เมื่อคนหัวรั้นเจอคนบ้าเลือด เลือดก็เลยท่วมธนาคารชาติ


บทความจาก Big Story. หนังสือเล่มโครงการ Manager Classic( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2527 สำหรับวงการเงินการคลังของประเทศไทย นับได้ว่า เป็นปีที่ไม่เคยมีเวลาให้พักเลย คนเก่าในวงการบางคนบอกว่า ตั้งแต่สังคมการเงินเติบโตมา เพิ่งจะมีปีนี้แหละที่มีแต่เรื่องเลวร้ายมาตลอด นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับยืนยันว่า

"ปี 2527 คือ Depression Year"

ในแง่เศรษฐศาสตร์เพียงพอ แต่ว่าพวกเราอยู่ในเหตุการณ์กลับมองไม่เห็น "คุณลองให้เวลาผ่านไปอีกสัก 10 ปี แล้วมองย้อนไปซิ คุณจะเห็นชัดเลยว่า เรากำลังมี Depression อยู่ในขณะนี้" นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าว

ถ้าปี 2527 เป็น Depression สำหรับเศรษฐกิจแล้วละก้อ สำหรับบุคคลดังๆ ในวงการก็น่าจะเป็น "ปีแห่งกาลกิณีแท้ๆ"

หนึ่งในวงการนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนชื่อ "นุกูล ประจวบเหมาะ" อดีตผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย

สื่อมวลชนส่วนใหญ่ได้พูดถึงข่าวการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ อย่าง ละเอียดลออแล้ว "ผู้จัดการ" จะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก แต่เราอยากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความพิกลพิการของเรื่องนี้ ซึ่งมีทั้งหลักการและเรื่องบุคลิก อุปนิสัยของตัวแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จนเกิดละครชุด "จำต้องพิฆาตเข่นฆ่าให้อาสัญ" ที่ไม่น่าเกิดขึ้น

"ผู้จัดการ" มีเวลาน้อยมากในการทำเรื่องนี้ เราพยายามติดต่อขอคุยกับ สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ "ท่านรัฐมนตรียังไม่อยากจะพูดอะไรมากในขณะนี้" ผู้ใกล้ชิดสมหมายบอกมาและบอกว่า สมหมายแนะนำให้พูดกับคนใกล้ชิดของสมหมายอีกคนหนึ่งแทน ซึ่งไม่ประสงค์จะให้ "ผู้จัดการ" เอ่ยนาม

การที่จะเข้าใจถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านต้องพยายามเท้าความไปถึงกระทรวงการคลัง ในยุคก่อนสมหมายเข้ามา และใช้จิตวิทยา ตลอดจนหลักรัฐศาสตร์เข้าประกอบด้วยจึงจะพอเข้าใจภาพต่อทั้งหลายได้ชัดเจนกว่าเดิม

เหมือนที่ว่าเอาไว้ว่า ยุคใครคนนั้นก็ต้องสร้างฐานอำนาจของตนเองขึ้นมาและในระบบราชการ หรือเอกชนนั้นย่อมหมายถึง การแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามากุมอำนาจ

ในกระทรวงการคลังก่อน 14 ตุลานั้น เป็นยุคของบรรยากาศอนุรักษนิยมที่ถูกบริหารโดยนักการคลังที่ไม่ได้มีสายตาที่ยาวไกล แต่เป็นการบริหารงานแบบธรรมดาสามัญ ที่วางแนวตามกรอบประเพณีที่เคยอ้างกันมาอยู่แล้วคือ การดำเนินนโยบายคลังตามผู้มีอำนาจทางการทหาร ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศ

ฉะนั้นการเกิดของข้าราชการหนุ่ม ที่มีอนาคตจึงเป็นเรื่องยาก นอกเหนือไปจากการค่อยๆ เลื่อนขึ้นมาตามระบบอาวุโส

บุญชู โรจนเสถียร คงจะเป็นคนแรกที่เริ่มการปรับปรุงองค์กรนี้ใหม่ โดยดึงเอา อำนวย วีรวรรณ จากอธิบดีกรมศุลกากรมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ข้ามหน้าคนที่มีอาวุโสมากกว่าหลายคนในขณะนั้น

การเอาอำนวย วีรวรรณ ขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงการคลังคือ การพังทำนบให้ น้ำไหลบ่าเข้ามาเป็นครั้งแรก!

พอจะพูดได้ว่า ยุคที่อำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงการคลังนั้น เป็นยุคที่คนหนุ่มกระตือรือร้นมากที่สุด และผลพวงอันนี้ก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงการคลังในรูปของบุคลากรอย่างมากที่สุด ที่เห็นได้ชัดคือ เป็นยุคที่คนหนุ่มเป็นอธิบดีกันมาก ในขณะที่คนอายุมากใกล้เกษียณแล้ว จะไม่ได้รับความสนใจ

เช่น พิพัฒน์ โปษยานนท์ สมัยที่เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต แทบจะไม่มีบทบาทและเกือบจะโดนย้ายประจำกระทรวงหลายครั้งแล้ว ถ้าไม่ใช่มีการขอกันในระดับผู้ใหญ่

สมัยที่บุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีคลัง และอำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการทำงานที่ให้โอกาสคนหนุ่มๆ เช่น ชาญชัย ลี้ถาวร, นุกูล ประจวบเหมาะ, ไกรศรี จาติกวณิช, วิโรจน์ เลาหพันธุ์, บัณฑิต บุณย- ปานะ, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ฯลฯ ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่

