green Wave ที่ติดตลาด ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ที่มาลงตัวด้วยการเป็นคลื่นที่ฟังง่ายๆ กลุ่มคนฟังที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นวัยทำงาน ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี

คลื่น 88.0 เป็นคลื่นที่สองที่ได้สัมปทานมาในเวลาใกล้ๆ กัน เริ่ม ด้วยการวางคอนเซ็ปต์ของ Radio no Problem เป็นศูนย์กลางตอบปัญหาที่วางไว้ไม่โดนใจผู้ฟัง แต่ทำได้ ไม่ถึงปี ต้องประสบกับปัญหาขาดทุน 42 ล้านบาท แม้ช่วงนั้นจะเป็นจังหวะ โอกาสที่ดีมากก็ตาม

"เริ่มต้นจากการเป็นศูนย์กลาง ในการตอบปัญหาให้กับทุกคำถาม ทำไปทำมา ปรากฏปัญหาเรื่องจิตวิทยาเยอะมาก คนฟังรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องของเขา จากที่น่าสนใจกลายเป็นความเครียด จริงๆ แล้ววิทยุเป็นสื่อบันเทิง ผ่อนคลาย ไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ เรตติ้งคนฟังก็ไม่เข้า" สมโรจน์บอก

หลังจากผ่านการลองผิดลองถูก ควานหาแนวทาง จนกระทั่งเริ่มจับแนวกลุ่มคนฟังวิทยุ ที่ต้องการเพื่อความผ่อนคลาย สนุกและบันเทิงเป็นหลัก การกำหนดคอนเซ็ปต์คลื่นของเอ-ไทม์ ที่มุ่งเน้นไปที่ความบันเทิง เพื่อตอบสนองกลุ่มคนฟังในระดับ Mass ของเอ-ไทม์ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น

"เรดิโอโหวต ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกคนอยากฟังอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องบันเทิง เรื่องหนัง ให้คนฟังโหวตว่า ชอบดาราคนไหน ทำไม่นานก็ขึ้นอันดับ"

คลื่นวิทยุเอ-ไทม์ ทั้ง 5 คลื่น ถูกวางคอนเซ็ปต์ของการ เป็นคลื่นเพลงที่มุ่งจับกลุ่มคนฟังกลุ่มวัยรุ่น ที่นอกจากเป็นคนฟัง กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังสอดคล้องกับธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่มุ่งลูกค้าในกลุ่มเดียวกัน

การเพิ่มคลื่นวิทยุของเอ-ไทม์ ในช่วงหลังเป็นไปเพื่อขยายให้ครอบคลุมกลุ่มคนฟังกลุ่มวัยรุ่น ที่เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของตลาดเพลงมากกว่าการสร้างเนื้อหาที่แปลกใหม่ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่มีฐานขนาดใหญ่ ตั้งแต่เด็กก่อนวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ในแต่ละช่วงอายุ มีไลฟ์สไตล์ และความต้องการในการฟังวิทยุที่แตกต่างกันไป วัยทำงานจนกระทั่งถึงช่วงก่อนวัยรุ่น หรือ Pre teen

แม้กระทั่ง Bangkok radio คลื่นเพลงอันดับ 5 ที่ได้มาล่าสุด กำหนดคอนเซ็ปต์คลื่นเพลงไทยและสากล มุ่งเน้นกลุ่มคนฟังในกรุงเทพฯ ตอบสนองแนวเพลงของผู้ชื่นชอบแนวเพลง easy listening ที่ยังเป็นแนวเพลงที่กลุ่มคนฟังคนกลุ่มใหญ่นิยม และหมายถึงรายได้จากโฆษณา ที่ต้องวัดจากเรตติ้งคนฟัง

"เวลานั้นเราทำมาเกือบครบแล้ว พอได้คลื่นที่ 5 คิดว่าจะไปทางไหนดี รู้อย่างหนึ่งว่าแนวเพลง easy listening มีคนฟัง เยอะที่สุด เพราะจนถึงวันนี้ เรตติ้งโฆษณากรีนเวฟยังเป็นอันดับ หนึ่ง เนื้อหารายการให้เป็นรายการศูนย์รวมของคนกรุงเทพฯ พอ ลองทำแล้วก็ติด เวลานี้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10" สมโรจน์บอก

