|
อสังหาฯ พังพาบ รัฐหมดน้ำยางัดตำราเก่าสู้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
*สัญญาณอันตราย “สินเชื่อบ้านหดตัว กำลังซื้อหดหาย” กระแทกบ้านจัดสรรซวนเซ
*3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์เร่งระดมกึ๋น เสนอรัฐฯชุบชีวิตก่อนวิกฤตซ้ำรอยเดิม
*คาดรัฐฯหมดท่า หวนใช้ตำราเล่มเก่า “งัดเครื่องมือทางการเงิน-ภาษี” ล่อใจคนซื้อบ้าน
เมื่อภาวะการเมืองไทย และราคาน้ำมันในตลาดโลก ตกอยู่ในห้วงของความไม่แน่นอน แต่อสังหาริมทรัพย์ไทยก็ยังคงชะลอตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่ำถึงขีดสุด มีการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ปีนี้อยู่ที่ 4-4.5% เท่านั้น และอาจจะมีการลดต่ำลงกว่านี้ แม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลงแล้วก็ตาม แต่ปัจจัยหลายด้านก็ยังไม่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการลงทุนเท่าที่ควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สายที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พยายามผลักดัน โดยตั้งเป้าว่าจะต้องเดินหน้าให้ได้ถึงขั้นร่าง TOR และเปิดประมูลได้สำเร็จภายในปีนี้ แต่ด้วยปัจจัยกดดันหลายๆ ด้านที่ถาโถมเข้ามา หลายฝ่ายกล่าวโทษว่าเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด จนทำให้หัวเรือใหญ่ของทีมเศรษฐกิจตัดสินใจลาออก หลังจากนั้นกลายเป็นความผันผวนครั้งใหญ่ของรัฐบาลขิงแก่อีกระลอก เมื่อ ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ตัดสินใจทบทวนความเหมาะสมของแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกครั้ง
แม้จะไม่ได้ล้มเลิกหรือปรับเปลี่ยนเส้นทาง แต่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็ทำให้ต้องมีการทบทวนแผนให้รัดกุมมากขึ้น ทำให้แผนงานต้องล่าช้าไปอีก 4 เดือน สำหรับภาคเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สายจะเป็นทางรอดและเป็นแรงจูงใจที่จะมาช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนต่อเนื่องทั่วทั้งระบบอีกเป็นมูลค่ามหาศาล
ด้านภาคการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่การตัดสินใจลงทุนโครงการใดย่อมมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐค่อนข้างสูง ณ เวลานี้อยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในขาลง แต่ความเชื่อมั่นในการบริโภคกลับลดลง ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านออกไปอีก รอจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอีกครั้ง
ล่าสุดกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ไปหารือเพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวนำ เช่นเดียวกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่รัฐบาลนำมาตรการทางการเงินและการคลังออกมาใช้ จนสามารถกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
สั่งธอส.หารือ 3 ส.แก้วิกฤต
ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ได้ปรึกษาหารือกับ 3 สมาคม คือ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย เพื่อหาแนวทางในการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และใช้เป็นฟันเฟืองกระตุ้นให้การลงทุนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าหากภาครัฐมีการผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ความเชื่อมั่นในการซื้อบ้านของประชาชนกลับคืนมา หลังจากที่ขณะนี้ลดลงไปมาก
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ควรที่จะใช้มาตรการด้านภาษีและการเงินมาเป็นเครื่องมือในการเยียวยาธุรกิจเช่นเดียวกับการชุบชีวิตธุรกิจเมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งอาจจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและกำลังซื้อกลับมา และเมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว จะทำให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวตามไปด้วย และสุดท้ายก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวด้วย
คาดดอกเบี้ยลดอีก
ขรรค์ คาดการณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 11 เม.ย. นี้ จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ทั้งนี้แม้ภาวะอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่สดใส สำหรับ ธอส. จะยังคงเป้าสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 9,000 ล้านบาทเอาไว้ โดยจะนำเงินทุน 7,500-10,000 ล้านบาทมาใช้ปล่อยกู้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อช่วยเหลือคนรายได้ระดับกลาง-ต่ำ โดยหวังว่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยอสังหาริมทรัพย์อีกทางหนึ่ง โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน มี.ค. ธอส. ได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 3,600 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีการปล่อยสินเชื่อถึง 12,000 ล้านบาท
เตรียมทำซิเคียวริไทเซชั่น
ปัญหาส่วนหนึ่งของ ธอส. คือ ต้นทุนของเงินกู้ที่ค่อนข้างสูง จึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตาม กลายเป็นภาระหนักกระทบถึงประชาชนที่จะต้องจ่ายเงินงวดต่อเดือนเพิ่มขึ้นตาม ธอส. ได้มีแนวทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยการใช้วิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือซิเคียวริไทเซชั่น เพื่อระดมเงินจากตลาดทุนอีกประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ ธอส. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำ และสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระดับต่ำได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยเบื้องต้น ธอส. ได้ประกาศเชิญชวน และจัดทำข้อเสนอ RFP (Request For Proposal) สำหรับการแปลงสินทรัพย์จากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Residential Mortgage-Backed Securities) มีธนาคารเพื่อการลงทุนในทั้งในและต่างประเทศแสดงความสนใจถึง 27 ราย คาดว่าจะเริ่มระดมทุนได้ในสิ้นปีถึงต้นปีหน้า ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะระดมทุนภายในประเทศ 10,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|