อาจจะเป็นเพราะบุญชูเองมาจากภาคเอกชน ฉะนั้นการบริหารงานราชการ จึงแตกต่างไปกว่ารัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการประจำ

ในยุคอำนวย วีรวรรณ นั้น หนึ่งในหลักการทำงานที่อธิบดีทั้งหลายพออกพอใจมากเป็นพิเศษคือ การที่ทุกคนสามารถจะทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมาเสีย เวลาในการเอาอกเอาใจเจ้านาย

พอหมดยุค บุญชู โรจนเสถียร และอำนวย วีรวรรณ ก็ถูกการเมืองเล่นงานในยุค ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ถึงยุคสมัยของ สุพัฒน์ สุธาธรรม ที่ถูกทุกคนข้ามหัวไป ในยุคบุญชู และสุพัฒน์ก็หันเข้าไปในรูปแบบเดิมของระบบอาวุโสและอนุรักษนิยม

กระทรวงการคลังในสมัย สุพัฒน์ สุธาธรรม คือ กระทรวงการคลังที่ทำงานใน ลักษณะของผู้ตามนโยบายการคลัง ที่รัฐบาลมักจะเป็นผู้ชี้แนะ อาจจะเป็นเพราะว่า กระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีที่ไม่มีลักษณะของผู้นำทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นผู้เดินทาง ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี

ขณะที่สมัย บุญชู โรจนเสถียร กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และอำนวย วีรวรรณ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น บทบาทของกระทรวงการคลังก็พลิกกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จากการเป็นผู้ตามมาเป็นผู้นำในนโยบายการเงินการคลัง และบทบาทนี้ก็มีต่อมาเรื่อยจนถึงยุคสมหมาย ฮุนตระกูล กระทรวงการคลังก็เริ่มเล่นบทนี้มาตลอด

อาจจะเป็นเพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มียุคกำเนิดมาจากกระทรวงการคลัง และได้รับอิทธิพลจากกระทรวงการคลังค่อนข้างสูง ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นระเบียบข้อบังคับที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่นในกระทรวงการคลัง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฯลฯ ดังนั้นเมื่อมองในรูปนี้แล้ว ยุคไหนสมัยไหนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีผู้ว่าการที่อ่อนก็ย่อมที่จะถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครอบ หรือถ้ารัฐมนตรีแข็ง และผู้ว่าการแข็งก็ต้องเกิดการปะทะกันอย่างในกรณีของสมหมาย ฮุนตระกูล กับ นุกูล ประจวบเหมาะ

บทบาทและความสัมพันธ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง จึงเป็นบทบาทและความสัมพันธ์ในลักษณะหนึ่ง ที่เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา และอีกลักษณะหนึ่งคือ การมีอิสระในการวางนโยบายการเงิน โดยไม่ต้องคอยรับคำสั่งใคร

ดังนั้นในภาวะที่ไม่มีวิกฤติการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ตัวผู้ว่าธนาคารชาติ จึงมักจะไม่ค่อยมีความขัดแย้งใดๆ กับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

แต่เมื่อใดที่วิกฤติการณ์การเงินหรือเศรษฐกิจเกิดขึ้น วิธีการแก้ปัญหาของธนาคารชาติกับกระทรวงการคลัง ก็อาจจะต้องมีการเผชิญหน้ากัน

เพราะบุคลากร และเจ้าหน้าที่ของธนาคารชาติ จะมองปัญหาและเสนอวิธีแก้โดยแนวทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่รัฐมนตรีคลังต้องรับภาระของการนำเอาปัญหารัฐศาสตร์การเมืองเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการจำกัดสินเชื่อ 18% ที่เพิ่งถูกยกเลิกเมื่อเร็วๆ นี้

แต่บางครั้งผู้ว่าการธนาคารชาติ ถ้าเป็นคนอ่อนก็มักจะต้องแพ้ภัยตัวเอง แล้วก็ต้องมีอันเป็นไปอย่างน่าเสียดาย อย่างสมัยหนึ่งที่ เสนาะ อูนากูล เป็นผู้ว่าการธนาคาร ชาติในยุค เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีกรณีราชาเงินทุนล้ม

เสนาะ อูนากูล อยู่ในภาวะที่อัดอั้นตันใจมาก เพราะการตัดสินใจจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามในขณะนั้น ถ้าออกมาในลักษณะที่ไปช่วยให้ราชาเงินทุนคงอยู่ได้ ก็จะเป็นว่า เสนาะเข้าข้างราชาเงินทุน และก็เผอิญอีกเหมือนกันที่ เสนาะ อูนากูล เองก็เป็นเพื่อน สนิทของ เสรี ทรัพย์เจริญ ประธานราชาเงินทุน และทั้งสองก็เล่นกอล์ฟกันอยู่บ่อยครั้ง

อีกประการหนึ่งในช่วงที่ราชาเงินทุนกำลังทรุด ภรรยาเสนาะ อูนากูล ก็เป็นผู้เล่นหุ้นของราชาเงินทุนด้วยคนหนึ่ง