การได้สัมปทานวิทยุตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะมีข้อดีในแง่ ของการควบคุมคอนเซ็ปต์ภาพรวมของรายการ และครอบคลุมกลุ่มคนฟังได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งหมายถึง ต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่ม ขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งจากค่าเช่าสถานี ทีมงานที่เพิ่มขึ้น

"ธุรกิจวิทยุแต่ละคลื่นมีต้นทุนตายตัว ค่าเช่าสถานี ดีเจ บุคลากร ทุกอย่างเป็นต้นทุนคงที่ ถ้าโฆษณาไม่เข้าก็ไม่ต่างอะไร กับผักเน่า ทุกนาทีที่ผ่านไปผักเน่าไปหมด จะเอามาขายใหม่ไม่ได้ ไม่เหมือนกับทำปากกาขาย วันนี้ขายไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ขายได้ แต่โฆษณาหมดไปทุกวัน นี่คือต้นทุนของธุรกิจวิทยุ" สายทิพย์สะท้อน

แม้วิทยุจะเป็นธุรกิจที่เกื้อกูลกับธุรกิจเพลงโดยตรง แต่นโยบายที่ไพบูลย์กำหนดให้ทุกธุรกิจต้องอยู่รอดได้ด้วยตัวเองและมีกำไร

"คุณไพบูลย์บอกว่าถ้าทำธุรกิจแล้ว กำไรน้อยกว่า 20% เอาเงินไปเล่นหุ้นดีกว่า ดังนั้นทุกคนต้องทำยอดให้สูงสุดทำรายได้ให้มาก" สมโรจน์บอก

ด้วยโจทย์ทางธุรกิจเป็นตัวตั้งนำไปสู่การจัดกิจกรรมทั้งในและนอกสถานที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรายการ เป็นการเสาะแสวงหารายได้ในรูปแบบโฆษณารูปแบบใหม่ อย่างสปอนเซอร์รายการ

"สมัยก่อนเวลาทำรายการวิทยุ จะหวัง loose spot อย่างเดียว จะไม่เอาลูกค้าประเภทสปอนเซอร์ อยากลงโฆษณาก็ลงไป เรามาถามว่าทำไมต้องทำแค่นั้น เมื่อบางส่วนเราให้บริการ ลูกค้าได้ ทำให้คนฟังสนุกได้ สปอนเซอร์ก็เข้ามาได้ เพียงแต่เราต้องทำให้เป็นรูปแบบ" สมโรจน์บอกถึงที่มาของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสปอนเซอร์รายการผ่านกิจกรรมต่างๆ

ภายใต้กติกาของรัฐที่กำหนดไว้ว่า ช่วงรายการวิทยุ 1 ชั่วโมงจะโฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาที นั่นหมายความว่า ไม่ว่ารายการจะเป็นที่นิยมจากคนฟังมากน้อยเพียงใดก็ตาม การเพิ่ม รายได้ loose spot จะมีเพดานตายตัวย่อมเป็นเรื่องยาก

นั่นคือ ที่มาของการบุกเบิกการตลาดแนวใหม่ เป็นที่มาของ master plan แพ็กเกจทำขึ้นให้กับผู้เข้ามาสนับสนุน รายการในช่วงเวลาต่างๆ เช่น เนื้อหาข่าวบันเทิง ซึ่งราคาของแพ็กเกจลักษณะนี้จะมีราคาถูก ที่เป็นการประยุกต์มาจากโฆษณา รายการเกมโชว์ในโทรทัศน์

การเป็นดีเจที่เข้าใจธุรกิจของสายทิพย์และทีมงาน ทำให้ การคิดรูปแบบโฆษณาที่ให้ดีเจพูดโฆษณาสินค้าในรายการ ถูกทำขึ้นอย่างมีศิลปะ แบบไม่ยัดเยียดในรูปแบบการเป็นผู้สนับสนุน กิจกรรมการเล่นเกมภายในรายการ

