“สภาธุรกิจไทย-จีน”แนะกลยุทธ์ลงทุนจีนบิ๊กซีพีย้ำ “4ธุรกิจ- มณฑล”ดาวรุ่งพุ่งแรง!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“ธนากร” นำสภาธุรกิจไทย-จีนเปิดบทบาทเชิงลึกแดนมังกร เดินหน้าเข้าหานโยบาย “เดินออกไป” เน้นแบ่งเค้กก้อนใหญ่ จับคู่-หาพาร์ทเนอร์จีนทำธุรกิจในไทย ส่วน SMEs มีแววรุ่งที่จีนโดยเฉพาะ 4 ธุรกิจ ได้แก่ “สปา-ร้านอาหารไทย-คาร์แคร์-อุตฯขนาดเล็ก” เพราะขาดแคลน พร้อมแนะมณฑลภาคตะวันตกน่าลงทุน เตือนระวัง!ธุรกิจสิ่งแวดล้อมเสี่ยงต้นทุนเพิ่มอื้อ

ครบ 6 ปีแล้วสำหรับการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน หรือ CCPIT (China Council for the Promotion of International Trade) และเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภาธุรกิจไทย-จีนได้ประกาศคณะกรรมการชุดใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่มีความคว่ำหวอดในการทำการค้าในจีน นำด้วย “ธนากร เสรีบุรี”รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด (ซีพี)ผู้ทำการค้ากับจีนมามากกว่า 20 ปีเป็นประธานกรรมการ

เน้นดึงจีนร่วมทุนผลิตสินค้าในไทย

ธนากร กล่าวว่า ในการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เหมือนกับกระทำแบบมีข้อจำกัดว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่เน้นเดินหน้าสร้างสัมพันธ์เชิงลึกกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน เพื่อผลักดันให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ให้งานด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน สะดุด แต่ถ้าสะดุดสั้น ๆ คงไม่เท่าไรแต่หากสะดุดยาวจะเสียหายมาก

ขณะที่การทำงานระหว่างสภาธุรกิจไทย-จีน กับ CCPIT ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของจีนและมีฐานะเทียบเท่ากระทรวงหนึ่งของจีน ทำให้มีการเดินหน้าบทบาทสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับจีนและการจัดกิจกรรมระหว่างกันมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการต้อนรับผู้ใหญ่จีนที่นำนักธุรกิจจีนมาเมืองไทย เพื่อให้มีการจับคู่ธุรกิจกัน

“ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ ๆ ของจีนหลายครั้ง ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่จีนน่าจะเข้ามาลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และก็เป็นเวลาที่ดีที่ไทยจะเข้าไปลงทุนที่จีน หรือร่วมทุนกับคนจีนที่มาลงทุนในไทยด้วย”

อย่างไรก็ดีสภาฯสนใจที่จะส่งเสริมและนำพานักธุรกิจไทยไปหานโยบายของจีน โดยเฉพาะนโยบายเดินออกไป ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปร่วมงานสัมมนาสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลที่ปักกิ่ง สภาฯก็ได้เสนอบทบาทในการช่วยคนไทย เพราะเมื่อจีนต้องการออกไปลงทุนนอกประเทศจึงที่เมืองไทย ขณะที่นักธุรกิจจีนก็ยังมองเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นประเทศหลัก

ธนากร ย้ำว่า การที่นักธุรกิจไทยจะเลือกส่งสินค้าไปขายในจีนแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่เชื่อว่าวิธีนี้ไม่ยั่งยืน ดังนั้นนักธุรกิจไทยควรที่จะดึงนักลงทุนจีนมาร่วมทุน ผลิตสินค้าในเมืองไทย แล้วส่งกลับไปขายในจีน รวมทั้งขายในประเทศโลกที่ 3 ด้วย

แต่เมื่อย้อนไปศึกษาเหตุผลทำไม่จีนถึงเน้นนโยบายการบริหารแบบ “เดินออกไป”พบว่าสาเหตุหลักมาจากการที่สหรัฐอเมริกาบังคับจีนให้มีการแข็งค่าหยวน คนจีนก็เลยแก้ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนจีนไปลงทุนต่างประเทศ และไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งการไปเที่ยวต่างประเทศ รัฐบาลจีนก็อนุญาตให้คนจีนสามารถพกเงินออกไปได้คนละ 5,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นนอกจากไทยควรจะดึงนักลงทุนจีนมาร่วมทุนทำธุรกิจในเมืองไทยแล้ว ด้านการท่องเที่ยว ไทยก็มีโอกาสมากหากดึงนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยให้มากขึ้น

