|
'สินเอเซีย'อึดยืนเป้าสินเชื่อโต45% มั่นใจคลังยังไม่ทิ้งหุ้น-ฟุ้ง3ปีล้างขาดทุนเกลี้ยง
ผู้จัดการรายวัน(4 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์สินเอเซียยันเป้าสินเชื่อเดิมโต 45% รับแม้ในช่วง 2 เดือนแรกจะมียอดการเบิกใช้สินเชื่อชะลอตัว แต่เดินหน้าบุกสินเชื่อภูธรเต็มสูบ หวังช่วยหนุนยอดสินเชื่อรวมให้โตตามเป้าได้ ระบุมั่นใจผู้ถือหุ้นใหญ่กระทรวงคลังยังไม่ขายหุ้นทิ้ง คาดอีก 3 ปีล้างขาดทุนสะสมได้หากกำไรโตในระดับเดียวกับปีก่อน
นายชาญชัย มุสิกนิศากร ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายในการขยายธุรกิจไว้ในระดับเดิม แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง คือ ตั้งเป้าอัตราการเติบโต 45% ใน 4 ธุรกิจหลักได้แก่ Corporate Banking,Retail Banking, Branch Banking และ Leasing ผ่านบริษัทย่อย ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ในระดับเดียวกับปี 2549 คือประมาณ 750-800 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มธุรกิจสาขาจะมีการเติบโตสูงสุด จาก 3.2 พันล้านบาทเป็น 7.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 149% จากการขยายสาขาภูมิภาคเพิ่มขึ้นเพื่อขยายฐานลูกค้าและการบริการสู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลางในภูมิภาค โดยธนาคารตั้งเป้าการขยายสาขาเพิ่มเติม 12 สาขาในปีนี้ โดยเป็นสาขาภูมิภาค 8 สาขา และสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 4 สาขา ทำให้ ณ สิ้นปี 2550 ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 17 สาขา
"ในปี 2549 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตภาคเหนือที่กินระยะเวลานาน ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี และกระทบถึงผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ในส่วนของธนาคารสินเอเซียได้รับผล กระทบไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารมีการเตรียมตัวที่ดีและดำเนินการอย่างระมัดระวัง ทำให้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 4,143 ล้านบาท คิดเป็นเติบโตร้อยละ 17.2 ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 4,634 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับปี 2548 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 758.5 ล้านบาท"นายชาญชัย
นายธงชัย อานันโนทัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสินเอเซีย กล่าวว่า สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น ธนาคารได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปค่อนข้างมาก แต่จำนวนการเบิกใช้ยังไม่มากนัก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอและสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน แต่เนื่องจากแผนงานของธนาคารในปีนี้เน้นการขยายสินเชื่อไปที่ภูมิภาคจากเดิมที่เน้นสินเชื่อ Corporate Banking จึงเชื่อว่าแม้สินเชื่อ Corporate Banking จะชะลอต้วลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่สินเชื่อภูมิภาคที่โตในอัตราที่เร่งขึ้นจะทำให้สินเชื่อของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อ Corporate Banking ไว้ 28,137 ล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 24,182 ล้านบาท ขยายตัว 16% สินเชื่อรายย่อย 5,820 ล้านบาท จากปีก่อน 2,618 ล้านบาท ขยายตัว 122% Branch Banking 5,488 ล้านบาท จากปีก่อน 2,207 ล้านบาท ขยายตัว 149% และสินเชื่อลิสซิ่ง 7,340 ล้านบาท จากเดิม 3,275 ล้านบาท ขยายตัว 124%
สำหรับกลยุทธในการขยายสินเชื่อภูมิภาคของธนาคารจะเน้นให้สาขาที่จะเปิดในจังหวัดใหญ่ของประเทศอีก 8 สาขาเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ โดยในแต่ละสาขาของธนาคารจะเน้นที่พื้นที่ขนาดใหญ่ หรือมีพนักงานจำนวนมาก แต่เน้นการทำธุรกรรมได้ครบถ้วนเทียบเท่าสาขาธนาคารในลักษณะ One Stop Service ซึ่งจะให้บริการที่รวดเร็วทำให้ลูกค้าพึ่งพอใจและใช้พนักงานประมาณ 10-11 คน
"ที่ผ่านมา เราอาจจะคุ้นเคยว่าสินเซียจะเน้นการปล่อยสินเชื่อ Corporate Banking แต่ปัจจุบันเนื่องจากสินเชื่อ Corporate Banking เริ่มโตช้า เพิ่มมาเก็ตแชร์ค่อนข้างยากแล้ว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ก็มีการแข่งขันสูง เราจึงหันกลับมามองสินเชื่อในภูมิภาค โดยเฉพาะสินเชื่อขนาดใหญ่และกลาง ซึ่งจากการสำรวจแล้วพบว่า ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารจึงมุ่งเน้นมาทางสินเชื่อภูมิภาค เพื่อเป็นช่องใหม่ในการขยายสินเชื่อแทน ซึ่งการโฟกัสเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราทำงานได้ง่าย และน่าจะดีกว่าเป้าที่ตั้งไว้สำหรับสินเชื่อภูมิภาค ซึ่งจะมีสาขาในต่างจังหวัดของธนาคารเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ"นายธงชัยกล่าว
