|
เงินเฟ้อมี.ค.0.7%พุ่งสูงสุดรอบ4เดือน
ผู้จัดการรายวัน(3 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เงินเฟ้อมี.ค.เทียบเดือนต่อเดือนเพิ่ม 0.7% ดีดกลับมาช่วงขาขึ้น หลังชะลอตัวลงต่อเนื่องกัน 4 เดือน เหตุราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือน โดยเบนซิน 5 ครั้ง ดีเซล 3 ครั้ง รวมทั้งผักและผลไม้แพงขึ้น ส่วนเงินเฟ้อไตรมาสแรกขยับ 2.4% “พาณิชย์”มั่นใจทั้งปียังคุมได้ 1.5-2.5% แม้ทิศทางราคาน้ำมันจะขยับตัวเพิ่มขึ้น
นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.2550 เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.7% เทียบกับเดือนมี.ค.2549 สูงขึ้น 2% และเมื่อเทียบช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 2.4%
อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่สูงขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. นั้น ถือว่าสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน นับจากเดือนพ.ย.2549 เนื่องจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นในอัตราที่เท่ากัน คือ 0.7% ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ผักและผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด เป็นต้น
“เดือนมี.ค.อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น เพราะช่วงนี้อากาศเริ่มร้อน ผักและผลไม้ เช่น มะนาว ผักกาดขาว ต้นหอม และส้มเขียวหวาน ผลผลิตลดลง เนื้อสุกรก็มีราคาสูงขึ้น จากการตัดวงจรของสุกรมีชีวิตไปทำหมูหัน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 5.2% โดยเบนซินขึ้น 5 ครั้ง ดีเซล 3 ครั้ง และราคายางรถยนต์ และรถยนต์นั่งก็ปรับราคาสูงขึ้น”นางนทีทิพย์กล่าว
นางนทีทิพย์กล่าวว่า เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกที่สูงขึ้น 2.4% มีสาเหตุมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 5.1% และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.9% ซึ่งกระทรวงฯ ยังคงยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในระดับ 1.5-2.5% เช่นเดิม แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
“เดิมทีตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีที่ 1.5-2.5% บนสมมติฐานน้ำมันดิบดูไบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เฉลี่ย 3 เดือนอยู่ที่ 55.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงยังไม่เกินที่คาดไว้ แต่ก็น่าเป็นห่วง เพราะล่าสุด (30 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับเพิ่มขึ้น 63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งต้องจับตาดูต่อไป แต่ก็ยังดีที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ทำให้น้ำมันนำเข้าราคาไม่แพงมากนัก และยังมีผลในเรื่องต้นทุนและวัตถุดิบที่ถูกลง”
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 และ 3 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพราะฐานในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงมาก โดยเฉลี่ยสูงกว่า 5% แต่ก็ต้องจับตาในเรื่องราคาน้ำมัน หากปรับเพิ่มขึ้นมาก ก็จะมีผลต่อราคาสินค้า และค่าโดยสาร รวมไปถึงการปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกไป เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2550 สูงขึ้น 0.1% เทียบกับเดือนมี.ค.2549 สูงขึ้น 1.3% และเมื่อเทียบ 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 1.4%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|