ซัปพลายเออร์วอลมาร์ท ปรับลดหีบห่อสู่ระบบ “กรีน เรตติ้ง”


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ทางออกในการสร้างรายได้ ลดต้นทุน พร้อมกับเพิ่มมูลค่าของกิจการทางหนึ่งที่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง วอลมาร์ทตัดสินใจใช้เป็นนโยบายหลักในระยะอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ คือ การใช้ระบบ “กรีน เรตติ้ง”

ทำไม ? วอลมาร์ทต้องผลักดันให้ซัปพลายเออร์ของตนต้องลงนามในความร่วมมือในการปรับไปใช้ระบบดังกล่าว

เหตุผลสำคัญก็เพราะวอลมาร์ท เป็นกิจการขายปลีกแบบลดราคาจากป้าย ต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนของสินค้าถือว่าเป็นปัจจัยหลักของความอยู่รอดของกิจการ ซึ่งจะเป็นไปได้เมื่อได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องจากซัปพลายเออร์ที่จัดส่งสินค้าด้วย

โครงการพัฒนาระบบ “กรีน เรตติ้ง” การพัฒนาหีบห่อเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจของห้างวอลมาร์ทเป็นโครงการที่ขอความร่วมมือจากซัปพลายเออร์ที่ปัจจุบันมีจำนวนรวมกันกว่า 60,000 รายทั่วโลก ให้สนับสนุนการปรับเปลี่ยนหีบห่อสินค้าให้ลดลงไม่น้อยกว่า 5% จากปัจจุบันภายในปี 2013 รายละเอียดของโครงการนี้มี 3 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง เป็นการลดปริมาณการใช้หีบห่อ เพื่อลดต้นทุนและลดการทำลายสภาพแวดล้อม ส่วนที่สอง เป็นการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทดแทนวัสดุที่ใช้แล้วทิ้งแบบสิ้นเปลือง ส่วนที่สาม เป็นการใช้หีบห่อที่ประหยัดพลังงาน

ซัปพลายเออร์ที่ถูกกดดันให้ทำความตกลงในเรื่องนี้เป็นกลุ่มแรกคือ กลุ่มแปรรูปอาหาร หลังจากนั้น กลุ่มอื่นๆ ก็ตามมาตามลำดับ

ในการดำเนินการตามโครงการนี้ วอลมาร์ทจะทำระบบสกอร์การ์ด (Scorecard) เพื่อตรวจจับและให้คะแนนแก่ซัปพลายเออร์ และสรุปคะแนนว่าซัปพลายเออร์รายใดได้อันดับสูงสุด จะจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นท็อปซัปพลายเออร์ที่มีอภิสิทธิ์และศักดิ์ศรีทางการค้ากับห้างวอลมาร์ทดีกว่ากิจการคู่แข่งที่เสนอจัดส่งสินค้าและบริการแบบเดียวกัน และสัดส่วนการสั่งซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ในกลุ่มท็อปก็จะมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วย

ในทางตรงกันข้าม ซัปพลายเออร์รายใดที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือคะแนนถูกจัดออกมาแล้วอยู่ในกลุ่มบ๊วย ก็อาจจะต้องสูญเสียธุรกิจกับวอลมาร์ทในที่สุด

อันดับที่จัดให้กับซัปพลายเออร์แต่ละรายอาจขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ความร่วมมือ ความพยายามในการสนับสนุนโครงการนี้ และผลงานที่ออกมาเป็นที่ประจักษ์เทียบเคียงกับคู่แข่ง หากคู่แข่งของซัปพลายเออร์รายอื่นขยันกว่า ก็จะทำให้อันดับโดยเปรียบเทียบตกลงไปได้เช่นกัน

ในเดือนแรกที่เริ่มดำเนินโครงการนี้ ซัปพลายเออร์ที่เข้าร่วมมีจำนวนกว่า 2,268 ราย ครอบคลุมสินค้า 117 สายผลิตภัณฑ์ จำนวนดังกล่าวยังต่ำกว่าประมาณการและเป้าหมายของห้างวอลมาร์ทอยู่ดี และผู้บริหารของห้างก็หวังว่า ในปีต่อๆไปจะมีซัปพลายเออร์ร่วมอุดมการณ์กับตนมากขึ้นตามลำดับ