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)นั้น ในปี 2550 ธนาคารตั้งเป้าจะปรับลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 1,356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ลดลง 71% จากในปี 2549 ที่อยู่ในระดับ 4,694 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.2%ของสินเชื่อรวม และเหลือ 1,115 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8%ของสินเชื่อรวมในปี 2551 โดยแผนงานในการปรับลดเอ็นพีแอลในปีนี้นั้น ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับลุกค้าภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้วเหลือเพียงการดูรายละเอียดแผนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่คดีสิ้นสุดแล้วอยู่ระหว่างการบังคับคดีเพื่อรอยึดทรัพย์และขายทอดตลาดเท่านั้น และขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างรอดูเงื่อนไการซื้อสินทรัพย์ของบริษัทสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ฯ(BAM)หากรับได้ก็พร้อมที่จะขายออกไป
สำหรับในปี 2551 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายในการขยายสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับ 66,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อ Corporate Banking 34,610 ล้านบาท ขยายตัว 23% สินเชื่อรายย่อย 9,187 ล้านบาท ขยายตัว 58% Branch Banking 11,699 ล้านบาท ขยายตัว 113% และสินเชื่อลิสซิ่ง 10,504 ล้านบาท ขยายตัว 43% ด้านเงินฝากธนาคารได้พยายามที่จะปรับโครงสร้างสัดส่วนเงินฝากให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันเป็น 5% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 4% และในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 14% มียอดเงินฝากรวม 70,000 ล้านบาท
นายธงชัยกล่าวอีกว่า โครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนาคารขณะนี้ ผู้ถือหุ้นคือกระทรวงการคลังถือหุ้น 30% และธนาคารกรุงเทพ 19% ซึ่งขณะนี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากธนาคารกรุงเทพได้ขอยืดระยะเวลาการขายของหุ้นออกไปอีก 6 เดือน ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังคงจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นเนื่องจากหุ้นของธนาคารมีราคาพาร์ที่ 10 บาท ขณะที่ราคาในตลาดของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากจึงยังไม่น่าจะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้น และในส่วนของธนาคารเองก็ยังไม่มีแผนที่จะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนเนื่องจากธนาคารมีเงินทุนเพียงพอและธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ก็มีความชำนาญเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
ส่วนผลขาดทุนสะสมของธนาคารที่มีอยู่ 3,500 ล้านบาทนั้น ธนาคารเชื่อว่าหากมีอัตราการเติบโตของผลกำไรในระดับที่เป็นอยู่ก็จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ภายใน 3 ปี โดยในปี 2547 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ในปี 2548 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% และในปี 2549 มีกำไรสุทธิ 759 ล้านบาท ลดลง 35% เนื่องจากธนาคารต้องกันสำรองตามเกณฑ์บัญชีใหม่ IAS 39
"โครงสร้างของผู้ถือหุ้นของธนาคารขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็คงจะเป็นส่วนของธนาคารกรุงเทพซึ่งขอเลื่อนการขายหุ้นของธนาคารออกไปอีก 6 เดือนคือ 30 มิถุนายน 2550 และจะต้องดำเนินการให้สิ้นสุดภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ในส่วนของพันธมิตรขณะนี้ธนาคารยังไม่มีนโยบายที่หาเพราะมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินการงานแล้ว และยังไม่จำเป็นต้องมีพาร์เนอร์เพื่อช่วยหนุนธุรกิจเพราะธตนาคารเน้นสินเชื่อภูมิภาคซึ่งเชื่อว่ายังไม่มีต่างชาติรายไหนมีความชำนาญมากกว่าธนาคาร"กรรมการผู้จัดการธนาคารสินเอเซียกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|