"เอ-ไทม์เป็นคนแรกที่คิด เราเอาโจทย์ของลูกค้ามาปรับ แต่คนฟังต้องสนุกด้วย โฆษณาแบบนี้ราคาจะแพง เพราะนอกจาก ผู้ผลิตสินค้าได้สปอตโฆษณาแล้ว ยังได้ดีเจมาพูดให้ในเกม" สมโรจน์กล่าว

ธุรกิจบนอากาศที่จับต้องไม่ได้อย่างวิทยุ จำเป็นต้องสร้างภาพและความชัดเจนของธุรกิจ ผ่านรูปแบบของกิจกรรม การเล่นเกมสลับกับการเปิดเพลง การจัดแสดงคอนเสิร์ตนอกสถานที่ พาผู้ฟังเที่ยวกับดีเจ เข้าแคมป์อบรม ที่เปิดให้ผู้ฟังมีส่วน ร่วมในรายการ

"คนฟังไปปีหนึ่งๆ เขาก็เบื่อ ทำอย่างไรให้มีความเคลื่อน ไหวมีความน่าสนใจตลอด สร้างความต่อเนื่อง กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยเสริมตัวรายการและการตลาด หาสปอนเซอร์สนับสนุนได้อีก ทำให้คนฟังและลูกค้าซื้อโฆษณาเห็นภาพเราชัดเจน มากขึ้น"

ในแต่ละคลื่นจะมีการทำกิจกรรมนอกสถานที่ ที่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ ทั้ง 5 คลื่นจะมีความแตกต่างกันไปตามบุคลิกลักษณะ และคอนเซ็ปต์ของคลื่นที่ต้องสอดคล้อง กับกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง

คอนเสิร์ต โชว์ของ เจ เจตริน ที่คลื่น Bangkok Radio เป็นลักษณะของโชว์พิเศษ สอดคล้องกับการเป็นคลื่นกิจกรรม เพื่อคนเมือง ที่ไม่เหมือนกับแสดงคอนเสิร์ตในรูปแบบปกติ

คอนเสิร์ตเย็นย่ำก็ฮัมเพลง นอกสถานที่ อารมณ์ สายน้ำ ความรัก ที่มี มาช่า วัฒนพานิช เป็นศิลปินหลักที่คลื่น Radio Vote Satellite หรือ RVS จัดขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องมาถึงมีนาคม เป็นกิจกรรมเพื่อตอบสนองกลุ่มคนฟังในระดับกว้าง ตามคอนเซ็ปต์ของคลื่นที่ครอบคลุมกลุ่มคนฟังทั่วประเทศ

ศิลปินที่รับเชิญมาในคอนเสิร์ตของคลื่น RVS แตกต่างไปจากคอนเสิร์ต Beauty and the Rock หรือประกวดดนตรีตาม โรงเรียน School hit ของ Hot Wave ที่จัดขึ้นเป็นประจำ

การให้รายละเอียดกับชิ้นงานผลิต อย่างโปสเตอร์ ใบปิดโฆษณาคอนเสิร์ต ใบเสนอราคา แม้แต่ Year plan หรือแผนงานของแต่ละคลื่นที่นำเสนอให้กับลูกค้า ต้องออกแบบอย่างดี ทั้งเอกสารและแผ่น CD ROM ล้วนแต่ทำขึ้นเพื่อสะท้อนความชัดเจนของภาพธุรกิจที่มากขึ้น

การจัดตั้งแผนก R&D ทำหน้าที่ เช็กเรตติ้งคนฟัง เช็กสปอนเซอร์ สำรวจ ความต้องการของลูกค้าลงโฆษณา เป็น การสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นดีเจที่เข้าใจธุรกิจของสายทิพย์ที่สามารถจับแกนกลางของงานวิทยุ ธุรกิจบนอากาศ ที่จับต้องไม่ได้ วิทยุไม่ต่างไปจากโทรศัพท์ ที่เจ้าของสินค้าและเอเยนซี่จะลงโฆษณา จะดูจากเรตติ้งของคนฟัง เป็นหลัก

