ทีพีซีสยายปีกลงทุนเวียดนามเพิ่ม 5ปีทุ่ม1.75หมื่นลบ.ผุดVCM-พีวีซี


ผู้จัดการรายวัน(3 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีพีซีเล็งสยายปีกลงทุนปิโตรเคมีเพิ่มในเวียดนาม ใช้เงินลงทุน 500 ล้านเหรียญภายใน 5ปี ผุดโครงการผลิตVCM รองรับตลาดพีวีซีที่เติบโตสูง ลั่นแผนซื้อหุ้นโรงงานพีวีซีจากปิโตรเวียดนามไม่คืบในกลางปีนี้ เตรียมผุดโรงงานใหม่เอง ตั้งเป้าปีนี้ยอดขายโตขึ้นไม่มาก เนื่องจากมีกำลังการผลิตพีวีซีเพิ่มขึ้น 2หมื่นตันและราคาปรับขึ้นเล็กน้อย

นายคเณศ ขาวจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)(ทีพีซี) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนจะใช้เงินลงทุนในประเทศเวียดนามประมาณ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1.40-1.75 หมื่นล้านบาทภายใน 5ปีข้างหน้า (2550-2554) ซึ่งบริษัทฯกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนปิโตรเคมีขั้นกลางที่เวียดนาม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบรองรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซี คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้ภายในไตรมาส 3/2550

การตัดสินใจจะขยายการลงทุนปิโตรเคมีขั้นกลางในเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการใช้เม็ดพลาสติกพีวีซีในเวียดนามเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7-8%ต่อปี สูงกว่าประเทศไทยที่ขยายตัวเพียง 3-4% ขณะเดียวกันเวียดนามมีตลาดรองรับโซดาไฟ ซึ่งเป็นผลพลายได้จากจากการผลิต VCM ด้วย โดยการศึกษาดังกล่าวบริษัทจะดูรายละเอียดถึงความเป็นไปได้ของโครงการทั้งVCM/EDC ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซี

ทั้งนี้ ทีพีซีได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตพีวีซีในเวียดนาม มีกำลังการผลิต 1.2 แสนตัน/ปี ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตเต็มที่ และยังส่งออกพีวีซีจากไทยไปจำหน่ายที่เวียดนามอีกปีละ 3-4 หมื่นตัน ล่าสุด บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจาขอซื้อหุ้นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีที่ปิโตรเวียดนามถือหุ้นอยู่ 43% โดยเรื่องดังกล่าวกำลังรอการตัดสินใจจากปิโตรนาส ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของปิโตรเวียดนามอยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หลังจากโรงงานดังกล่าวประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าภายในกลางปีนี้ บริษัทฯจะตัดสินใจลงทุนขยายกำลังการผลิตพีวีซีเอง ซึ่งแผนศึกษาการลงทุนในเวียดนามดังกล่าวข้างต้นจะครอบคลุมการลงทุนต่างๆแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายคเณศ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี49ที่มีรายได้รวม 2.55 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีเพิ่มขึ้นอีก 5%จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ 4.8 แสนตัน/ปี เป็นผลจากโรงงานผลิตพีวีซี สายการผลิตที่ 9 อีก 1.2 แสนตันจะเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงก.ค.นี้ แต่บริษัทฯจะปิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีที่พระประแดง ขนาดกำลังการผลิต 8 หมื่นตัน/ปี เนื่องจากเป็นโรงงานเก่า ทำให้มีต้นทุนผลิตสูง ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 2 หมื่นตัน

ส่วนราคาเม็ดพลาสติกพีวีซีในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 815 เหรียญสหรัฐต่อตันเป็น 850 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากราคาวัตถุดิบได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อาทิ เอทิลีนและEDC โดยในปีที่แล้ว ราคาเม็ดพลาสติกพีวีซีไม่สามารถขยับราคาขึ้นได้เป็นผลมาจากปริมาณเม็ดพีวีซีจากสหรัฐฯจำนวนมากไหลเข้าสู่จีน รวมทั้งการลดปริมาณนำเข้าเม็ดพลาสติกพีวีซีจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกพีวีซีปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ บริษัทฯมีการขยายกำลังการผลิตท่อและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจาก 1.13 แสนตันเป็น 1.45 แสนตัน/ปี ซึ่งราคาท่อพีวีซีในปีนี้น่าจะขยับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบเช่นกัน

"การลดปริมาณการนำเข้าพีวีซีในจีนไม่ใช่สัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอยของธุรกิจ แต่จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคพีวีซีสูงถึง 10 ล้านตันคิดเป็น 1/3ของโลก เมื่อจีนขยับอะไรก็กระทบตลาดโลก โดยปริมาณการผลิตพีวีซีในจีนเพิ่มมาก ทำให้ลดปริมาณนำเข้าลง ดังนั้น บริษัทจึงหันไปเจาะตลาดใหม่ๆเพิ่มเติมอาทิ ยุโรปตะวันออก เช่น ตุรกี อาฟริกา และอินเดีย โดยยืนยันว่าจีนยังมีความต้องการใช้พีวีซียังเติบโตต่อเนื่องอยู่ "

ปัจจุบันส่วนต่างราคาสินค้ากับวัตถุดิบ (PVC-EDC GAP)ไม่ค่อยดี เนื่องจากอีดีซีซึ่งเป็นวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 300 กว่าเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่เชื่อว่าทั้งปีคงต่ำกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากราคาเอทิลีนลดลงเหลือ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นผลจากโรงโอเลฟินส์มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับความต้องการใช้พีวีซีในไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5 แสนตันปี เพิ่มขึ้นจากปี2549 ที่มีการใช้รวม 4.8 แสนตัน แต่กำลังการผลิตในประเทศยังเกินความต้องการใช้อยู่ ทำให้บริษัทฯยังต้องส่งออกพีวีซีไปต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 45 %ของรายได้รวม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯพยายามลดผลกระทบอย่างเต็มที่ โดยมีการทำประกันความเสี่ยงเป็นระยะ และการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ EDC และเอทิลีนจากต่างประเทศบ้าง ทำให้ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทบ้าง แต่ก็มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกพีวีซี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.