"ศรีอยุธยาประกันภัย"ถอนคันเร่งดับร้อนเคลมรถยนต์รักษาผลกำไร


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

"ศรีอยุธยาประกันภัย" หลบสนามรบประกันภัยรถยนต์ที่ค่อนข้างร้อนแรง ทั้งการกดราคาเบี้ย ยอดเคลมสินไหมสูง เพื่อรักษาผลประกอบการกำไรไม่ให้ไถลรูด ขณะที่ รถเก๋งเล็ก รถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และเจ้าของรถคนขับวัยโจ๋ตกเป็นเป้าหมาย เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ยอมรับ "จีอี" เข้ามาถือหุ้นในแบงก์กรุงศรีฯจะทำให้รับงานได้มากขึ้น...

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บมจ.ศรีอยุธยาประกันภัยพบว่า การชะลอตัวของการทำประกันภัยรถยนต์เริ่มร่วงหล่นลง โดยมีตัวแปรคือ การแข่งขันสูง หลายบริษัทหันมาเล่นกลยุทธ์กดราคาเบี้ย ในขณะที่รถบางประเภทก็มียอดเคลมค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจประกันภัยหันมาชะลอการรับประกันภัยรถบางประเภทลง

อดิศร ตันติอนันท์กุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ศรีอยุธยาประกันภัย ยอมรับว่า ต้องเลือกรับประกันภัยรถยนต์เท่าที่ชำนาญ และชะลอการรับรถเก๋งเครื่องยนต์ขนาดเล็กลง รวมถึงรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นการพิจารณารับประกันภัยก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการจับพฤติกรรมเจ้าของรถวัยโจ๋ ที่มีสถิติเกิดความเสียหายในเปอร์เซ็นต์สูง

" ช่วงที่น้ำท่วม ที่อุตรดิตถ์ ก็ทำให้อัตราความเสียหายประกันภัยรถยนต์พุ่งสูง เพราะยอดเคลมมีเป็นจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากปี 2548 ที่รับเบี้ยเข้ามาปริมาณมาก แต่พอปี 2549 ช่วงไตรมาส 3-4 ก็เริ่มมีความเสียหายมาก"

ปีที่ผ่านมา ศรีอยุธยาประกันภัยมีเบี้ยรับรวม 1,615 ล้านบาท ขยายตัว 139 ล้านบาท โดยเพิ่มในส่วนอัคคีภัย เบ็ดเตล็ด และรถยนต์ ส่วนประกันภัยขนส่งเริ่มดิ่งหัวลง หรับเบี้ยประกันรถยนต์เพิ่มจาก 540 ล้านบาทมาเป็น 596 ล้านบาทในปีนี้ ปรับขึ้น 10.2%

อดิศรบอกว่า ถ้าประกันภัยรถยนต์ไม่ถูกแตะเบรกเสียก่อน ก็จะขยายตัวมากกว่านี้ แต่การขยายงานก็ต้องคำนึงถึงชื่อเสียง และหน้าตาผลประกอบการที่จะตามมา

" ถ้าหากเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถยนต์มากขึ้น แต่ต้องขาดทุน ก็คงไม่ทำ แต่เพราะเราเห็นท่าทางตลาดประกันภัยรถยนต์ไม่ค่อยดี ในตลาดมีอัตราเสียหายสูงถึง 70% แต่ของเราอยู่ที่ 60%"

อดิศร บอกว่า ธุรกิจประกันภัยขนส่งทางทะเล ก็ไม่ต่างจากประกันภัยรถยนต์คือ แข่งขันสูง และเริ่มหั่นราคาเบี้ยเพื่อจูงใจลูกค้า อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกัน ประกันภัยรถยนต์ก็ถือว่ามีอัตราความเสียหายขยับขึ้น จากการจ่ายค่าสินไหมที่เพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว

" รถสมัยใหม่ ชนนิดเดียวก็พังง่ายๆ เราจึงไม่ค่อยอยากรับเบี้ยรถยนต์มากนัก"