ระบบ เรตติ้ง สกอร์การ์ด เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2006 และเปิดตัวเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง โดยประเดิมใช้กับแซมส์ คลับ ที่เริ่มปรับปรุงหีบห่อสินค้าที่จัดส่งให้ห้างวอลมาร์ทอย่างทันอกทันใจ

หลังจากนั้น ซัปพลายเออร์กว่า 130 รายได้แสดงทางเลือกใหม่ๆ สำหรับการใช้หีบห่อในสินค้าเกือบ 3,000 ชนิด ที่แตกต่างฉีกแนวออกมาจากหีบห่อแบบดั้งเดิม ในการประเมินผลดำเนินงานของซัปพลายเออร์ตามโครงการนี้ วอล-มาร์ทจะเลือกซัปพลายเออร์ที่มีความสามารถในการสร้างหีบห่อที่สร้างสรรค์ ในการนำวัสดุทำหีบห่อกลับมาใช้หมุนเวียนใหม่ เช่น หีบห่อที่ทำจากข้างโพด หรือ มันฝรั่ง หรือซัปพลายเออร์ที่สามารถลดหรือทดแทนวัสดุประเภทโพลีสไตรีนได้ หรือเพิ่มวัสดุประเภทที่รีไซเคิลได้มากขึ้นได้

การดำเนินการดังกล่าว ซัปพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้าของวอลมาร์ทในระดับพ่อค้าส่งรายใหญ่จะต้องไปทำหน้าที่ต่อเนื่องในการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ทำการผลิตสินค้าให้ทำการปรับปรุงหีบห่อสินค้าให้ออกมาในแนวทางที่วอลมาร์ทต้องการตามโครงการนี้ด้วย

ในช่วงต่อจากนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ระบบงานของวอลมาร์ทจะยังคงเน้นหนักอยู่ที่การจัดเก็บข้อมูลของซัปพลายเออร์แต่ละราย เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเริ่มต้นเพิ่มคะแนนหรือสกอร์ในระบบในระยะต่อไป

คาดว่าในราวปี 2008 หรือปีหน้า ถึงจะเกิดผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน นั่นคือ ลูกค้าของวอลมาร์ท จะมีโอกาสได้เห็นคะแนนที่สกอร์ไว้ และได้ใช้คะแนนที่เปิดเผยโดยห้างในการตัดสินใจซื้อว่า ต้องการจะช่วยรณรงค์โครงการรักษาสภาพแวดล้อม การลดมลภาวะในโลกผ่านการใช้หีบห่อแบบใหม่ตามโครงการนี้หรือไม่

ผลของการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูกค้าที่ซื้อหาสินค้าจากวอลมาร์ทจะบอกได้ว่าการตัดสินใจดำเนินโครงการนี้ของห้างถูกต้องตามกระแสความห่วงใยในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือไม่

ไม่ว่าผลของการดำเนินโครงการนี้จะออกมาอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความใส่ใจและความพยายามในฐานะของกิจการค้าปลีกรายใหญ่อย่างวอลมาร์ท สะท้อนแนวคิดของการตลาดแบบกรีน มาร์เก็ตติ้ง ที่หลายคนค่อนขอดว่าได้สูญหายไปจากยุคการตลาดสมัยนี้แล้ว และสื่อว่าความเชื่อของกิจการต่อการปฏิบัติในฐานะนักธุรกิจที่ดี ใส่ใจในผลกระทบต่อสังคมและบ้านเมืองว่าเป็นหนทางของความอยู่รอดของกิจการ ไม่ใช่เรื่องเชยๆ หรือดีแต่พูดเท่านั้น

และที่สำคัญก็คือ วอลมาร์ทได้แสดงว่า การทำกำไรและการเน้นเฉพาะประสิทธิภาพภายในไม่เพียงพอ และไม่ใช่ความยั่งยืนในระยะยาวของกิจการ หากแต่ยังต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของคู่ค้าทุกระดับ เพื่อให้สังคมนี้ยังคงเป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.