|
เอ็นพาร์คเพิ่มทุนล็อตใหญ่4พันล.
ผู้จัดการรายวัน(3 เมษายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"เอ็นพาร์ค" เพิ่มทุนก้อนใหญ่ 4,028 ล้านบาท เจาะจงกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 0.55 บาท หวังนำเงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน-ชำระหนี้เงินกู้ พร้อมชี้แจงกรณีศาลฎีกา พิพากษากลับว่ามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ระบุศาลล้มละลายกลางในคดีล้มละลาย ได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ด้านไทยสมุทรเจ้าหนี้คัดค้านคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางต่อศาลฎีกา ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ประธานกรรมการ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK (เอ็นพาร์ค) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2550 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 4,028 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนจำนวน 8,057 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 12,085 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 4,028 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.55 บาท โดยมีอัตราส่วนลดหุ้นละ 0.45 บาท
ทั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ N-PARK ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2549 5 อันดับแรก ได้แก่ E-STREET PROPERTIES LIMITED สัดส่วน 13.47%, นายทวีฉัตร จุฬางกูร สัดส่วน 5.70% , นายเสริมสิน สมะลาภา สัดส่วน 4.36% , บริษัท แคแรคเตอร์ บิสซิเนส ซิสเต็ม จำกัด สัดส่วน 4.10% และ บริษัท ทริปเปิล ไอดีล จำกัด สัดส่วน 4.10%
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ชำระหนี้เงินกู้ยืม รวมถึงนำไปพัฒนาโครงการอสังหาฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะทำให้ บริษัทจะมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น N-PARK วานนี้ (2 เม.ย.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ใกล้เคียงกับราคาปิดครั้งก่อน ก่อนจะเพิ่มขึ้นในช่วงบ่าย โดยมีราคาสูงสุดที่ 0.23 บาท ต่ำสุดที่ 0.18 บาท และปิดการซื้อขายที่หุ้นละ 0.22 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.04 บาท คิดเป็น 22.22% มูลค่าการซื้อขายรวม 65.98 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฎีกา พิพากษากลับว่ามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากปี 2540 ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทางการเงิน และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังบริษัท เป็นผลให้ในปี 2543 บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดระยะเวลากับเจ้าหนี้หลายราย โดยบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องบริษัทเป็นคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 28 มีนาคม 2543 ดังนั้น บริษัทจึงยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท
ภายหลังจากที่บริษัทได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จ และชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายครบถ้วน ประกอบกับสามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เรียกความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 บริษัทจึงได้จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ (ชุดปัจจุบัน) ให้เข้ามาบริหารกิจการของบริษัทต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทออกจากสารบบความ และอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 (คำพิพากษาฎีกาที่ 950/2546) "พิพากษากลับว่ามีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ" ซึ่งในอดีตบริษัทได้เคยชี้แจงคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้วในหนังสือของบริษัทที่ N-Park 0602/2547 ว่า เนื่องจากบริษัทได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายครบถ้วน จนไม่มีเจ้าหนี้เหลืออยู่แล้ว ดังนั้น คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดๆ ที่บริษัทได้กระทำไปแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจที่ครบถ้วน คำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 อ้างอิงพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 90/48 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 (คำพิพากษาฎีกาที่ 6507/2548) จากการอ่านคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางเรื่องยกคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น เป็นคำสั่งในประเด็นปัญหากฎหมายว่า "ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่" ตามความในมาตรา 90/48 วรรคสาม ดังกล่าวนั้น หมายถึง ศาลล้มละลายกลางในคดีล้มละลาย มิใช่ศาลล้มละลายกลางในคดีฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นส่วนปัญหาเทคนิคในทางกฎหมายของคำสั่งบังคับคดีในระหว่างศาลฎีกา และศาลล้มละลายกลางตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 เท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2546 อันถึงที่สุดตามกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางในคดีล้มละลาย ได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 เนื่องจากบริษัทไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งไทยสุมทรอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางต่อศาลฎีกา และขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|