ถ้าดูที่โครงสร้างรายได้จะพบว่าสัดส่วนประกันภัยรถยนต์จะอยู่ที่ 30% โดยมีประกันภัยทรัพย์สินและอัคคีภัยอยู่ในระดับสูงสุด

" ถ้าเทียบกัน การชะลอเบี้ยรถยนต์ จะทำให้เป้าหมายเบี้ยปีนี้ไม่สูงนัก เพราะรถ 2 คัน มีเบี้ยสูงกว่า ประกันทรัพย์หรืออัคคีภัยถึง 100 กว่าราย"

อดิศร บอกว่า ในต่างจังหวัด ประกันรถยนต์ ศรีอยุธยาฯถือว่ามีชื่อเสียงค่อนข้างดี แต่การจะจับตลาดรถยนต์จำเป็นต้องขยายสาขาในต่างจังหวัดจึงจะอยู่รอดได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเลือกรับประกันภัยที่มีความเสี่ยงน้อย

"ขณะเดียวกันก็อาจพูดคุยกับดีลเลอร์ให้ส่วนลดอะไหล่ และค่าซ่อมให้บ้าง ถ้าเขาส่งงานให้กับเรา เพราะทั้งค่าซ่อมและค่าอะไหล่รวมถึงค่าคอมมิชชั่น ก็รวมอยู่ในการคิดคำนวณอัตราเสียหายแล้ว"

อดิศร บอกว่า การชะลอประกันภัยรถยนต์ ก็เพื่อจะเปลี่ยนไปบุกประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์มากขึ้น ยกเว้นประกันสุขภาพที่มองว่าบูมเบี้ยแต่ไม่มีกำไร

ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145.7 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 67.84% เป็นกำไรจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 63.80 ล้านบาท รายได้จากการลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 26.40 ล้านบาท และกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 28.27 ล้านบาท

" เป้าหมายปีนี้คือ เบี้ยโต 5% เพื่อรักษาฐานกำไร และไม่กดดันพนักงานในช่วงเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีนัก ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ ถ้าไม่สามารถทำกำไรได้ ก็สู้หันมาโฟกัสประกันนอนมอเตอร์ดีกว่า"

อดิศร บอกว่า ปี2550 มีโครงการจะขยายช่องทางใหม่ผ่านสาขาแบงก์ ต่างๆ อาทิ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แบงก์ ทิสโก้แบงก์ เกียรตินาคินแบงก์ รวมถึงกสิกรไทยโดยมีเป้าหมาย 130 ล้านบาท รวมถึงการเตรียมโครงการขยายตลาดเทเลมาร์เก็ตติ้ง ภายหลังการเข้ามาของกลุ่ม จีอี ในแบงก์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ศรีอยุธยาประกันภัย

" จีอี เข้ามาหลายกลุ่มธุรกิจ ถ้ามีการขยายธุรกิจในประเทศมากขึ้น เราก็อาจจะได้รับงานใหม่ๆจากจีอีมากขึ้น ซึ่งจะได้เห็นในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากมีการพูดคุยกันแล้ว"

อดิศร บอกว่า งานใหม่ที่จะเข้ามาในตอนนี้ก็คือ การรับงานจาก บสก.หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์การ และสหกรณ์ครู ซึ่งเป็นการรับประกันอัคคีภัยจากสินเชื่อบ้าน

ในขณะที่ สนามประลองกำลังธุรกิจประกันรถยนต์ในปัจจุบันยังคงร้อนแรง และหลายบริษัทก็ยังคงใช้เป็น "สารเร่งการเติบโต"ของเบี้ยรวม

ตรงกันข้ามศรีอยุธยาฯที่มีแบงก์แม่หนุนหลังอยู่ กลับเลือกจะถอนคันเร่ง เพราะรู้กันอยู่ว่า เบี้ยรถยนต์นั้น ช่วยให้ขนาดเบี้ยบริษัทเติบโตก็จริง แต่ถ้าบริหารแล้วขาดทุนติดต่อกันยาวนาน ก็สามารถสั่นคลอนสถานภาพทางการเงินได้ง่ายๆ...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.