ระวัง!ธุรกิจสิ่งแวดล้อมเสี่ยงต้นทุนอื้อ

ทั้งนี้จากการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติสมัยที่ 10 ครั้งที่ 5 ของจีนที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น เห็นได้ชัดว่าต่อไปนี้จีนจะเน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดที่ไทยจะได้โอกาสจากการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่จีนบอกว่าจีนต้องใช้พลังงานมากกว่า 4 เท่าของประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วไป เช่นถ่านหิน 1 ตัน จีนจะต้องใช้มากถึง 4 ตัน ดังนั้นธุรกิจพลังงานจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกันหากใครคิดไปลงทุนที่จีนเกี่ยวกับธุรกิจที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ควรระวัง และหยุดคิดให้ดีก่อน เพราะจีนมีมาตรการเข้มข้นมากในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลจากอดีตที่ไม่เคยมีการบังคับใช้ในเรื่องนี้มาก่อน เช่น ต้องลงทุนทำระบบขจัดน้ำเสีย ลงทุนด้านบริหารสิ่งแวดล้อมฯลฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้อยากแนะนำว่านอกจากนักธุรกิจไทยจะได้ประโยชน์จากการเน้นการลงทุนต่างประเทศและการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนแล้ว นโยบายจีนที่ไทยจะได้ประโยชน์มากคือการเน้นพัฒนาภาคตะวันตก และภาคอีสานของจีน เพราะจีนทุ่มงบประมาณลงพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก เหมือนกับการที่ซีพีที่เริ่มเข้าไปลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ เวลานั้น เซี่ยงไฮ้ยังไม่เจริญเท่าวันนี้ ทำให้การทำธุรกิจทำได้ง่ายกว่าไปลงทุนพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว

ส่วนพื้นที่ที่น่าสนใจเข้าลงทุนนั้นมี 4 เมืองที่อยากแนะนำได้แก่ เมืองเฉิงตู และเมืองฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน และเมืองหนางหนิง เขตปกครองตนเองจ้วง กว่างสี โดยสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมทุกประเภทโดยเฉพาะธุรกิจอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

4 SMEs มีแววรุ่ง

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่มีโอกาสมากในจีนคือ SMEs ภาคการบริการ เพราะปัจจุบันคนจีนที่ร่ำรวยมีจำนวนมากขึ้นมาก และคนจีนเองต้องการการบริการหลาย ๆ ประเภท ทั้ง สปา อาหารไทย แต่ต้องเข้าไปศึกษาลู่ทางในเมืองจีน และต้องจัดระบบการจัดการให้ดีขึ้น

“น่าเสียดาย มีคนเข้าไปทำร้านอาหารไทยหลายร้าน แต่ส่วนใหญ่มีระบบการจัดร้านแค่ 3 ดาว แต่คิดราคาตอนเก็บเงินแบบ 5 ดาว ตรงนี้คนจีนเขารับไม่ได้ ขณะเดียวกันมีร้านอาหารไทยที่เข้าไปทำในแถบเจียงซู เซี่ยงไฮ้ ขายดีมากเพราะราคาไม่สูงเกินไป”

ส่วน SMEs ด้านบริการเกี่ยวกับรถยนต์ก็เป็นที่ต้องการ ขณะนี้รถยนต์ที่จีนมีราคาถูกมาก มีระบบเงินผ่อนให้พร้อมเสร็จ แต่คนจีนเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียม ไม่มีที่ล้างรถ ไม่ได้บำรุงรักษารถยนต์เท่าที่ควร คนไทยน่าจะเข้าไปทำคาร์แคร์ หรือร้านซ่อมบำรุงรถ

นอกจากนี้ SMEs ด้านอุตสาหกรรมขนาดเล็กก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน ขอให้เน้นเข้าไปลงทุนที่มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี มณฑลหนิงเซีย

“ซีพีเข้าไปที่เซี่ยงไฮ้ปี 1980 ตอนนั้นเราเป็นคิงเลย เพราะเทคโนโลยีเราก้าวหน้ากว่าเขา แต่อาจจะต้องใช้ความพยายามมาก”