ความอัดอั้นตันใจนี้ ทำให้เสนาะ อูนากูล ถึงกับประสาทแทบเสีย และต้องลาออกจากธนาคารชาติ ไปบวชสงบสติอารมณ์อยู่พักหนึ่ง จนต่อมาภายหลังถึงกลับเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาแห่งชาติ ในยุคที่บุญชู โรจนเสถียร เป็นรองนายกฯ

พอเสนาะ อูนากูล ลาออก ก็มีการสรรหาตัวผู้ว่าการธนาคารชาติคนใหม่ อาจจะเป็นเพราะว่าปัญหาทางการเงินของบ้านเรา มีลักษณะที่เริ่มจะสับสนและวุ่นวายขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา หลังจากที่ราชาเงินทุนล้มไปแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะว่าหลังจากที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ออกจากตำแหน่งนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถจะทำได้ดีกว่า ดร.ป๋วย และแต่ละคนที่มาแทนดร.ป๋วยก็ขาดคุณลักษณะและคุณสมบัติ ตลอดจนบารมีของดร.ป๋วยที่ทุกวงการเคารพและเกรงใจ ก็เลยไม่มีใครพิศวาสในตำแหน่งนี้เท่าไรนัก?

ในการสรรหาผู้ว่าการคนใหม่นั้น เนื่องจากทุกคนคิดว่า ผู้ว่าการธนาคารชาติจะต้องเป็นคนที่มีจุดยืนของตัวเอง และจะต้องไม่ยอมอะไรที่ผิดหลักการ ก็เผอิญมีคนคนหนึ่งในกระทรวงการคลัง ที่มีคุณสมบัติแบบนี้อยู่ และในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่ชื่อ นุกูล ประจวบเหมาะ

นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นคนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตระกูลเป็นเศรษฐีที่ดิน นุกูลเป็นคนที่ในวงการราชการต้องการมากๆ เพราะเป็นคนที่ตรงเป็นเส้นตรง และเป็นคนที่ไม่ยอมคน ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ถ้าผิดหลักการไปแล้ว นุกูล จะยอมหักแต่ไม่ยอมงอ

ความที่เป็นคนตรงมากๆ ในยุคหนึ่ง ก็เลยต้องรับผิดชอบในการเก็บภาษีของรัฐ โดยเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ในยุคที่อำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง และบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรี

มาถึงยุครัฐบาลชุดธานินทร์ กรัยวิเชียร นุกูลถูกสุพัฒน์ สุธาธรรม รัฐมนตรีคลังย้ายไปอยู่กรมบัญชีกลาง เพราะขอร้องให้ช่วยบริษัทที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10 กว่าล้าน แล้วนุกูลไม่สนใจแม้แต่นิดเดียว ก็เลยถูกย้ายจากกรมอันดับหนึ่งไปอยู่กรมแถวหลังๆ เป็นรางวัล

ว่ากันว่า ความแข็งของนุกูล แข็งถึงขนาดเวลาเดินสวนกับรัฐมนตรีคลังที่ชื่อ สุพัฒน์ สุธาธรรม นุกูลแม้กระทั่งเหลือบมองยังไม่มองเลย และก็ไม่ยอมยกมือไหว้รัฐมนตรีด้วย

คงจะเป็นเพราะกิตติศัพท์ความแข็งไม่ยอมลงคนง่ายๆ ก็เลยเป็นจุดที่ทุกคนมองว่า นุกูลน่าจะเหมาะกับตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาติ!

จะเรียกว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่อาจจะทราบได้!!!

ตัวนุกูลเองก็ไม่ได้ต้องการจะไปอยู่ธนาคารชาติเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ต้องยอมหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมและชักชวน

"เดิมทีคุณนุกูลกับคุณชาญชัย ตกลงกันว่าให้คุณนุกูลไปธนาคารชาติ 2 ปี แล้ว กลับมาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนคุณชาญชัยก็ค่อยไปธนาคารชาติ" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีพูดให้ฟัง

แต่พอครบ 2 ปี สัญญานี้ก็ทำไม่ได้ เพราะชาญชัย ลี้ถาวร ยังไม่ยอมไป เนื่องจาก มีงานค้างอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งถ้าไปแล้ว อาจจะถูกหาว่าทำไม่เสร็จ

พอดีตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่างลง สมหมายซึ่งอยากเปลี่ยนชาญชัย ลี้ถาวร อยู่แล้วก็เลยชู้ตชาญชัยไปที่บีโอไอ อย่างสายฟ้าแลบ และชาญชัยเองก็อยู่ที่นั่นไม่นาน ก็ลาออกเข้ามาทำงานในภาคเอกชนดังที่ทราบกันอยู่

สมหมาย ฮุนตระกูล เคยอารมณ์ค้างมากับกระทรวงการคลังครั้งหนึ่งแล้ว ในยุคที่เป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องออกไปเมื่อรัฐบาลชุดพลเอกเปรม ยกโควตากระทรวงการคลังให้กับกิจสังคม

พอกลับเข้ามาครั้งที่สอง สมหมาย ฮุนตระกูล ก็เริ่มทำงานในแนวความคิดของตนเองอย่างเต็มที่

สมหมายเป็นนักการคลัง ที่ใช้ Conservative Fiscal Policy และจากการที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปล่อยให้สมหมาย ฮุนตระกูล ทำงานอย่างเต็มที่ ก็ทำให้สมหมายใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดเข้ามาเป็นกรอบให้รัฐบาลเดิน

