จับทิศทางธุรกิจ 'สปาไทย' ชี้ช่องผู้ประกอบการลดเสี่ยง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจสปาไทยจะก้าวเดินอย่างไรในปีนี้? ผู้นำแนะช่องทางธุรกิจในประเทศให้เล็งทำเลที่ยังมีช่องว่าง อย่าแข่งในสมรภูมิเดือด อานิสงส์แรงโปรโมทลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่คุมไม่ได้ สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ขยายตลาด ชี้ชัดผู้ประกอบการสามัคคีเป็นจุดแข็งต่อการยกระดับภาพรวมธุรกิจ ผลพวงภาครัฐรุมสนับสนุนเพิ่มโอกาสเติบโตสู่อินเตอร์ฯ เบียดคู่แข่ง กระซิบดังๆ ปีนี้ระดมเพิ่มจุดแข็งต่อเนื่อง

"ในประเทศ" ต้องตั้งหลักให้ดี

อภิชัย เจียรอดิศักดิ์ เจ้าของบริษัท สปาโอเวชั่น จำกัด ในฐานะรองประธานสมาพันธ์สปาไทย กล่าวถึงแนวโน้มของธุรกิจสปาว่า สำหรับตลาดในประเทศในปีนี้มีแนวโน้มการลงทุนชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากความไม่มั่นใจซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองโดยเฉพาะตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งล่าสุด รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงและผลกระทบต่อารมณ์ความรู้สึกตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงปีใหม่ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่จะลงทุนใหม่หรือรายเก่าต้องตั้งหลักให้ดี

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในกลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จะเห็นจากแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะเมืองหลัก เช่น แถบอันดามัน อ่าวไทย และเชียงใหม่ และจะเห็นได้ว่าโครงการของโรงแรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นยังคงลงทุนด้านสปาเช่นเดิม เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เพราะฉะนั้น สปาประเภท Hotel&Resort Spa ยังคงขยายตัว แต่ Day Spa กับ Independent Spa จะชะลอลง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของตลาดในประเทศ คือเรื่องของความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะจำนวนของสปาค่อนข้างกระจุกตัวในบางทำเล เช่น กรุงเทพฯ ชั้นในกับแหล่งช็อปปิ้ง อย่าง ย่านถนนสุขุมวิทกับพหลโยธินต้นๆ ซึ่งปัจจุบันมีการปิดตัวลงหลายแห่งเพราะแข่งขันไม่ได้ แต่สำหรับกรุงเทพฯ ย่านชานเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัยยังมีโอกาส รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวยังมีความต้องการของนักเดินทางและนักท่องเที่ยว

"สังเกตุว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการใช้สปามากขึ้น เพราะการประชาสัมพันธ์สปากำลังส่งผลช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนความคิดและไลฟ์สไตล์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท หันมาใช้สปาเพื่อผ่อนคลายและดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น"

โดยรวมแนวโน้มของธุรกิจสปายังไปได้ดี เพราะเรื่องสุขภาพเป็นคุณค่าที่แท้จริงซึ่งผู้บริโภคได้รับ จึงไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นไปตามกระแสหรือแฟชั่นจะเลิกฮิตง่ายๆ จากตัวเลขคนไทยใช้บริการสปาเพียง 30% ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยว ขณะที่คนสิงคโปร์ใช้สปาถึง 80% แต่ค่าบริการที่เหมาะสมเป็นตัวแปรของจำนวนผู้บริโภค แม้ว่าปัจจุบันระดับราคามีหลากหลายอยู่แล้ว แต่มองว่าต่อไปน่าจะมีการพัฒนารูปแบบสปาใหม่เป็น "สปาโลว์คอสต์" ขึ้นมา เป็นสปาที่นำแก่นมาใช้จริงๆ นำเสนอการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ไม่ใช่กระพี้

เสริมจุดแข็งบุก "ต่างประเทศ"

อภิชัย กล่าวถึงภาพรวมของสปาในต่างประเทศว่า สำหรับการเติบโตของสปามีการเติบโตเป็นแห่งๆ อย่างเช่น ในยุโรปจะเป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่วนตลาดใหม่ที่เพิ่งจะเกิดไม่นาน เช่น ยุโรปตะวันออก อย่าง สเปน โปรตุเกส ซึ่งในเอเชีย มีไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในตะวันออกกลางกำลังเป็นตลาดใหญ่ของสปาไทยที่เข้าไปขยายฐานได้มากเพราะความมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นด้านการบริการเป็นจุดแข็ง

