|

ยุทธศาสตร์ทางรอด SMEs สู้ต่างชาติยุคค่าเงินบาทแข็งโป๊ก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สถานการณ์เอสเอ็มอีเหนื่อยจัดอีกรอบ เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเหลือเกิน หลายฝ่ายคาดหากทุกอย่างไม่ดีขึ้นไม่เกินปีล้มระเนระนาด นักการตลาดแนะผู้ประกอบการให้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสด้วยยุทธศาสตร์จริงใจ พร้อมให้นำซัปพลายเชนมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน
“ผลจากการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้เริ่มมีการชะลอสั่งซื้อเครื่องจักรแล้ว และหากภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างจริงจังจะเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้า และผู้ประกอบการจะเริ่มหยุดการผลิตใน 5-6 เดือน และอาจปิดกิจการภายใน 8-9 เดือน โดยคาดว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีเงินทุนน้อยคือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)” เป็นคำกล่าวของ ดุสิต นนทนาคร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมกว่า 2 ล้านราย (เฉพาะผู้ประกอบผู้ประกอบการในเซกเตอร์ท่องเที่ยวและบริการ จากการสำรวจในปี 2546 มีถึง 627,772 ราย และตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าในปี 2548 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1.99 ล้านราย) ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีบ้านเราได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เมื่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภคหลักต้องตกงานจากปัญหาเศรษฐกิจ
ถัดจากนั้นมา 8 ปี ผู้ประกอบการบ้านเราโดนผลกระทบอีกครั้ง แต่คราวนี้ค่อนข้างหนักเพราะเจอทีเดียว 3 เด้ง ทั้งจากราคาน้ำมันที่แพงเป็นประวัติการณ์จากลิตรละ 10 บาทกระโดดขึ้นเกือบ 30 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถีบตัวสูงขึ้น และเหตุการณ์ความไม่สงบที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลามมาถึงหาดใหญ่ ส่งผลต่อความหวั่นวิตกในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของคนไทย และต่างชาติจนไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยวไปในจังหวัดดังกล่าว
ล่าสุดกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องลงไปแตะระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ได้ส่งผลมายังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเช่นกัน แม้ในวันนี้จะยังไม่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อยที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบจนไม่สามารถดำเนินการได้ต่อก็ตาม แต่เชื่อว่าหากการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเป็นหลักคงจะเกิดปัญหาขึ้นสักวัน และคงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆเนื่องจากปัจจุบันคนงานที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีเกือบ 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมด
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการบริหารกิจการลำบากขึ้น โดยทำให้ผู้ประกอบการลดการสั่งซื้อวัตถุดิบลง และอาจต้องจ้างคนงานลดลง เพราะต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น และราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากมีหลายกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป” ฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ปรับยุทธศาสตร์
ใช้วิกฤตสร้างโอกาส
ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาบาทแข็งที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นผู้ประกอบการนำเข้าที่ได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากสามารถสั่งซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ประเภทที่สอง เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน
“เอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเภทแม้จะได้รับผลกระทบที่ต่างกันแต่สามารถนำโอกาสนี้มาใช้ประโยชน์ให้กับองค์กรและตราสินค้าของตนเองได้ โดยผู้ที่ได้ผลบวกจากค่าเงินบาทสามารถแสดงความจริงใจไปยังลูกค้าด้วยการให้ส่วนลดอาจจะ 10% หรือมากกว่าเพื่อผูกใจผู้บริโภค และแสดงให้เห็นว่าแม้บริษัทจะได้ผลดีจากส่วนต่างค่าเงิน แต่บริษัทไม่ได้นำกลับมาเพื่อบริษัทเองแต่นำไปคืนให้กับผู้บริโภค
ส่วนผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับเงินน้อยลงอาจใช้ช่วงเวลานี้หันมาให้ความสำคัญอย่างแข็งขันกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) เนื่องจากหากทำดีๆ จะช่วยลดต้นทุนได้ 20-30% ด้วยในบางกระบวนการสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดความคล่องตัว และสามารถบริหารสต๊อก ตลอดจนสามารถส่งสินค้าได้ทันเวลา”