เหตุการณ์ของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาวะผันผวน และเศรษฐกิจตกต่ำมากๆ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นสูง ก็พอดีลงล็อกกับนโยบายอนุรักษ์ทางการเงินและการคลังที่สมหมายวางเอาไว้

สมหมายเป็นคนที่ตั้งใจว่า จะทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้ได้ และการดำเนินการ ที่ตัวเองตั้งใจไว้แล้ว ก็จะเป็นการเดินหน้าเข้าชนลูกเดียว อย่างไม่หวั่นเกรง ประการหนึ่ง เป็นเพราะสมหมายนั้นเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในโควตาของพลเอกเปรม ฉะนั้นการต้องขัดแย้งกับรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ก็เป็นสิ่งที่สมหมายไม่เคยยี่หระ

การปะทะกันในคณะรัฐมนตรีระหว่างสมหมาย ฮุนตระกูล กับรัฐมนตรีอื่นๆ จึงเป็นของธรรมดา และสมหมายมักจะเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ แม้แต่ในกรณีที่นายกฯ กำลังจะตัดสินเข้าข้างอีกฝ่าย สมหมายก็สามารถจะเข้าพบเป็นส่วนตัว แล้วชี้แจงจนใน ที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ต้องเห็นด้วยกับสมหมาย

บางครั้งเพื่อให้ได้แนวทางที่ตนวางไว้ สมหมายถึงกับเคยเอาตำแหน่งของตัวเองเข้าเป็นเดิมพัน ถ้าข้อเสนอของตนไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งในที่สุดสมหมายก็ชนะไป!!!

สำหรับในกระทรวงการคลังนั้น สมหมายเป็นคนค่อนข้างจะเหงา และโดดเดี่ยวพอสมควร

อาจจะเป็นเพราะว่า สมหมายเองเข้ามาในกระทรวงการคลัง โดยไม่มีฐานของตัวเองที่จะทำงานให้ นอกจากหลานชาย (ลูกของเพื่อน) ที่ชื่อ นิพัทธ พุกกะณะสุต และเริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภรรยาเป็นหลานสาวสมหมาย ฮุนตระกูล (หลานสมหมายใช้นามสกุลเดิมว่า เมฆไพบูลย์ ซึ่งแตกหน่อมาจากฮุนตระกูล โดยคำว่า ฮุนในภาษาจีนหมายถึงเมฆ) เริงชัยนั้นก็เป็นอดีตนักเรียนเก่าญี่ปุ่น

ในสมัยที่ปัญหาทรัสต์กำลังคุกรุ่น และระเบิดออกมานั้น เริงชัยมักจะหอบแฟ้ม เข้าไปรายงานสมหมาย โดยไม่ผ่านนุกูล ประจวบเหมาะ และนี่ก็เป็นความขัดแย้งอันหนึ่งในหลายๆ อัน ที่คุกรุ่นกันขึ้นมา

ประกอบกับสมหมายเอง ก็เป็นธรรมดาของคนแก่ที่คงจะพึงปรารถนาให้มีคนเข้ามาพบ และเข้าไปใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งก็มีน้อยคนในกระทรวงการคลัง ที่จะเข้าไปใกล้ชิด อาจจะเป็นเพราะว่าการทำงานในกระทรวงการคลังในช่วงตั้งแต่อำนวย เป็นปลัดกระทรวงมา จะเน้นที่ผลงานมากกว่าความใกล้ชิด

หนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าไปใกล้ชิด สมหมาย ฮุนตระกูล ขนาดถึงขั้นติดสอยห้อยตามตัวรัฐมนตรีไปต่างประเทศตลอดเวลาคือ มนัส ลีวีระพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง

มนัส ลีวีระพันธ์ุ เคยอยู่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาตลอด แต่ในช่วงหลังถูกแขวนโดยโดนย้ายไปประจำกระทรวงด้วยเหตุผลหลายประการ

"คุณมนัสแกถูกมองข้ามไป ข้อหนึ่งเป็นเพราะผู้บังคับบัญชาคิดว่า เขาไม่มีความ สามารถจริง อีกข้อหนึ่งก็เป็นเรื่องภายในเก่าๆ เช่น สมัยแกเป็นกรรมการการบินไทย แล้วก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น" แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังพูดกับ "ผู้จัดการ"

โดยสรุปแล้ว พอจะพูดได้ว่า มนัส ลีวีระพันธุ์ เป็นคนที่รู้จักใช้โอกาสและจับเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมาเป็นประโยชน์กับตัวเอง

เมื่อสมหมายเข้ามากระทรวงการคลัง นอกจากการย้ายชาญชัย ลี้ถาวร ออกไปแล้ว ก็ยังปูพื้นฐานโดยเอามนัส ลีวีระพันธุ์ กลับเข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น เปรียบเสมือนเป็นมันสมองให้กับรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง เพราะต้องทำหน้าที่รับเรื่องต่างๆ จากกรมทั้งหมด เอามาพิจารณา พร้อมทั้งเสนอแนะให้กับตัวรัฐมนตรี รวมทั้งการช่วยเป็นต้นคิดในเรื่องนโยบายต่างๆ จึงพอจะสรุปได้ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น เปรียบเสมือนเป็นมือขวา ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทีเดียว

ส่วน กำจร สถิรกุล นั้นซึ่งก่อนที่จะโยกย้ายไปเป็นผู้ว่าการธนาคารชาตินั้น เดิมทีเป็นรองอธิบดีอยู่กรมศุลกากรมาเป็นเวลา 6 ปี และถูกสมหมายย้ายมาเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเมื่อปลายปี 2525

กำจร สถิรกุล เป็นคนอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อจบการศึกษา แล้วก็เริ่มงานที่กรมศุลกากรมาตลอด ว่ากันว่า กำจรเป็นคนตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างมาก และเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายศุลกากรเป็นอย่างดี

กำจรเป็นข้าราชการ ที่ไม่รู้จักกับการปฏิเสธคำขอร้องของผู้ใหญ่ ซึ่งต่างกับนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นอย่างมาก

ครั้งหนึ่งกำจร สถิรกุล ได้ทำงานชิ้นหนึ่ง เพื่อช่วยสมหมาย ฮุนตระกูล ในเรื่องเกี่ยวกับนิพัทธ พุกกะณะสุต ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของสมหมาย โดยที่นิพัทธ ซึ่งเคยถูกกระทรวงการคลังส่งไปเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเล และถูกคณะกรรมการป.ป.ป.สอบสวนในกรณีที่จัดทำสัญญาเช่าเรือ มารีนไทม์ อีเกิล บรรทุกน้ำมันให้กับ ปตท. ซึ่งสัญญาเสียเปรียบบริษัทเจ้าของเรือ ทำให้รัฐสูญเสียเงินโดยใช่เหตุ และกำธร พันธุลาภ ซึ่งเป็นประธานป.ป.ป. สอบสวนแล้วว่า มีความผิดจริง จึงส่งเรื่องคืนต้นสังกัด โดยมีกำจร สถิรกุล เป็นประธานการสอบสวน และกำจรก็ได้ชี้ลงไปว่า นิพัทธไม่มีความผิด เพราะถูกยืมตัวไปทำงาน หลังจากนั้นกำจรก็ส่งนิพัทธไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ที่กรุงวอชิงตัน นิพัทธจึงรอดตัวไป

การโยกย้ายกำจร สถิรกุล ไปแทนนุกูล ประจวบเหมาะ ที่ธนาคารชาตินั้น หลายกระแสข่าวยืนยันว่า เป็นการยิงนกทีเดียวได้ 2 ตัว ทั้งนี้เพราะว่าเป็นการเอาคนที่สมหมายรู้ว่า จะไม่สร้างความขัดแย้งในอนาคตกับรัฐมนตรีว่าการคลังแล้ว ยังเท่ากับว่า เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้กำจร และเป็นการเปิดโอกาสให้มนัส ลีวีระพันธุ์ ได้ขึ้นเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยทุกอย่างลงตัวไปหมด

แต่ถ้าจะพูดถึงสาเหตุจริงๆ แล้วของการปลด นุกูล ประจวบเหมาะ ออก ซึ่งส่วนใหญ่จะลงความเห็นว่า เป็นการก้าวก่ายและเป็นการต้องการควบคุมธนาคารชาตินั้น "ผู้จัดการ" ไม่เห็นด้วย

เราเชื่อว่า การปลดนุกูล ประจวบเหมาะ นั้นเป็นปัญหาของความขัดแย้งในเรื่อง ส่วนตัวเท่านั้นเอง เพราะว่าสมหมายมีความประสงค์ที่จะย้ายนุกูลมานานแล้ว และนุกูล เองก็ทราบถึงเรื่องนี้ดี

สมหมายเองเคยทาบทาม บัณฑิต บุณยะปานะ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และไกรศรี จาติกวณิช อธิบดีกรมศุลกากรมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว แต่ทั้ง 2 ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ ฉะนั้น การผลักดันกำจรเข้าไปจึงเป็นการเลือกตัวบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยมิได้มีความคิดที่จะวางแผนล่วงหน้า โดยมีเจตนาจะควบคุมธนาคารชาติ

ในสายตาของสมหมายแล้ว นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นคนที่หยิ่งยโส และทระนง

การทำงานของนุกูล ถ้าหากจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังแล้ว นุกูล ก็จะต้องใช้วิธีส่งเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามาขอความเห็นชอบ แทนที่จะเข้ามาชี้แจงด้วยตัวเองเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งบางสิ่งบางอย่างที่นุกูลทำลงไป สมหมายเองก็ไม่ทราบ และครั้งหนึ่งสมหมายถึงกับโดนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตำหนิว่า ทำไมถึงไม่ส่งข้อมูล มาให้พลเอกเปรม เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยที่สมหมายเองไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย เพราะข้อมูลอยู่ที่นุกูลคนเดียว (อ่านเรื่อง "วันที่สมหมายโดนนายกเปรมเล้ง")

ข้อกล่าวหาที่ทั้งนุกูลและสมหมายต่างโยนกันไปโยนกันมานั้น ไม่สามารถที่จะหาข้อยุติได้ว่าใครโกงใครกันแน่ เช่น
1. กรณีควบคุมสินเชื่อ 18%

ที่เป็นข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารชาติ ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า ปี 2527 นั้น จะต้องมีการลดการขยายสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และไม่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ

แต่บางแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสมหมาย ก็ยืนยันว่า ทางฝ่ายธนาคารชาติไปออกมาตราการ 18% โดยพลการ โดยไม่มีการปรึกษากระทรวงการคลัง เมื่อเกิดผลเสีย ขึ้นมา สมหมายในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล จึงโดนกลุ่มการเมืองและกลุ่ม Pressure Group รุมตีเสียน่วมไปหมด

อันนี้ก็เลยทำให้สมหมายอารมณ์เสียอย่างมาก เพราะผลกระทบของ 18% นี้รุนแรงถึงขนาดพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ ส.ส. จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย ถึงกับเคยพูดออกมาในที่สาธารณะเกี่ยวกับสมหมายว่า "กูจะเอามึงออก" ผู้ใกล้ชิดสมหมายพูดว่า"คุณเป็นท่านคุณจะรู้สึกอย่างไร?"