เพราะเมื่อเปรียบกับ "Modern Spa" ซึ่งเป็นสปาทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่สปาไทยซึ่งแม้จะเกิดใหม่แต่มีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งบุคลากรและตัวสินค้า เมื่อนำศิลปวัฒนธรรม การออกแบบภายใน ของตกแต่ง และวัตถุดิบสมุนไพรต่างๆ ทำให้สามารถสร้างความแตกต่างและโดดเด่นได้อย่างดี ขณะที่คู่แข่งขัน อย่าง สิงคโปร์มีจุดแข็งด้านการบริหารจัดการก็จริงแต่ใช้บุคลากรซึ่งเป็นฐานของธุรกิจมาจากประเทศไทย ส่วนอินโดนีเซีย กับมาเลเซีย ยังมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนเท่ากับสปาไทย

นอกจากนี้ ภาครัฐยังพยายามหาโอกาสธุรกิจให้มากขึ้น อย่างเช่น กรมส่งเสริมการส่งออกมีการจัดโรดโชว์อย่างต่อเนื่องในหลายระดับทั้งระดับใหญ่และระดับย่อย ทั้งด้านบริการและตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาจัดปีละ 10 กว่าแห่งในหลายประเทศ ส่วนปีนี้จะยังทำต่อเนื่อง ล่าสุดในช่วงวันที่ 10-12 เมษายนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำทีมไปอินเดีย ส่วนสถานทูตไทยในต่างประเทศก็ช่วยหาลูกค้าอีกด้วย รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ช่วยประชาสัมพันธ์และสนับสนุน และกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามาดูแล จึงนับเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสของสปาไทยในการเติบโตในต่างประเทศ

"เราออกไปประกาศตัวมาหลายปีแล้ว เป็นการกระตุ้นตลาดใหม่ สร้างให้เกิดความต้องการขึ้นมา บาร์เรนห์กับดูไบเห็นได้ชัดเจนว่าเราทำได้สำเร็จ ตอนนี้เราเป็น Capital Spa in Asia นี่คือช่วงที่เราต้องสานต่อให้สปาไทยก้าวไกลยิ่งขึ้น ทั้งรับบริหารให้โรงแรมและการไปลงทุนเองให้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม สปาไทยยังต้องเพิ่มศักยภาพในด้านการบริหารจัดการให้สูงขึ้น เพราะคนไทยยังขาดระบบบริหารและการปฎิบัติการที่ดี ไม่มีคู่มือที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งประสบการณ์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศยังน้อย ทำให้การเจรจาต่อรองหรือนำเสนอธุรกิจไม่ดีเท่ากับคู่แข่ง

แต่เนื่องจากผู้ประกอบการสปามีการรวมตัวกันค่อนข้างเข้มแข็งเหนียวแน่น ในสมาพันธ์ฯ มีสมาชิก 400 กว่ารายหรือประมาณ 50%จากสปาทั้งหมด 1,000 กว่าราย และมีจำนวนผู้ใช้มากถึงปีละประมาณ 5-6 ล้านคนครั้ง ปี 2549 มีมูลค่าธุรกิจสปารวมประมาณ 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็น บริการ 7,500 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ 1,000 กว่าล้านบาท และการคาดว่าปี 2550 จะมีมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น การขอความช่วยเหลือจากภาครัฐจึงมักจะได้รับการดูแลทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีโครงการใหญ่พัฒนา Spa Operator เพื่อสกัดจุดอ่อนและเสริมเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการสปาไทย

นอกจากนี้ ภายในปีนี้จะมีการจัดอันดับสปาโดยให้ดาวเหมือนโรงแรม เพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐาน ซึ่งในส่วนของหลักเกณฑ์ได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการหาเจ้าภาพมาร่วม โดยเฉพาะเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ในวงกว้างและยอมรับในตราสัญลักษณ์ ปัจจุบันมีสปา 1,000 แห่ง หากมีผู้เข้าร่วม 100-200 แห่งแรกจะช่วยกระตุ้นให้แห่งอื่นๆ มาเข้าร่วมได้ และมองว่าค่าใช้จ่ายในการวัดมาตรฐานซึ่งผู้ประกอบการสปาต้องจ่ายจะมีความเหมาะสมเพราะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์

อภิชัยกล่าวว่า โดยสรุปแล้ว สปาไทยยังมีจุดขายที่แตกต่างและโดดเด่น แต่ผู้ประกอบการต้องรักที่จะทำธุรกิจนี้จริงๆ เพื่อจะสามารถดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน เรื่องการแข่งขันเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่สามารถเกาะกลุ่มกันเพื่อประโยชน์ร่วมกันและผลักดันการเติบโตในต่างประเทศ สร้างให้สปาไทยแข็งแกร่งมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.