ทัพธุรกิจมังกรเตรียมเข้าไทย

นอกจากนี้ธนากร ยังให้คำแนะนำอีกว่า การจะไปทำธุรกิจที่จีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงควรจะเริ่มต้นจากการร่วมทุนทำธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งขณะนี้กองทัพนักธุรกิจจีนหลายประเภทอยากเข้ามาทำธุรกิจที่ไทยมาก ธุรกิจที่อยากเข้ามาลงทุนในไทยปัจจุบันที่สนใจมากได้แก่ธุรกิจประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจเคมี วิทยุ โทรทัศน์ ทีวีจอแบน ชิ้นส่วนรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

“จีนมองว่าไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบ วัตถุดิบไหนที่ส่งไปขายให้จีนมาก เขาอยากจะมาตั้งโรงงานผลิตในไทยด้วย ไม่ต้องไปผลิตที่จีนแล้วค่อยส่งไปขายเหมือนปัจจุบัน เช่นโรงงานแปรรูปยางพารา โรงงานผลิตเอทานอล หรือแอลกอฮอล์จากแป้งมันสำปะหลังหรือมันเส้น วันนี้อย่ามองว่าจีนจะมาแย่งธุรกิจคนไทย แต่ต้องคิดแบ่งเค้กให้ใหญ่ ทำอย่างไรเราจะเอาสิ่งที่เราแปรรูปแล้วส่งกลับไปขายที่จีน และส่งไปขายที่ตลาดประเทศที่ 3”

อย่างไรก็ดี นักธุรกิจที่สนใจร่วมทุนกับคนจีนนั้นมีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคือต้องศึกษาผู้ร่วมลงทุนให้ละเอียด เพราะคนจีนมีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสภาธุรกิจไทย-จีน มีผู้รอบรู้ด้านการลงทุนในจีนทั้งสิ้น และมีข้อมูลอย่างละเอียด จึงสามารถขอความร่วมมือ CCPIT เพื่อตรวจสอบคู่ค้าหรือคู่ร่วมทุนที่นักธุรกิจไทยจะเข้าร่วมทุนได้เป็นอย่างดี

“อยากเชิญนักธุรกิจที่อยากทำธุรกิจค้าขาย-ลงทุนกับจีน มาสมัครเป็นสมาชิก สภาธุรกิจไทย-จีน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 450 ราย (นิติบุคคล)”

ปี 50-คาดการลงทุนขยายตัว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ปีนี้สภาฯ จะมีการจัดงานสำคัญขึ้นมา 4 งาน ได้แก่

งานสัมมนา “ส่งเสริมการค้าและการลงทุนยูนนาน-ไทย” โดยสภาฯได้รับเกียรติจาก Qin GuangRong ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน กับตัวแทนฝ่ายไทยคือ เกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมงาน โดยจะมีการแนะนำมณฑลยูนนาน และหาแนวทางร่วมระหว่างไทย-ยูนนาน ในการนี้จะมีนักธุรกิจจากยูนนานเดินทางมาด้วย 200 คน และมีการเชิญนักธุรกิจไทยเพื่อให้มีการเจรจาต่อรองธุรกิจกัน

งานต่อมาเป็นงานใหญ่ คืองานสัมมนาการค้าไทย-จีน ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 โดยจุดเด่นคือจะมีการเชิญคนจีนที่ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจ 3 ด้านคือ อสังหาริมทรัพย์ ไอที และอุตสาหกรรม 3-4 คน เพื่อมาบรรยายว่าทำอย่างไรธุรกิจจึงประสบความสำเร็จ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ต่อมาสภาฯ ได้คุยกับทาง CCPIT ที่ปักกิ่ง ว่าจะมีการจัดงานแสดงสินค้าร่วมกันทั้งสินค้าไทยและสินค้าจีน ที่เมืองทองธานี ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจุดเด่นคือเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงสินค้า 2 ประเทศร่วมกัน

นอกจากนี้ จะมีการพานักธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่สนใจไปลงทุนเมืองจีน ไปดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ที่เมืองจีน โดยจะมีการจัดทริปไปทั้งหมด 2 ทริปด้วย โดยคาดว่ากิจกรรมที่สภาฯ ได้จัดขึ้นนั้น น่าจะทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนขยายตัวได้มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.