ในที่สุด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก็ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ไทล์เซราอิงค์ และบริษัทไทล์เซรา
ดิสทริบิวติ้ง อิงค์ ให้แก่ ฟลอริม เซรามิก กรุ๊ป ผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายใหญ่จากอิตาลี
เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากได้ลงทุนในบริษัทดังกล่าวมาแล้วถึง
10 ปี ผลจากการขายหุ้นครั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยต้องขาดทุนทางบัญชีถึง
1,200 ล้านบาท
ปูนซิเมนต์ไทยได้เข้าไปลงทุนซื้อโรงงานผลิตเซรามิกของไทล์เซราอิงค์
ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533
ซึ่งถือเป็นการขยายการลงทุนออกไปผลิตสินค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก
โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านั้น กิจการต่างประเทศของปูนซิเมนต์ไทย มีเพียงสำนักงานสาขาของบริษัทค้าสากลซิเมนต์ในกรุงโตเกียว
ประเทศญี่ปุ่น กรุงซิดนีย์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งเน้นทางด้านการค้าเพียงอย่างเดียว
การลงทุนในไทล์เซราอิงค์ครั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้เป็นโรงงานผลิตเซรามิกคุณภาพสูงป้อนให้กับตลาดสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อมั่นว่าโรงงาน ที่ได้ไปซื้อมาแห่งนี้
มีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นมาใช้งาน
พร้อมกับการส่งอวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย
ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิกดีที่สุดคนหนึ่งของปูนซิเมนต์ไทย
เดินทางไปเป็นกรรมการผู้จัดการในโรงงานดังกล่าว
ปูนซิเมนต์ไทยมีความมั่นใจค่อนข้างมากในการตัดสินใจครั้งนี้ โดยมีเหตุผล
3 ประการคือ
1. ปี 2533 เป็นปีที่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซรามิกบูมมาก
ตามการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทหลายแห่งมีการลงทุนขยายโรงงานผลิตเซรามิกกันมาก
จนมีการหวั่นเกรงกันว่าวัตถุดิบในประเทศอาจไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกันโครงสร้างรายได้ของปูนซิเมนต์ไทยขณะนั้น รายได้จากกลุ่มวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง
2 หมื่นล้านบาท สูงกว่ารายได้จากกลุ่มซีเมนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักเสียอีก
2. ปี 2533 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยประกาศยอมรับพันธะตามมาตรา 8 ของข้อตกลงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เพื่อผ่อนคลายการปริวรรตเงินตรา ทำให้การส่งเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศของปูนซิเมนต์ไทย
สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น
3. ปูนซิเมนต์ไทยมีความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นอุตสาหกรรมที่ปูนซิเมนต์ไทยถนัด
"เราจะเข้าไปในธุรกิจที่เราเก่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ถนัดเราก็จะไม่ไป
ทั้งนี้ได้วางนโยบายไว้ว่าถ้าเป็นธุรกิจหลักที่ปูนเชี่ยวชาญ ปูนต้องมีอำนาจบริหาร
แต่ถ้าไม่ถนัดปูนก็แค่ร่วมทุน" ทวี บุตรสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งมีบทบาทมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ถึงการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศคราวนั้น
แต่การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้นจนได้ เนื่องจากปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้คิดถึงตัวแปรเรื่องความชำนาญของคนงาน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น
"เราหวังจะผลิตเซรามิกชั้นดี โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
แต่ต้องมาเจอกับปัญหาคนงานท้องถิ่นที่ไม่มีความรู้" อวิรุทธ์ ซึ่งไปบุกเบิกโรงงานแห่งนี้เป็นคนแรก
ถึงขั้นต้องอพยพครอบครัวไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเกือบ 10 ปี เล่ากับ "ผู้จัดการ"
ถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เป้าหมายการลงทุนของปูนซิเมนต์ไทยไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากปัญหาเรื่องความรู้ของคนงานแล้ว เรื่องฝีมือและความประณีตของแรงงานก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง
โดยเฉพาะถ้าต้องการผลิตกระเบื้องเซรามิกคุณภาพสูง ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวเป็นสำคัญแล้ว
จะพบว่าเซรามิกที่มีการผลิตมาจากทางฝั่งยุโรปจะมีคุณภาพมากกว่าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา
ปัญหาเรื่องการแข่งขันจึงเกิดขึ้น
ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ปูนซิเมนต์ไทยต้องแบกรับภาระของไทล์เซราอิงค์
ด้วยหวังว่าจะให้เวลาเป็นผู้สร้างประสบการณ์ให้สามารถแข่งขันกับโรงงานกระเบื้องจากฝั่งยุโรปได้
แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อบริษัทแม่ในประเทศไทย ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
จนต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือใหม่
ผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทยจึงตัดสินใจที่จะขายไทล์เซราอิงค์ให้กับพันธมิตรจากอิตาลี
คนในปูนซิเมนต์ไทยยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ว่า กรณีของไทล์เซราอิงค์ ถือเป็นความล้มเหลวในการลงทุน ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดของปูนซิเมนต์ไทย
เพราะถือเป็นการตัดสินใจขยายการลงทุนไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นครั้งแรก
เพื่อหวังจะได้รับการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย
แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นบทเรียนทางธุรกิจที่มีค่าเล่าเรียนแพงถึง
1,200 ล้านบาท