|
โยธาฯเช็กบิล1.3หมื่นอาคาร คาดโทษหากไม่ส่งสภาพตึก
ผู้จัดการรายวัน(3 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กรมโยธาธิการฯ ร่อนหนังสือแจ้งเจ้าของอาคารสูง 13,000 หลังทั่วประเทศ จี้เร่งส่งรายงานตรวจสภาพอาคารก่อน 29 ธ.ค.50 คาดโทษเจ้าของอาคารไม่ส่งรายงานตามกำหนด สั่งปรับวันละ 10,000 บาท ด้านโยธาฯเร่งผลิตผู้ตรวจสอบรองรับการตรวจสอบอาคาร คาดสิ้นปีสามารถผลิตผู้ตรวจได้กว่า 1,000 ราย ส่วนผู้ประกอบการอาคารชุดพื้นที่เกินและไม่เกิน5 พันตร.ม.ได้เฮ หลังได้ยกเว้นไม่ต้องตรวจสภาพ5-7ปี
นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการ และผังเมือง เปิดเผยว่า กรมโยธาฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งเจ้าของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่เข้าข่ายอาคาร 9 ประเภทที่ต้องได้รับการตรวจสอบอาคาร ตามกฎกระทรงมหาดไทย ว่าด้วยการตรวจสอบสภาพอาคาร และความปลดภัยภายในอาคารตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยกรมโยธากำหนดให้เจ้าของอาคารเก่าต้องมีการตรวจสอบอาคารและส่งรายงานการตรวจสอบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือเทศบาลในพื้นที่สังกัดอยู่ภายก่อนวันที่ 29 ธ.ค.2550
ส่วนอาคารที่ก่อสร้างเสร็จใหม่ และได้รับใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ.6) เข้าข่ายต้องได้รับการตรวจสอบตามประเภทอาคารที่กำหนด เจ้าของอาคารจะต้องจัดหาผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร และส่งรายงานภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้ใบรับรอง( อ.6) อาทิ หากอาคารได้รับใบรับรองเมื่อวันที่2 เมษายน 2550ก็จะต้องส่งรายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 2 เมษายน 2551
ทั้งนี้ การตรวจสอบอาคารจะแบ่งออกเป็น2 ประเภทคือ 1.การตรวจสอบใหญ่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบทุกๆ5ปีต่อ1 ครั้ง และ2.คือการตรวจสอบย่อย ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันปีละ1 ครั้ง โดยการตรวจสอบใหญ่จะเป็นในส่วนของโครงสร้างอาคารและระบบทั้งหมดของตัวอาคาร ส่วนการตรวจสอบย่อยจะเป้นการตรวจสอบในเรื่องของความปลอดภายในอาคาร
สำหรับอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่ไม่เข้าข่ายอาคารสูงหรืออาคารที่มีขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร จะได้รับการยกเว้นการตรวจสอบเป็นเวลา 7 ปี แต่ต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบให้แก่อปท.ก่อนวันที่ 29 ธ.ค.2555 ส่วนอาคารที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตรขึ้นไปจะได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี แต่ต้องส่งรายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 29 ธ.ค.2553
“อาคารที่เข้าข่ายต้องได้รับการตรวจสอบแต่ไม่ดำเนินการตามที่กรมแจ้งเป็นหนังสือไป จะต้องถูกปรับในอัตราวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการส่งรายงานผลการตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนด “
อธิบดีกรมโยธาธิการฯ กล่าวว่า หลังจากที่ในปี2548 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงเรื่องการตรวจสอบอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องรายงานผลการตรวจสอบอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว โดยกรมโยธาธิการในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในเรื่องดังกล่าว และรับผิดชอบจัดอบรมผู้ตรวจสอบอาคาร เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบอาคารทั่วประเทศจึงได้เริ่มดำเนินการคัดเอกและจัดอบรมผู้ตรวจสอบ ตั้งแต่ปี2549 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด มีผู้ที่ผ่านมาสอบคัดเลือกและอบรมแล้ว 127 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ตรวจสอบเหล่านี้จะเริ่มทำหน้าที่ตรวจสอบอาคารในปีนี้เป็นปีแรก
ปัจจุบัน อาคารที่เข้าข่ายต้องได้รับการตรวจสภาพตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ทั้ง 9ประเภทที่กำหนดไว้มีจำนวนทั้งสิ้น 13,000 อาคารทั่วประเทศ โดยเป็นอาคารที่อยู่ในพื้นที่กทม.จำนวน 10,000 กว่าอาคารส่วนที่เหลือจะเป็นอาคารในพื้นที่ต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม จำนวนอาคารที่ต้องได้รับกาตรวจสอบมีจำนวนสูงถึง 13,000 อาคาร ทำให้กรมโยธาฯต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่จะเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบเพิ่ม ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยสอบคัดเลือก และอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนให้แก่ผู้ตรวจสอบให้มากขึ้น คาดว่าภายในปี50นี้ กรมโยธาฯจะสามารถพัฒนาผู้ตรวจสอบออกสู่ตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยตรวจสอบอาคารได้เร็วขึ้น
“ ความล่าช้าในการผลิต ผู้ตรวจสอบอาคารที่ผ่านมานั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาเรื่องค่าเบี้ยประกันที่บริษัทประกันภัยเรียกเก็บจาก เบี้ยประกันในจำนวนที่สูงมาก จากเจ้าของอาคาร และผู้ตรวจสอบ ซึ่งต้องได้รับการค้ำประกันจาก บริษัทประกันภัยในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดในการตรวจสอบ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่หลังจากที่กรมประกันภัยเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาเจรจาแล้วได้ข้อสรุปว่าผุ้ตรวจสอบจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อปี 1ล้านบาท ส่วนเจ้าของอาคาต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน 2 ล้านบาทต่อปี”
สำหรับความคืบหน้าการออกกฎกระทรวงเพื่อนิรโทษกรรมอาคารสร้างค้าง หรืออาคารร้าง ให้สามารถนำมาก่อสร้างต่อได้นั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นต้อนการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ครม. อนุมัติให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ได้อยู่ โดยจำนวนอาคารร้างหรืออาคารก่อสร้างค้างที่มีอยู่ในตลาดมีจำนวน1,700อาคารและคาดว่าจะสามารถนำกลับมาก่อสร้างต่อได้ประมาณ 1,000 อาคาร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|