|
รวมหัวก่อหนี้4แสนล้าน"ฉลองภพ-ธปท."อุ้มบาท
ผู้จัดการรายวัน(4 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นายฉลองภพ สุสังกรณ์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยื่นขออนุญาตกระทรวงการคลังออกพันธบัตรจำนวน 400,000 ล้านบาทคงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจาก ธปท.จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ตามต้องพิจารณารายละเอียดประกอบการยื่นขอเพิ่มวงเงินด้วย เนื่องจากไม่ต้องการให้การออกพันธบัตรมีต้นทุนสูงเกินไป
นอกจากนี้ ธปท.ควรหามาตรการอื่นๆ เข้ามาดูแลและควบคุมเพื่อรักษาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลง อย่างไรก็ตามต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 11 เม.ย. 2550ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหรือไม่
ทั้งนี้ธปท.ได้ขอกระทรวงการคลังเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรอีก 400,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาเปิดเผยว่า ธปท.ได้ระบุวงเงินการออกพันธบัตรที่ได้รับการอนุมติเดิมทั้งหมดจำนวน 1,400,000 ล้านบาท จะใช้เต็มวงเงินภายในไตรมาส 1 ของปี 2550 จำเป็นต้องขอวงเงินเพิ่มอีก 400,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ชาติเคยขอวงเงินออกพันธบัตรแบงก์ชาติมากกว่านี้ และกระทรวงการคลังก็จะอนุมัติให้ตามที่แบงก์ชาติขอทุกครั้ง
แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังระบุว่า น่าผิดหวังกับการตัดสินใจของนายฉลองภพครั้งนี้ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าบทบาทการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลเฉพาะกิจอยู่ที่ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมา สศค.พยายามคานอำนาจ เพราะเห็นว่าแม้จะเป็นรัฐบาลชั่วคราวแต่เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การกระจายความเสี่ยงในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญอย่างค่าเงินบาทจึงต้องช่วยกัน แต่เจ้ากระทรวงกลับปล่อยให้ ธปท.ดำเนินการตามลำพัง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปีที่ผ่านมา ธปท.ใช้เงินอุ่มค่าเงินแล้ว 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รู้ว่า 3 เดือนล่าสุดใช้ไปอีกเท่าไหร่
"ที่น่าสนใจก็คือนายฉลองภพวันนี้แตกต่างจากสมัยอยู่ทีดีอาร์ไอ ไม่รู้มีการต่อรองว่ายอมให้ออกบอนด์ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้แบงก์ชาติโดย กนง.ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.5% หรือไม่ ผมคิดว่ารัฐมนตรีคลังมีอำนาจพอที่จะสั่งให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยโดยไม่ต้องอนุมัติออกบอนด์ถึง 4 แสนล้าน ทำไมต้องต่อรอง แล้วทำไมต้องรอให้ประชุม กนง.วันที่ 11 เม.ย.ก่อนจึงจะลดดอกเบี้ย หรือเป็นเพราะเศรษฐกิจตอนนี้ยังปกติ" แหล่งข่าวกล่าวและว่า การออกพันธบัตรจำนวนสูงถึง 400,000 ล้านบาท ในครั้งนี้ยังเป็นการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ ธปท.โดยเฉพาะนโยบายแทรกแซงค่าบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเฉพาะหน้าเพื่อหวังช่วยเหลือภาคส่งออกเพียงด้านเดียว โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลทิศทางค่าเงินในอนาคตให้ชัดเจนมากขึ้นทั้งๆ ที่นโยบายผิดพลาดมาโดยตลอดที่นำเงินออมประชาชนจำนวนมากไปแทรกแซงให้อัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระดับ 40-41 บาท แต่ก็ตรึงไม่ไหว สุดท้ายค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ในระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ หากสนับสนุนให้ ธปท.ดำเนินการต่อไปอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่
ขณะที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIMBANK กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "มาตรการ (30%) ของแบงก์ชาติที่ออกมาทำให้นักลงทุนต่างชาติสับสน ผมได้คุยกับผู้จัดการกองทุนชาวต่างประเทศหลายคนเริ่มเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เป็นอยู่ เขาเกิดอารมณ์เบื่อสุดๆ แล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้และเตรียมตัวถอนการลงทุนออกไปจากประเทศไทยแน่นอน ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้นอยู่แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับไม่รีบแก้ไข แต่กลับเล่นทอมแอนด์เจอร์รี่กัน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|