"เรตติ้งเป็นตัวหนึ่งที่สำคัญมากๆ ส่งผลไปหมด สมมติถ้าเอ-ไทม์ ได้คลื่นมาและหน่วยงานราชการ เราทำให้เรตติ้งดัง สถานีมีคนฟังเยอะ สปอตขายดี เราก็มีปัญญาจ่ายค่าเช่า ถ้าเรามีจ่ายค่าเช่า หน่วยงานเขาก็แฮปปี้" สมโรจน์อธิบาย

ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการแปรอากาศให้เป็นเงิน ทุกอย่างที่ทำขึ้นนำไปสู่การสร้างโฆษณา เป็นรูปแบบที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ทำเพื่อเป้าหมายของธุรกิจ ที่มีโฆษณาเป็นตัวตั้ง

แม้ว่า เอ-ไทม์ จะสร้างโมเดลการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ สร้างรูปแบบ การตลาด และโฆษณาแนวใหม่ สร้างกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่คิดและจัดสรร ให้สอดคล้องกับบุคลิกของคลื่น และความนิยมของผู้ฟังต่อเนื่อง มีการลงทุน เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก

แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของธุรกิจวิทยุ อยู่ที่การสร้าง "คน" มารองรับกับพัฒนาการเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้น

"เทคโนโลยีเราซื้อได้ แต่คนหาไม่ได้ง่ายๆ ที่เอ-ไทม์ คนเป็น key success อย่างหนึ่ง เพราะที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียน ที่ฝึกคนรุ่นใหม่ๆ ตลอดเวลา และใช้เวลานานกว่าที่เราจะปล่อย ให้ไปจัดรายการได้" สายทิพย์บอก

สถานีวิทยุทั้ง 5 คลื่นของเอ-ไทม์ เปรียบได้กับบริษัท ย่อยๆ ที่มีระบบ มีการดูแลและ การทำตลาดที่เป็นของตัวเอง โดยมี producer ที่เปรียบเสมือนเป็น "ผู้จัดการ" ที่ต้องคิดสรรกิจกรรมรูปแบบ ต่างๆ ควบคุมให้สถานีวิทยุเดินไปตาม แนวทางที่กำหนดรวมกัน และต้อง balance ระหว่างกลุ่มคนฟังและลูกค้าที่ลงโฆษณา

โปรดิวเซอร์เหล่านี้จะอยู่ร่วมกับเอ-ไทม์มานาน มีทั้งที่เติบโตมาจาก ครีเอทีฟ เขียนสปอตโฆษณา เขียนสกู๊ป ป้อนข้อมูลให้ดีเจ ร่วมงานกับ เอ-ไทม์หลายปีมาแล้วจนกระทั่งได้เป็น โปรดิวเซอร์ ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยเดียว กัน การเห็นภาพร่วมกันหรือพูดภาษา เดียวกันมาตั้งแต่ต้น ทำให้การกำหนด เป้าหมาย คอนเซ็ปต์ของคลื่นที่มีสายทิพย์เป็นหัวขบวนเป็นไปอย่างราบรื่น

การพาทีมโปรดิวเซอร์ ไปดูงาน ต่างประเทศเป็นประจำทุกปี 1-2 ครั้ง ไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ๆ มาดอนน่า หรือ ไปดูแสดงโชว์ที่หายากที่สหรัฐอเมริกา ใช้กระตุ้นให้โปรดิวเซอร์เหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง เป็นการสร้างไอเดียใหม่ๆ ที่นำมาปรับใช้กับรายการ

"โปรดิวเซอร์ทั้ง 5 คน จะต้องดูแลคลื่นของตัวเองจะต้องวางแผนทั้งปี คิดเนื้อหาทุกอย่างในรายการตัวเอง ดีเจจะมีใครบ้าง แต่ละโครงการจะโปรโมตแบบไหน ในลักษณะของ year plan" สมโรจน์บอก

การกำหนดให้ทำ year plan หรือแผนประจำปี เป็น การกระตุ้นบรรดาโปรดิวเซอร์ไม่ให้หยุดนิ่งในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นของธุรกิจวิทยุที่ต้องมีไอเดียแปลกใหม่ตลอดเวลา

