|

เวทีทัศนะ:OHOP อีกหนึ่งแนวทางเพื่อสังคมสมดุลย์
โดย
พอล เลอมัง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สังคมไทยมาถึงจุดที่คนในสังคมถูกดดันมาจากปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจและสังคม ทางออกมีหลายทาง คนที่มีอำนาจหน้าที่กำลังพิจารณาหาทางกันอยู่ ทั้งลองผิดและลองถูก ในทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ให้ชุมชนและประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ รัฐบาลกำลังส่งเสริมโอทอบอยู่ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ทางออกหนี่งที่ผมอยากจะนำเสนอเพื่อเสริมโอทอบคือโอฮอบคำว่า OHOP (One House One Product) คือทุกบ้านมีการจัดระบบบริหารบ้านเพื่อการผลิต มีการจัดทำบัญชีรายครอบครัว ลูกบ้านที่เรียนอยู่ชั้นประถมก็ทำบัญชีเป็น มีการแยกขยะ แบ่งออกเป็นส่วนๆ ขยะเปียก หนังสือพิมพ์และกระดาษ ขวดพลาสติด ขวดแก้ว กระป๋องเหล็ก ถ่านไฟฉายและวัสดุมีพิษต่างๆ โดยในภาครัฐเองก็มีการปรับปรุง โดยมีรถรับขยะที่สะอาดมีสีสันสวยงามไปรับขยะฟรีและนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก นอกจากนี้ แต่ละบ้านล้วนนำของเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นสินค้าขายซึ่งจะเรียกว่าสินค้าโอฮอบ (One House One Product) ก็ได้
ความคิดเรื่องโอฮอบ น่าสนใจเพราะต่างจากโอทอบและสามารถจะเสริมโอทอบได้เป็นอย่างดี ลองคิดต่อในรายละเอียดดีไหมครับ
โอฮอบ ชื่อบอกแล้วว่าคือหนึ่งบ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ครั้งโบราณ คงจำคำพูดกันได้ ที่ว่า บ้านเรือนเคียงกัน ตกเย็นบ้านนี้ทำอาหารก็เผื่อแผ่ไปยังข้างบ้านด้วย ใครทำอะไรอร่อยก็เป็นที่รู้กันในย่านนั้น หลายท่านอาจจะคุ้นกับประโยคที่ว่า อ้อ ถ้าเรื่องขนมตาลละก้อ บ้านยายแจ๋วน่ะอร่อยที่สุดในซอยนี้ คำแบบนี้เราเคยได้ยินกันบ่อยซึ่งระยะหลังสังคมเปลี่ยนไปมาก ไม่มีลักษณะนี้ให้เห็นแล้ว ผู้คนขาดน้ำใจให้กันและกัน อยู่ข้างบ้านกันแท้ๆ ไม่รู้เรื่องของกันและกันเลย
วัตถุประสงค์ของโอฮอบ
เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะคนเมืองในระดับบ้านทุกบ้านได้ปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่ข้าวแพงน้ำมันแพงของอุปโภคบริโภคแพง และเป็นการเพิ่มศักยภาพของตนเองแทนที่จะปล่อยตัวเป็นมนุษย์เงินเดือนและผู้บริโภคที่ขาดสติอย่างเดียว ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็จะบอกว่าความจริงเราอยู่ในโลกปัจจุบันได้โดยไม่ต้องตามกระแสให้มากเกินไป และสามารถจะอยู่ได้ดีด้วยแต่เราต้องปรับความคิดปรับพฤติกรรมเสียใหม่
แนวทางและวิธีการ
คนเมืองทุกคนต้องเริ่มคิดและค้นหาตัวเองว่าจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งจากตนเองและสมาชิกในบ้านผลิตสินค้าอะไรมาขายในย่านที่ตนอยู่ได้บ้าง โอกาสมีกว้างมาก อาจจะเป็นอาหารก็ได้ ที่คนในบ้านทำได้อร่อยที่สุดและบ่อยสุด หรือบริการจากคนในบ้านที่ทำให้กันอยู่แล้ว เช่น ตัดผม ตัดเย็บเสื้อ พิมพ์ดีด ซ่อมคอมพิวเตอร์ ทำขนม ทั้งนี้ควรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของบ้านมากที่สุดคือเคยทำอะไรก็ทำแบบเดิมแต่ตั้งใจให้เป็นสินค้า/บริการที่มีคุณภาพของบ้าน เช่นเคยทำแกงไตปลากิน ก็ไม่ต้องถึงกับลงทุนไปเหมาเครื่องแกงมาจากตลาดผลิตเป็นล่ำเป็นสัน แต่ทำเพิ่มอีกนิดเพื่อขายหน้าบ้านโดยมุ่งไปยังลูกค้าแถวบ้านเท่านั้น
