เปิดนโยบาย 'นายกฯ สปาไทย'ยกระดับ – เร่งพัฒนาองค์ความรู้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เร็วนี้ๆ สมาคมสปาไทยได้มีการเลือกตั้งนายกสปาไทยขึ้นเป็นครั้งที่ 3 นับแต่มีการจัดตั้งสมาคมฯ มาซึ่งในสมัยนี้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งได้แก่ "แอนดรู แจคก้า" ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสปาไทยและเป็นผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาให้กับธุรกิจสปาสไตล์เอเชีย

กับบทบาทใหม่นี้ แอนดรู แจคก้า ให้ข้อมูล “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสปาไทยว่า ที่เน้นเป็นพิเศษคือการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับพนักงานวดและผู้จัดการสปา ในเรื่องของคุณภาพพนักงานนวดและระบบการบริหารจัดการของผู้จัดการสปา

ทั้งนี้มองว่าอุตสาหกรรมสปาไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีการเติบโตและพัฒนาค่อนข้างมั่นคงและต่อเนื่อง ถ้าจะมองว่าแข็งแรงแล้วหรือไม่นั้นยังต้องมีการพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาธุรกิจบริการ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี

รวมทั้ง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (อีสเม็ด) มีการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก กรมส่งเสริมการส่งออกสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้ผลิตโปรดักส์ที่จะร่วมแสดงงานในต่างประเทศ ซึ่งทางสมาคมฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันในจุดนี้

"เรามองถึงการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการที่ยาวนานต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปีในการดำรงตำแหน่งนี้ ว่าจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน และเน้นการฝึกอบรมใหม่ๆ ให้กับสมาชิกเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้ประกอบการ

จากนั้นจะหาโอกาสทางการตลาด ทางธุรกิจ ให้กับสมาชิกทั้งในเรื่องของพนักงานนวด สปาโปรดักส์ ผู้จัดการสปาและการส่งเสริมธุรกิจสปาไทยในต่างประเทศ กระจายข่าวสารแก่สมาชิกเพื่อต่อยอดไปยังต่างประเทศได้"

แจคก้า วิเคราะห์จุดแข็งสปาไทยว่า วัฒนธรรมไทยทำให้ผู้เข้าใช้บริการสัมผัสได้ถึงสินค้า บริการ บรรยากาศ กริยามารยาท ถ้าจะสู่สากลต้องรักษาความเป็นไทยไว้ให้คงอยู่ เพราะถ้าไม่ย้ำตรงจุดนี้ต่อไปจะเป็นการผสมระหว่างตะวันออก ตะวันตก และผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น สมุนไพรไทยเป็นจุดเด่นที่เสนอเพื่อการส่งออกได้

แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนและยังต้องพัฒนาคือ การแบ่งปันข้อมูลในอุตสาหกรรมสปาไทยด้วยกัน เพราะเทียบในต่างประเทศไทยยังไม่ได้ใหญ่มากหรือมีประวัติที่ยาวนาน แต่สามารถทำให้อุตสาหกรรมสปาเติบโตต่อไปได้ โดยการกระจายข้อมูลเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต จะเห็นว่าในต่างประเทศจะการแชร์ข้อมูลทั้งโครงการ การทำสปาทรีตเม้นท์ โครงสร้างการให้เงินเดือน และโครงสร้างสปา เพราะไทยยังไม่มีข้อมูลกลางเหล่านี้เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสปาทั้งระบบ

ส่วนด้านการลงทุน ในฟากของนักลงทุนไทยยอมรับว่าความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจสปาลดลง แต่ถ้าหาเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่จะนำเสนอยังสามารถลงทุนได้

สำหรับความสนใจเข้ามาลงทุนน้อยลงเกิดจาก เดิมมีสถานที่นวดจำนวนมาก แต่เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาจัดระเบียบโดยการจัดมาตรฐานสถานประกอบการเหล่านี้ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบการ ทำให้รายเดิมที่ดำเนินการอยู่ไม่ปรับมาตรฐานตามที่กำหนดต้องออกจากระบบ ส่วนรายที่เตรียมเข้ามาใหม่มองเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เป็นส่วนในการตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจนี้

นายกสมาคมฯ มองว่าเป็นอุปสรรคที่ดีเพื่อที่จะรักษามาตรฐานของสปาไทยไว้ แต่อย่างไรก็ตามสมาคมสปาไทยยังเป็นที่ปรึกษาหรือมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎระเบียบต่างๆ หรืออย่างล่าสุดได้ขยายเวลาการให้บริการของสถานประกอบการจาก 22.00 น. เป็น 24.00 น. เพื่อสอดรับพฤติกรรมการเข้าใช้บริการของกลุ่มลูกค้า

ถ้ามองถึงมุมมองของนักลงทุน ซึ่งธุรกิจสปาก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ แรกเริ่มมีความสนใจทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งต่างมองถึงดีมานด์ที่สูงแต่ทุกรายเปิดอย่างเดียวกันหมดซัปพลายก็สูงตาม จึงมีคู่แข่งในธุรกิจจำนวนมากขณะที่กลุ่มลูกค้าอยู่ในจำนวนจำกัด ซึ่งถ้ารายใดไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องก้าวออกจากการทำธุรกิจ

2 ปีที่ผ่านมาพบว่า สปาจะมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ แต่ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจะขึ้น-ลงกับสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ควรมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าชาวไทยซึ่งมีปริมาณที่มากพอ มองว่าการรักษาลูกค้าเดิมสำคัญมาก แต่การกลับมาของลูกค้าในต่างประเทศ การเข้ามาใช้บริการซ้ำเป็นไปได้ยาก ขณะที่ลูกค้าชาวไทยการเข้ามาใช้บริการซ้ำทุกสัปดาห์ความเป็นไปได้มีมากกว่า

ขณะเดียวกัน เขายังให้ข้อมูลความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการลงทุนธุรกิจสปาไทยว่า จะติดต่อขอข้อมูลเป็นระยะๆ ทั้งการเปิดสปาในไทยและเปิดในต่างชาติ และนักลงทุนหลายรายสนใจทั้งสินค้า พนักงานนวด และใช้บริการที่ปรึกษาสปา

ถ้ามองศักยภาพธุรกิจสปาในการขยายไปยังต่างประเทศทั้งเซอร์วิส สินค้า และการให้คำปรึกษานั้น มีศักยภาพทั้ง 3 ส่วน แต่ต้องพิจารณารายละเอียดในการนำเข้าสินค้า บริการ ของแต่ละประเทศเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกสมาคมสปาไทยคนล่าสุด มีมุมมองต่อนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐว่า อุตสาหกรรมสปาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมสินค้าไทยไปต่างประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ หรือนำผู้ประกอบการต่างประเทศมาเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ไทย ในแต่ละปีก็จะมีไฮไลท์ของแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป

ข้อมูลที่สนับสนุนล่าสุด จะเห็นว่าจากการสำรวจความสนใจต่อการลงทุนในธุรกิจสปาของนิตยสารสปาเอเชีย พบว่า 83% สนใจธุรกิจสปา ฉะนั้น ภาครัฐยังต้องสนใจตัวเลขของโลกเพราะคนยังให้ความสนใจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.