ชลิต ยังกล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานให้มากขึ้น และพยายามหันมาใช้กลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM : Customer Relationship Management) ด้วยการโฟกัสกลุ่มลูกค้าว่ากลุ่มใดมีปริมาณการซื้อสินค้ามาก-น้อย-บ่อย-ห่าง ขนาดไหน เมื่อทราบแล้วจะได้มาวางแผนการจับลูกค้าแต่ละกลุ่มให้อยู่หมัด หนทางหนึ่งก็คือ พยายามชักจูงให้ลูกค้า หรือร้านค้าสั่งหรือซื้อสินค้าที่ใช้สม่ำเสมอในปริมาณมากๆ เพื่อปิดโอกาสการขายสินค้าของคู่แข่ง
ทางรอดเอสเอ็มอี
แม้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะอยู่ในภาวะแทบจะสำลักวิกฤตทั้งหลายทั้งปวง แต่ทางแก้ที่จะไม่ให้ผู้ประกอบการบ้านเราต้องตกอยู่ในอาการเพียบหนักกว่าเก่าก็คือ ประการแรก ภาครัฐต้องจัดทำยุทธศาสตร์เอสเอ็มอี ซึ่งในระดับจังหวัดอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องลงลึกถึงระดับอำเภอ หรือตำบล เพื่อเฟ้นหาสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดอาจมีเพียง 10 ประเภทที่มีศักยภาพเพียงพอ
ประการที่สอง ต้องรื้อฟื้นมาตรการให้ธนาคารที่ตั้งสาขาในอำเภอ หรือจังหวัดต่างๆ ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดนั้น โดยแต่ละธนาคารต้องทำตัวเป็น Region Bank เช่นเดียวกับญี่ปุ่นทำอยู่
ทั้ง 2 ประการนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเข้ามาเสริมยุทธศาสตร์พัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอีของไทยในช่วง 4 ปี ( 2548-2551) ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่วางไว้เดิมใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ หรือคลัสเตอร์ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีด้วยกันอย่างมีระบบ
2. สร้างผู้ประกอบการใหม่ จะเข้าไปสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา พร้อมพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือด้านการเงิน 3. พัฒนาและปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ ให้ความสำคัญการพัฒนาแหล่งเงินทุน เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการใหม่ จัดระบบลอจิสติกส์ช่วยลดต้นทุน
4. พัฒนาเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน ให้การสนับสนุนการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด ส่งเสริมการอนุรักษ์และจัดหาพลังงานทดแทน 5.การบริหารจัดการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีขณะนี้ยังขาดทิศทางและกลไกในการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สร้างวัฒนธรรมใหม่
ด้วยเทคโนโลยี-คลัสเตอร์
สุวิทย์ เมษินทรีย์ นักการตลาด และนักยุทธศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า หากพิจารณาเอสเอ็มอีในบ้านเรานั้นจริงแล้วก็คือ กลุ่มเครือข่ายที่มีการร่วมมือกัน แต่จะต้องเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อสร้างขีดความสามารถของสภาพแวดล้อมนั้นทำงานได้เร็วขึ้น พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในรูปแบบของคลัสเตอร์ในรูปแบบของ Inter-firm collaboration
“สิ่งที่คุณต้องทำ และถือเป็นจุดเป็น จุดตาย ที่สามารถทำให้คุณตอบสนองผู้บริโภคได้ก็คือการทำซีอาร์เอ็ม ทำนองเดียวกัน คุณมี Competency Space ที่จะนำมาสู่ Business Domain ว่าคุณจะทำอะไร คุณก็ต้องทำให้มันเกิดเป็นรูปธรรมโดยผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า ERP (Enterprise Resource Planning) หรือในหนังสือเล่มนี้เขียนไว้เป็น Internal Resource Planning กล่าวโดยสรุปถึง Key Player ที่สำคัญก็คือ Customer, Company และ Collaborator ซึ่งการจัดการในอนาคต การตลาดจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง 3 เรื่อง คือเรื่องของคอนซูเมอร์ หรือ การจัดการความต้องการ (Demand Management) เรื่องของบริษัทหรือการจัดการทรัพยากร และเรื่องของการทำงานร่วมกัน หรือการจัดการเครือข่าย”
เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเงินอย่างเดียว แต่รัฐต้องช่วยวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลังมองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมเป็น Traditional SMEs เป็น Sub-contractor SME ไม่มี Stand-alone SME และไม่มี High value-added SME
“มันต้องเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคน ต้องออกแบบโครงสร้างภาษี เพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้หนักกว่านี้ ลงทุนทางการศึกษามากๆ สร้างกติกาให้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้กลยุทธ์ของเอสเอ็มอีต้องเปลี่ยนแปลง จากทำให้ดีขึ้น (Make It Better) เป็น "ทำให้แตกต่าง (Make It Difference) " จากนี้ไปจะต้องเป็นยุคของการสร้างผู้ประกอบการที่สร้างความแปลกใหม่มากขึ้น เน้นผลิต High value-added Entrepreneur
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|