มนุษย์ทุกคนความจริงแล้วสามารถเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในตัวเองได้ ด้วยสมองของมนุษย์หากคิดกันจริงๆแล้วสามารถที่จะจินตนาการและสร้างนวตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้เสมอและหลายกรณีที่เราจะต้องแปลกใจที่ผู้คิดค้นนั้นมาจากเด็กและเยาวชนซี่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน ดังนั้นการส่งเสริมให้มีการคิดค้นในบ้านจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ผลที่น่าจะได้รับ
เกิดการปฎิสัมพันธ์และพึ่งพากันมากขึ้นในชุมชนในระดับเล็กสุดคือครอบครัวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทยที่เป็นอยู่ ผมนึกถึงการเดินเข้าซอยที่บ้านในแต่ละเย็นแล้วสามารถแวะซื้อโอฮอบในซอยเช่นมะม่วง ชมพู่จากบ้านยายม้า ซื้อแกงเผ็ดจากบ้านลุงชม ซื้อไข่และไก่ทอดจากป้าอี๊ดสุดท้ายซื้อข้าวเปล่าจากข้างบ้าน เป็นต้น
ทำไมจึงต้องลองคิดเรื่องโอฮอบ
วิถีชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะในเมืองในสมัยนี้ตามกระแสโลกาภิวัฒน์มากเกินไป ทำให้ทุกคนมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้บริโภคเท่านั้น ละทิ้งศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตไปสิ้น ลองสังเกตตัวเองก็จะพบว่าการเป็นผู้บริโภคนั้นจะมีพฤติกรรมการบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าที่ขาดสติ เช่นกลับบ้านแล้วต้องออกไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ทั้งที่รถติด น้ำมันรถก็แพงขึ้นทุกวัน ต้องกินอาหารในร้านอาหาร ต้องซื้อของใช้ใหม่ๆ ที่ถ้าซื้อจากห้างจะขายเป็นจำนวนมาก(เป็นโหล)ซึ่งบ่อยครั้งก็ใช้ไม่หมดจนเสียของแล้วก็ไปซื้อใหม่ ของใช้หลายอย่างมีแล้วแต่ก็ซื้ออีกเพราะมีแบบใหม่มาขายถ้าไม่ซื้อจะเชย เสื้อกระดุมหลุดก็ต้องซื้อเสื้อใหม่ทั้งที่ซ่อมได้ คอมพิวเตอร์ที่บ้านมีแต่ก็ใช้เล่นอย่างเดียวทั้งที่สามารถใช้พิมพ์งานหารายได้เสริมได้ เป็นต้น
ที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมโอทอบจนได้ผลดี ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยตื่นตัว มีความหวังที่จะขยายกิจการของตนให้ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ดีผมเข้าใจว่าโอทอบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มีกิจการอยู่แล้วในระดับท้องถิ่นและก็มีเหมือนกันที่คนธรรมดาที่มีผลิตภัณฑ์ดีๆสามารถกลายเป็นผู้ประกอบการในระดับโอทอบได้
อย่างไรก็ดีสำหรับโอฮอบน่าจะหมายถึงผู้ที่ยังมิได้มีกิจการเป็นเรื่องเป็นราว เป็นชาวบ้านธรรมดาโดยเฉพาะคนในเมืองที่มีบ้านอยู่ตามซอย มีวิถีชีวิตไปวันๆ หนึ่งโดยไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถผลิตอะไรมาค้าขายได้ แต่หากเริ่มคิด ก็จะพบว่าสามารถทำได้โดยทำอยู่ที่บ้านนั่นแหละ แนวคิดนี้หากน่าสนใจผมเห็นว่าน่าจะมีการช่วยกันวิจารณ์ต่อไป ถ้าทุกบ้านสามารถสร้างรายได้ประจำวันที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน ผมว่าคนไทยจะอยู่อย่างมีความสุขขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพขยะจะน้อยลง จะมีการประหยัดมากขึ้น คนจะมีความคิดมากขึ้น ชุมชนจะมีสัมพันธ์กันมากขึ้น.... ฯลฯ
ผมลองนึกถึงข้อดีของโอฮอบ ได้หลายข้อดังนี้
เป็นสินค้าที่ในบ้านใช้หรือผลิตอยู่แล้ว เช่นอาหารทำทานทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่ทำเพิ่มเผื่อขายด้วย เศษผ้าเอามาทำเป็นพรมหรือเศษกระดาษเศษไม้ใช้แล้วเอามาทำเป็นของที่ระลึก
เป็นส่วนที่ผลิตเกินความต้องการของครอบครัว
