สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ ดัชนความเชื่อมั่นก.พ.ที่42.9


ผู้จัดการรายวัน(2 เมษายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.ชี้จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้ล่าสุดผลการสำรวจในช่วงไตรมาส 4 ของปี 49ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในภาคธุรกิจลดลงเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และส่งผลกระทบผ่านมายังการลงทุนเช่นกัน คาดในอนาคตแนวโน้มการลงทุนจะขยายตัวอย่างช้าๆ แต่อาจกระตุ้นให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น เพื่อขยายการลงทุนมากขึ้นได้จากการใช้จ่ายภาครัฐ-ทิศทางดอกเบี้ยขาลง-สถานการณ์การเมืองหากมีความชัดเจนมากขึ้น

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานผลประกอบการของภาคธุรกิจในส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินล่าสุดไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ที่ผ่านมา พบว่า ผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจในภาพรวม แม้จะปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยเฉพาะของภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนเช่นกัน

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ของปี 2549 ที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้อัตรากำไรเบื้องต้นจะปรับสูงขึ้นบ้าง แต่เมื่อหักต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROA) ลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 7%ต่อปี

ขณะเดียวกันความสามารถในการชำระหนี้ที่สะท้อนจากอัตราส่วนรายได้ต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายปรับลดลงเช่นกัน แต่ยังอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและการชำระหนี้ของภาคธุรกิจในระยะต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E) ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยพิจารณาจากสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรต่อสินทรัพย์ถาวรทั้งหมดชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง และภาวะความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับลดลง

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปคาดว่าจะขยายตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 1.การใช้จ่ายของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2.ทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ3.สถานการณ์ทางการเมืองที่น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ฟื้นตัว และจะส่งผลให้มีการขยายตัวของการลงทุนต่อไป

นอกจากนี้ โครงสร้างทางการเงินของภาคธุรกิจโดยรวมยังคงมีความแข็งแกร่งและเอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยปัจจุบันภาคธุรกิจมีเงินทุนสะสมภายในหรือกำไรสะสมสูงกว่า 40% ของส่วนของผู้ถือหุ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจล่าสุด ณ เดือนก.พ.ที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 42.9 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 43.9 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการจ้างงานและการผลิต ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 51.3 โดยเฉพาะจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ อย่างไรก็ตามระดับดัชนีดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.