แต่แหล่งข่าวทางนุกูลก็ยืนยันว่า เรื่อง 18% นี้สมหมายรู้มาตลอดตั้งแต่ต้น เพราะ"ธนาคารชาติจะทำอะไรก็ต้องรายงานกระทรวงการคลังตลอด เป็นไปไม่ได้ที่คุณสมหมายจะไม่รู้"

นอกจากนั้นแล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติ บางครั้งก็สวนทางกับการทำงานของสมหมาย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่สมหมายภายใต้ความกดดันจากหลายฝ่ายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า

"ถ้ามาตรการ 18% ไม่ดี ก็สามารถจะยกเลิกไปได้"

ยังไม่ทันที่คำพูดของสมหมายจะเลือนหายไป ทางธนาคารชาติก็ให้สัมภาษณ์ สวนออกในวันรุ่งขึ้นว่า

"ใครจะเลิกก็เลิกไปแต่ทางธนาคารชาติยังยึด 18% เหมือนเดิม"

สมหมายเองจากการที่ตัวเองมีประสบการณ์อยู่ในภาคเอกชนมานานพอสมควร ก็จะมีแหล่งข่าวและผู้ใกล้ชิดในภาคเอกชน ที่สามารถชี้แจงให้สมหมายทราบถึงผลของ 18% ว่าไม่ดีอย่างไร ก็เลยทำให้สมหมายอยู่ในสภาพการณ์ที่อึดอัดมากและจากการที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักการเมืองอยู่ทุกวัน ก็พอจะทำให้สมหมายคั่งแค้นใจในความดื้อ ความรั้นของนุกูล ประจวบเหมาะ
2. การยกเลิกมาตรการ 18%

แม้แต่การยกเลิกมาตรการ 18% ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่า ตัวเองเป็นคนเลิก นุกูลพูดกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิก ผมก็เคยพูดว่า จะยกเลิกและเมื่อผมเห็นว่า มาตราการนี้หมดความจำเป็น จากการพูดคุยกับหลายฝ่าย เช่น ดร.เสนาะ อูนากูล คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ผมก็เสนอให้เลิก ซึ่งเรื่องนี้ปรากฏเป็นหลักฐานในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า ผมเป็นคนเสนอ"

การยกเลิกมาตรการ 18% ที่นอกจากนุกูลและสมหมายแย่งกันเข้ามาเป็นผู้ริเริ่ม เสนอแล้ว ยังมีฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า โดยแท้จริงแล้ว รองนายกรัฐมนตรีพิชัย รัตตกุล เป็นผู้ผลักดันให้กับนายกรัฐมนตรี

"ความจริงแล้ว ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นคนแนะให้นายกรัฐมนตรียกเลิกไปเลย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งๆ ที่เรื่องพิจารณาการยกเลิกยังหาข้อสรุปกันไม่เสร็จ" แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลพูดกับ "ผู้จัดการ"
3. กรณีสถาบันประกันเงินฝาก

ข้อขัดแย้งในเรื่องสถาบันประกันเงินฝากนี้ อยู่ในภาวการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะสถาบันประกันเงินฝาก เป็นความคิดของทางธนาคารชาติ ที่ต้องการจะให้มีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในวงการเงิน ต้องลุกลามมากไปกว่านั้น แต่เมื่อ ความคิดอันนี้ถูกเสนอไปยังกระทรวงการคลัง ก็ถูกสมหมาย ฮุนตระกูล โยนเข้าตู้เย็น แช่ทิ้งเอาไว้

"ท่านไม่เชื่อในสถาบันประกันเงินฝาก เพราะท่านเห็นว่า ทำไมจะต้องไปลงโทษสถาบันการเงิน ที่เขาบริหารงานกันดีอยู่แล้วเทียว เพราะมีสถาบันการเงินแห่งอื่น บริหารงานกันอย่างเหลวแหลก" คนใกล้ชิดสมหมายพูดให้ฟัง

แต่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว การตั้งสถาบันประกันเงินฝาก คือการ ป้องกัน และเป็นทางแก้ปัญหาที่พวกธนาคารชาติไม่อยากจะปวดหัวอีกต่อไป จะเห็นได้ว่า เรื่องสถาบันประกันเงินฝากนั้น เป็นความคิดของดร.โอฬาร ไชยประวัติ (ต่อมาได้ลาออก ไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์) และผ่านทางดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ส่วน เริงชัย มะระกานนท์ ผู้ซึ่งต้องมีหน้าที่โดยตรงกับบรรดาบริษัทเงินทุนต่างๆ กลับเงียบสนิท