เช่นบางบ้านปลูกตระไคร้ ปลูกผักบุ้ง มะละกอ กล้วย หรือผลไม้อื่นๆ ได้ผลผลิตเกินกว่าที่จะบริโภคได้ทันและก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้ ปล่อยให้ผลผลิตที่เกินนั้นสูญเปล่าไป
ไม่ต้องมีสถานที่ใหม่
ใช้หน้าบ้านเป็นที่วางและขายของโดยไม่ต้องไปคิดลงทุนไปหาที่เซ้งในห้างที่มีราคาแพงมากหรือก่อสร้างตึกใหม่ ข้อนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติม
โอฮอบไม่ต้องไปจ้างคนงานให้เสียเงิน คนในบ้านนั่นแหละช่วยกันขาย ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนแล้วยังจะฝึกอาชีพการเป็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการแก่คนในครอบครัวด้วยรวมทั้งจะเกิดความสามัคคีของคนในครอบครัวว่าทุกคนมีส่วนในความอยู่รอดร่วมกัน
เสริมรายได้ในแต่ละวัน
เป็นการเสริมรายได้ในแต่ละวันได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องคิดถึงกำไรมากเกินไปเนื่องจากกำไรที่ได้ทางอ้อมคือการลดการใช้จ่ายของบ้านลงได้ส่วนหนึ่ง
ฝึกให้คนใช้หัวคิด วางแผนและหาความรู้
เมื่อไม่ได้ทำเป็นธุรกิจใหญ่โต สิ่งที่ได้จากโอฮอบนี้คือเป็นการฝึกให้สมาชิกในครอบครัวคิด สร้างสรรค์ จินตนาการในทุกรูปแบบซึ่งจำเป็นมากสำหรับคนไทยในยุคนี้ นอกจากนั้นยังเป็นการบังคับให้ต้องฝึกการวางแผนและหาความรู้ไปโดยปริยาย หากทำโอฮอบได้ดี ก็น่าจะเป็นความรู้พื้นฐานให้ทำโอทอบหรือธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต
ไม่จำกัดวัย
โอทอบเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่มีกิจการค้าขายอยู่แล้ว แต่โอฮอบใครก็ทำได้ เด็กเล็กในบ้านหากมีความคิดสร้างสรรค์อาจจะคิดผลิตสินค้าโอฮอบได้เช่นผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้มีการคิดสร้างสินค้าขึ้นมาหากขายไม่ได้ก็ใช้เองในบ้าน เช่นเด็กอาจจะคิดทำกรอบรูปหรือหัตถกรรมสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ขายซึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์ในบ้านได้ด้วย
เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรในบ้านและทรัพยากรธรรมชาติ
เมื่อคนในบ้านรู้จักคิดวางแผนการผลิตของบ้าน ก็จะเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในบ้านที่สอดคล้องกัน เช่นมีพื้นดินว่างอยู่ไม่เคยปลูกอะไรเลยก็จะได้ใช้ปลูก เศษกระดาษหรือกล่องที่เคยทิ้งไปทุกวันๆ ก็จะคัดเลือกเก็บเพื่อนำไปทำประโยชน์ ไม้ดอกที่ไม่เคยคิดดูแลก็จะเริ่มดูแลเพื่อเก็บดอกหรือต้นไปขายหรือแปรรูป
ไม่มีขาดทุน
โอฮอบไม่มีทางขาดทุนเพราะต้นทุนต่ำ กำไรที่ได้ไม่ได้คิดเป็นตัวเงินอย่างเดียว วัตถุดิบที่ใช้หรือบริการที่เกิดขึ้นเป็นของและสิ่งที่ในบ้านต้องใช้ บริโภคหรือมีอยู่แล้ว หากขายไม่ออกในวันนี้ ก็นำมาบริโภคเองในวันต่อไปและจะทำให้ได้คิดว่าจะต้องทำอะไรขายในวันหน้าจึงจะตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน
เป็นการค้าขายที่พอเพียง
ผมเห็นว่าโอฮอบน่าจะเป็นสิ่งดี ที่จะทำให้คนเมืองฝึกเรียนรู้การมีวิถีชีวิตอยู่แบบพอเพียงและใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด ถ้าชุมชนระดับซอยอยู่ได้ก็จะทำให้การบริโภคการใช้จ่ายของชุมชนนั้นลดลงมาอยู่ในสภาพที่สมดุลย์ซึ่งน่าจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับรากหญ้าได้
ไม่ลองไม่รู้
ในขณะนี้ผมกำลังคิดว่าจะดูแลต้นกล้วย ตะไคร้ พริก มะละกอ ตำลึงที่มีอยู่ในบ้านอย่างไร จะได้ทำให้เป็นโอฮอบและนำไปขายให้เกิดประโยชน์ต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|