ในขณะที่บริษัทแม่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีกระบวนการ ปั้นนักร้องอย่างเป็นระบบ เอ-ไทม์ ก็มีกระบวนการสร้างดีเจที่ไม่ต่างกันนัก

การอยู่ในรูปแบบของ format station ที่มีบุคลิกของคลื่นเป็นตัวกำหนด แนวเพลง รูปแบบของกิจกรรม เกม หรือ เนื้อหาที่นำมาพูด บุคลิกของดีเจ จะต้องสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ ของสถานี การคัดสรรดีเจของเอ-ไทม์ จึงต้องเลือกจากคอนเซ็ปต์ ของแต่ละสถานีเป็นสำคัญ

"ดีเจของคลื่น Green Wave ต้องพูดจาน่าเชื่อถือ เพราะ กลุ่มผู้คนฟังที่เป็นคนวัยทำงาน เพลงที่เปิดต้อง easy listening ส่วน Hot Wave ต้องเป็นวัยรุ่นหน่อย ถ้าเป็น Radio Vote ต้องเป็น Mass ต้องจัดรายการให้คนเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ สนุกได้พร้อมๆ กัน อย่าง สมพล ปิยะพงศ์สิริ ถ้าเป็นคลื่น 88 Radio no problem ต้องพูดได้ 2 ภาษา และเนื้อหาสาระที่พูด ที่สื่อไปถึง Life style ที่เป็นกลุ่มคนฟัง

เส้นทางของการไปสู่การเป็นดีเจของเอ-ไทม์ เริ่มตั้งแต่การเปิดรับ demo เทป ทดลองจัดรายการของผู้สนใจมาที่เอ-ไทม์

"ในแต่ละวัน จะมีบรรดาเทปเข้ามาเป็นร้อยเป็นพัน แต่ที่ได้เป็นดีเจมีน้อยมาก บางทีไม่ได้เลยสักคนก็มี เป็นอาชีพเฉพาะที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้" สายทิพย์บอก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกสรร ดีเจของเอ-ไทม์จะมาจากหลายวิธี แต่ประเภทที่ไปดึงดีเจจากที่อื่นมาจะไม่มี

ดีเจของเอ-ไทม์ทั้ง 33 คน จะมาจาก กระบวนการสรรหาและฝึกฝน ที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านกระบวน การเลือกสรร ตั้งแต่เลือกทางยันปลายทาง จากระบบการฟังเทป การเสนอความเห็น การ train งาน จนถึงขั้นการจ้างให้มาทำรายการ ที่ต้องฝึกฝนอีกพักใหญ่จนกว่าออกอากาศ

ดีเจออม หรือภัสสร พัชรสรวุฒิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมานุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ประสานมิตร คือตัวแทนคนรุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีคุณสมบัติผ่านกระบวนการเหล่านี้ จนได้เป็นดีเจคนที่ 33 ของเอ-ไทม์

การเข้าสู่เส้นทางดีเจของเธอจะแตกต่างไปจากรุ่นพี่ๆ มาจากการสมัครในรายการ "ยอดคนตะลุยฝุ่น" รายการโทรทัศน์ ของ แกรมมี่ เทเลวิชั่น ที่เป็นด่านแรกอีกช่องทางหนึ่งที่เฟ้นดีเจ

แต่กว่าจะได้มาเดินบนเส้นทางของดีเจ เธอต้องผ่านการคัดเลือกจากผู้เข้าชิง และกระบวนการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้ กว่าจะนั่งอยู่ในห้องจัดรายการ ประจำทุกเช้า 8.00-11.00 น. ในรายการของ Hot Wave ที่ถือว่ายากที่สุด

"แม้ผ่านมาเป็นพนักงานแล้ว แต่ต้องมาเป็นพนักงานทดลอง ต้องเริ่มเข้ามาทำเทปทุกวัน มาฝึกจัดรายการ ในห้อง demo เวลาฝึกเหมือนกับรายการจริง ทำเหมือนมีคนฟัง ต้อง หาข้อมูล หนังสือพิมพ์ที่อ่านผ่านๆ เวลานี้ต้องอ่านทุกวันทุกฉบับ ต้องใช้ความรู้รอบตัว ถามจากน้องบ้าง จากนั้นจะทำ demo ให้พี่ๆ ดีเจฟัง" น้องอ้อมเล่า

