ตลาดชุดว่ายน้ำ 2,000 ล้าน โตรับลมร้อน 8-10% ตามกระแสวัยรุ่นกล้าใส่ชุดว่ายน้ำแฟชั่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน "ชุดว่ายน้ำ" จึงเป็นสินค้าหนึ่งที่ได้รับความนิยมและมียอดขายติดอยู่ในอันดับต้นๆ และหากเทียบรายได้ของชุดว่ายน้ำในช่วงหน้าร้อน จะพบว่ามียอดขายมากกว่าช่วงอื่นราว 3 - 4 เท่า ดังนั้นการทำตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคจึงผุดขึ้นตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าการคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้อาจมีการชะลอตัว จนส่งผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคก็ตาม แต่ด้วยสภาพอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคยังนิยมเดินทางไปพักผ่อน เช่น ทะเล น้ำตก หรือการลงสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนใหสินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะตลาดชุดว่ายน้ำในประเทศที่ตอนนี้มีมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท จะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10% เพราะการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ที่มีการวิเคราะห์กันว่าในปี 2550 จะมีการเพิ่มขึ้นประมาณ 6% โดยคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน นอกจากจนี้จากปัจจัยการขึ้นราคาสินค้ากลุ่มชุดว่ายน้ำ 15-20% ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดชุดว่ายน้ำมีการเติบโตตามเป้าที่คาดไว้

นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของวัยรุ่นอายุ 18 - 25 ปีในปัจจุบัน ที่มีค่านิยมในการสวมใส่เสื้อผ้าแบบเน้นรูปร่างมากขึ้น และการแต่งกายจากตะวันตกมีอิทธิพลทำให้กล้าใส่ชุดว่ายน้ำที่หลากรูปแบบหรือมีสีสันมากกว่าคนรุ่นก่อน อีกทั้งแนวโน้มที่มีความถี่การซื้อชุดว่ายน้ำบ่อยกว่าลูกค้ากลุ่มอื่น ทำให้วัยรุ่นกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดชุดว่ายน้ำในยุคนี้

โดยเทรนด์ชุดว่ายน้ำในปีนี้ พบว่า ชุดว่าน้ำแบบ two-piece หรือชุดว่ายน้ำแบบ 2 ชิ้น คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 70 - 80% ของปริมาณการจำหน่ายชุดว่ายน้ำ ต่างจากภาพรวมตลาดเมื่อ 2 - 3 ปีก่อน ที่ชุดว่ายน้ำแบบสปอร์ตแวร์เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากสุด ทั้งนี้การซื้อชุดว่ายน้ำแบบ 2 ชิ้น เป็นลักษณะการซื้อซ้ำหรือเดิมมีชุดว่ายน้ำแบบชิ้นเดียวอยู่ก่อน รวมทั้งต้องการซื้อรุ่นใหม่ที่ทันสมัยมากกว่าเดิม

สำหรับการแข่งขันในปีนี้ เชื่อว่า จะมีการแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซกเมนต์ตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน เพราะถึงแม้ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจะสามารถครองส่วนแบ่งได้มาก โดยมีแบรนด์เป็นที่ยอมรับ ทว่าในกลุ่มผู้ผลิตระดับกลางและล่างอีกหลายรายก็หันมาผลิตสินค้าที่มีดีไซน์และปรับปรุงคุณภาพให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้สามารถขยายตลาดและขึ้นไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีชุดว่ายน้ำนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มที่นำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ชุดว่านน้ำจากประเทศจีน และเกาหลี เพื่อนำมาจำหน่ายเจาะลูกค้าระดับกลางถึงล่าง ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่น้อยจากผู้บริโภคที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การทำตลาดชุดว่าน้ำในปี 2550 ราคาและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายยังเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในยุคนี้ คือ การพิจารณารูปแบบที่เข้ากับรูปร่างของตนเอง ดีไซน์ สีสัน คุณภาพ และตามมาด้วยเรื่องการจัดรายการลดราคาสินค้า ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตมักจะจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับช่องทางจำหน่ายที่สำคัญคือห้างสรรพสินค้าในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน หรือจัดรายการลดราคาสำหรับสินค้าที่ตกรุ่นจากปีที่ผ่านมาเป็นการระบายสินค้าเก่าด้วย ในขณะที่สินค้ารุ่นใหม่จะเน้นที่การจัดให้มีของแถมเมื่อซื้อครบกับยอดที่กำหนดไว้ เช่น กระเป๋าใส่ชุดว่ายน้ำ ร่ม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ซึ่งการจัดให้มีรายการของแถมนั้นมักจะทำให้ผู้ซื้อเพิ่มงบประมาณในการซื้อแต่ละครั้งมากกว่าที่กำหนดไว้ก่อนการซื้อ

สำหรับ ตลาดส่งออกชุดว่ายน้ำ ไทยมีตลาดส่งออกชุดว่ายน้ำสำคัญในตลาดสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 25.75% ของการส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วยตลาดทางแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส 18.16% อังกฤษ 17.14% และเยอรมัน 14.85% ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันในตลาดส่งออกมีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อจีนก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งจากการเป็นแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถผลิตสินค้าส่งออกจำหน่ายในราคาถูกกว้าคู่แข่งรายอื่น ไม่เพียงเท่านี้ การจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น เช่น กัมพูชา เวียดนาม และประเทศในแถบละตินอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทการเป็นแหล่งผลิตด้วยนั้น ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกชุดว่ายน้ำของไทยให้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยวัดจากมูลค่าการส่งออกชุดว่ายน้ำไปยังต่างประเทศในปี 2544 ที่เคยมีมูลค่าสูงกว่า 1,800 ล้านบาท ทว่าในปี 2549 ลดลงเหลือ 1,154 ล้านบาท แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะใช้ความพยามยามในการเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการเข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้กับการประกวดนางงานจักรวาล หรือการสร้างมาตรฐานคุณภาพและดีไซน์ให้เป็นมาตรฐานสากล แต่จากการแข่งขันที่สูงมากทำให้การเข้าสู่ตลาดระดับบนของไทยนั้นทำได้จำกัด ส่วนตลาดล่างก็ต้องแข่งขันกับประเทศที่ผลิตได้ต้นทุนต่ำค่อนข้างมาก เช่น จีน เวียดนาม ปากีสถาน ดังนั้นผู้ผลิตคนไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดล่างที่เน้นแข่งกันเรื่องราคา ซึ่งถือเป็นความเสียเปรียบของผู้ผลิตคนไทยที่ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า

ด้านมุมมอง ผู้ประกอบการชุดว่ายน้ำรายใหญ่ ก็เชื่อว่า ทิศทางธุรกิจชุดว่ายน้ำในปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มทูพีช ทั้งนี้ อรวรรณ ธัมมะรักขิติ กรรมการ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดว่ายน้ำแบรนด์บีเอสซี, แอล, สตรีมไลน์ และอารีน่า กล่าวว่า การทำตลาดในปีนี้บริษัทจะเน้นที่ชุดว่ายน้ำทูพีช โดยแต่ละแบรด์จะมีการเพิ่มมูลค่าให้กับชุดว่ายน้ำด้วยการเพิ่มแอสเซสเซอรี่ให้ชุดมีความหรูหรา ซึ่งจะทำให้มีราคาเพิ่มขึ้น 10-15% โดยบริษัทได้ผลิตสินค้ากลุ่มดังกล่าวออกมาประมาณ 30% เพื่อจับตลาดกลุ่มบน คาดว่าในช่วงฤดูร้อนนี้จะมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่การจัดกิจกรรมการตลาดนั้น จะมีการเดินแฟชั่นโชว์ การถ่ายแฟชั่นตามนิยสาร รวมถึงการเป็นสปอนเซอร์การประกวดนางงาม โดยแบรนด์บีเอสซี จะเป็นสปอนเซอร์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส มิสยูเอสเอ และมิสทีนยูเอสเอ ส่วนแบรนด์สตรีมไลน์ จะเป็นสปอนเซอร์การประกวดมีสไทยแลนด์ยูนิเวอร์ส


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.