แน่นอนว่ากว่าเธอจะฝ่าด่านเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการขัดเกลาและบ่มเพาะรู้ทักษะการใช้เครื่องมือในห้องสตูดิโอ เรียน รู้กลุ่มคนฟังเป็นใคร ไหวพริบและความไหว และที่ขาดไม่ได้เลย คือความรอบรู้

ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกับกลุ่มคนฟัง เธอถูกเลือกให้จัดคลื่น Hot Wave ที่เป็นเด็ก ระดับมัธยม ควบคู่ไปกับการจัดคลื่น 88.0 Radio no problem ที่เธอจัดคู่กัน 2 ราย การ

แม้ว่าเธอจะผ่านด่านการฝึกฝนจากดีเจรุ่นพี่ถึง 3 เดือนเต็มกว่าจะได้จัดรายการจริงแล้วก็ตาม แต่ยังต้องถูกตรวจสอบจากโปรดิวเซอร์พี่ๆ ดีเจอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าคลื่นความถี่ของสถานีจะเปลี่ยน แปลงไปตามความไม่แน่นอนของสัมปทานธุรกิจวิทยุ การสร้างดีเจใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนดีเจเก่าๆ ไม่มีผลกระทบต่อผู้ฟัง การตลาด หรือยอดขาย นี่คือความหมายของการสร้างคอนเซ็ปต์ของ format station

อย่างไรก็ตาม ดีเจเป็นหนึ่งในกระบวนการของสถานีวิทยุ เป็นด่านหน้าที่จะเชื่อมโยงกับคนฟัง ที่ยังมีครีเอทีฟที่ต้องรวบรวม ข้อมูลเขียนสคริปต์ คิดหากิจกรรม เป็นอุตสาหกรรมของคนที่ต้องทำต่อเนื่อง และทำให้เอ-ไทม์มีคนเพิ่มเป็น 400 คน

วิกฤติเศรษฐกิจนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เอ-ไทม์ ต้องหันมาสร้างความชัดเจนของสถานีวิทยุทั้ง 5 คลื่นต้องมีบุคลิกชัดเจนมากขึ้น มุ่งเจาะจงไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ต้อง ชัดเจนมากขึ้น

"โฆษณาเริ่มน้อยลง ลูกค้าที่มาเป็นสปอนเซอร์เริ่มมองหาคลื่นที่มีคุณภาพที่สุด เราต้องปรับทุกอย่าง ทีมงาน ตัวดีเจ"

หลังจากผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่ถือเป็นการ "สอบผ่าน" ด้วยยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายได้ในปี 2544 ที่มี 770 ล้านบาท คิดสัดส่วน 16.7% ของรายได้รวมของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีส่วนแบ่งตลาด 32% ของเม็ดเงินโฆษณาทางวิทยุ

ด้วยรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องทำให้เอ-ไทม์ มีเดียถูกเลือกเป็นแกนนำของธุรกิจ "มีเดีย" ที่ถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเปลี่ยนชื่อจาก เอ-ไทม์ มีเดีย มาเป็น จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และนำเอาธุรกิจโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์เข้ามารวมอยู่ภายใต้บริษัทแห่งใหม่

เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจวิทยุในอนาคต อันเป็นผลมาจากการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่จะมาเป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ แทนหน่วยงานภาครัฐเดิม

ความไม่แน่นอนของการจัดตั้ง กสช. ที่ยังประเมินได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจวิทยุในลักษณะใด แต่การเตรียม พร้อมเอ-ไทม์ ภายใต้กระบวนการทำงานที่ถูกกำหนดอย่างมีเป้าหมาย และการระดมเงินทุนในครั้งนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ทางด้านเงินทุน ที่เตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวสำหรับในอนาคต

เมื่อถึงเวลานั้น สายทิพย์ และทีมงาน อาจต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในธุรกิจวิทยุ ที่ยังมีเส้นทางที่ต้องเดินไปอีกไกล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.