ความขัดแย้งในเรื่องสถาบันประกันเงินฝาก ได้ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย จนเปรียบเสมือนหนามยอกอกของสมหมาย ฮุนตระกูล เพราะบังเอิญกระแสเสียงภายนอก ตั้งแต่บรรดาสถาบันเงินทุนหลายๆ แห่ง ที่ต้องการจะมีสถาบันประกันเงินฝาก ไปจนถึงบรรดาสมาชิกสภาผู้แทน รวมทั้งส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรี ต่างพากันผลักดัน เพื่อให้สถาบันประกันเงินฝากเกิดขึ้นมาให้ได้และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่สมหมายคิดว่า นุกูลกำลังดัดหลังตัวอยู่ โดยขอยืมมือผู้อื่นมาผลักดัน
4. กรณีของธนาคารเอเชียทรัสต์

ในการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ นี้สมหมาย ฮุนตระกูล อ้างกรณีของธนาคาร เอเชียทรัสต์ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ธนาคารชาติละเลยไม่สนใจต่อปัญหา ปล่อยให้ลุกลาม จนกระทั่งต้องใช้วิธีให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นในที่สุด โดยสมหมายได้ชี้แจงออกไปว่า ได้แจ้งให้ธนาคารชาติทราบถึงเรื่องนี้ 4-5 ครั้งแล้ว แต่ธนาคารชาติยังไม่ให้ทำอะไรลงไป

สำหรับเรื่องธนาคารเอเชียทรัสต์นั้น วารี หะวานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ได้ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องธนาคารเอเชียทรัสต์นั้น สมหมายได้รับทราบและเห็นด้วยมาโดยตลอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวหาว่า นุกูล ประจวบเหมาะ บกพร่องในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี บางกระแสข่าวซึ่งไม่สามารถจะยืนยันได้ก็อ้างว่า สาเหตุของธนาคารเอเชียทรัสต์นั้นเป็นเพราะว่า พวกธารวณิชกุลเข้าไปฟ้องสมหมายว่า ถูกนุกูลแกล้ง ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่นั่นก็เป็นกระแสข่าวอีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือนัก
5. นุกูลครบวาระที่อยู่มา 4 ปีแล้ว

พูดไปโดยเนื้อแท้แล้ว ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาตินั้นสมควรจะเป็นตำแหน่ง ที่ต้องมีวาระในการคงอยู่และกำหนดเวลาของการจากไป

ในต่างประเทศ ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางนั้น เป็นตำแหน่งที่อยู่กันเพียง 4 ปี และหากจะมีการต่อ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่ง ที่สำคัญนี้ เป็นตำแหน่งซึ่งคนที่จะมานั่ง จะต้องเป็นคนที่เปิดหูเปิดตาให้กว้าง และจะต้องไม่ดักดานอยู่กับสิ่งที่ใกล้ตัวจนเกินไป

ความจริงข้ออ้างของสมหมายที่ว่า นุกูลอยู่ครบ 4 ปีแล้วนั้น พูดกันด้วยความ เป็นธรรมแล้ว ก็เป็นข้ออ้างที่สมควรกับเหตุผล แต่เผอิญการให้นุกูลออกครั้งนี้ เกิดมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาแทรก พลอยทำให้การที่อ้างว่า อยู่ครบ 4 ปี แล้วดูไม่หนักแน่นและศักดิ์สิทธิ์

ที่นุกูลพูดก็ถูกว่า ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาตินั้น แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยมีการกำหนดว่า จะต้องอยู่ในวาระกี่ปี แม้แต่ตำแหน่งบางตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เกษม จาติกวณิช ก็ดำรงตำแหน่งนี้มา 20 กว่าปีแล้ว

สมหมายเองคงจะหาเหตุผลอะไรเข้ามาเพิ่มเติมไม่ได้ ก็เลยจำเป็นต้องเอาวาระ 4 ปี นั้นเข้ามาสอดแทรก

กระแสข่าวของการปลดนุกูลนั้น มีมานานแล้วและเริ่มเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ นุกูลเองก็รู้ เพราะนับตั้งแต่ถูกสมหมายชวนให้มาเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อประมาณปีกว่าที่แล้ว ซึ่งนุกูลก็ได้ปฏิเสธไป ทำให้นุกูลพอรู้ว่า ตัวเองคงจะไม่แคล้วโดนสมหมายฟันเข้าสักวันหนึ่ง

แต่นุกูลเองก็ยังเชื่อว่า ถ้าเรื่องเข้าถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อไร ฝันหวานของ สมหมายคงจะไม่สำเร็จตามที่ปรารถนาแน่แต่นุกูลก็คาดผิดไป

เพราะสมหมายเล่นเสนอเรื่องของนุกูล ช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ไปต่างประเทศ และระยะเวลากับจังหวะที่เสนอเข้าไป จะเป็นเพราะสมหมายตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่ทราบ แต่มันเป็นจังหวะระยะเวลาที่ทำความเจ็บปวดให้กับนุกูลอย่างแสนสาหัสที่สุด เพราะการถูกปลดครั้งนี้ ถูกปลดก่อนที่นุกูลจะมีสิทธิ์ได้รับบำนาญเพียง เดือนครึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นก็เป็นการปลดเพียง 4 วันก่อนที่นุกูลจะเป็นตัวแทนของ ประเทศไทย ไปร่วมประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ ธนาคารโลก

การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสักคนหนึ่งอาจจะเป็นข่าว ซึ่งจะไม่มีความสำคัญเลยในโลกภายนอก แต่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารชาติอย่างกะทันหันแบบสายฟ้าแลบเช่นนี้ มันเป็นเรื่องที่วงการเงินทั่วโลกค่อนข้างจะตื่นตระหนกอยู่พอสมควร

นายธนาคารบางคนคิดเลยเถิดไปว่า เหตุที่นุกูลถูกปลดก่อนจะไปประชุมที่ธนาคารโลกนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าสมหมายไม่ต้องการจะไปธนาคารโลกกับนุกูล และกลับมาอย่างเสียหน้า เพราะนุกูลอาจจะไปพูดอะไรที่ทำให้สมหมายอยู่ในภาวะที่ไม่มี ความสำคัญไป

ตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารชาตินั้น ในประเทศไทยอาจจะมีตำแหน่งเทียบ เท่ากับรองปลัดกระทรวงเท่านั้น แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่ง ที่มีเกียรติสูงและก็เป็นตำแหน่งที่เหนือกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียอีก

แน่นอนที่สุด การปลดนุกูลครั้งนี้ บรรดาพนักงานธนาคารชาติทั้งหลาย ต่างมีปฏิกิริยาต่อต้านสมหมายเกือบจะแทบทุกคน ทั้งๆ ที่ในช่วงระยะเวลาที่นุกูลยังเป็นผู้ว่าธนาคารชาติอยู่นั้น นุกูลเองก็ไม่ได้เป็นที่พิสมัยของบรรดาระดับผู้บริหารของธนาคารชาติเท่าใดนัก

แต่การปลดนุกูลอย่างกะทันหันเช่นนั้น ในสายตาของพวกธนาคารชาติแล้ว เป็นการก้าวก่ายเข้ามาในสถานที่ที่พวกเขาคิดว่า ไม่ควรที่จะถูกอิทธิพลภายนอกเข้ามาแทรกแซง

ฉะนั้นการรวมตัวเพื่อปกป้องหลักการของตัวเองก็เกิดขึ้น!

แน่นอนที่สุด นุกูลก็ฉลาดพอที่จะไม่เอาเรื่องความขัดแย้งในเรื่องบุคลิกเขากับสมหมายขึ้นมาเป็นเหตุ แต่นุกูลเน้นอยู่ตลอดเวลาว่า สมหมายกำลังทำให้ธนาคารชาติไม่มีอิสระในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติในอนาคต

สิ้นเสียงนุกูล ก็มีเสียงกระหึ่มของบรรดาพนักงานธนาคารชาติทั้งหลาย ขึ้นขานรับกันอย่างพร้อมเพรียง!

นายธนาคารบางคนคิดว่า ข้อกล่าวหาของนุกูลอาจจะเกินความจริงไปบ้าง เพราะ "ผมเชื่อว่าธนาคารชาติยังคงมีบรรดามืออาชีพทำงานกันอยู่เหมือนเดิม และพวกนี้ยิ่งจะต้องพยายามปกป้องให้ธนาคารชาติยังความอิสระต่อไป เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้"

อย่างไรก็ตาม ธนาคารชาติยุคใหม่นี้ก็อาจจะต้องพ้นความยากลำบากเป็นพิเศษ ในช่วงนี้ เพราะขวัญและกำลังใจของบรรดาเจ้าหน้าที่ยังไม่กลับเข้ามาสู่ตัวพนักงานเท่าใดนัก

การตั้งกำจร สถิรกุล มาเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติแทนนุกูล กลับทำให้คนเชื่อมั่นว่า ธนาคารชาติจะต้องมีอิสระของตัวเองลดน้อยลงไป

การปลดนุกูลนั้นถึงแม้จะทำความขมขื่นให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารชาติทั้งหลายก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม กับเป็นเรื่องที่น่าเฉลิมฉลองระหว่างนายธนาคาร บางกลุ่ม เพราะนโยบายและวิธีการทำงานของนุกูล จากการที่เป็นคนโผงผางขวานผ่าซาก และพูดจาแบบไม่มีซิปรูด ทำให้นายธนาคารไม่น้อยรู้สึกไม่สบอารมณ์กับนุกูลเท่าใดนัก

"ผมรู้ว่าพวกนายธนาคารที่ไม่ชอบผมออกไปเลี้ยงฉลอง ที่ผมโดนปลดแทบจะทุกคืน" นุกูลพูดกับริชาร์ด มอร์ซัค ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เอเชียน วอลสตรีท เจอร์เนิล

การปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ออกจากตำแหน่งครั้งนี้ เป็นการปะทะกันระหว่างคน 2 คน ที่มีบุคลิกแข็งกร้าวด้วยกันทั้งคู่

"ผู้จัดการ" เชื่อว่าถ้านุกูลอยู่ในตำแหน่งสมหมาย ฮุนตระกูล นุกูลก็คงจะทำ เหมือนกับที่สมหมายทำ

สมหมาย ฮุนตระกูล ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีสิทธิ์ที่จะปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า วิธีการปลดนั้นควรหรือมิควรเท่านั้น และจังหวะที่ปลดเหมาะหรือไม่เหมาะ?

เหมือนอย่างที่นุกูลพูดออกมาอย่างขมขื่นว่า สมหมายเองน่าจะเป็นคนพูดกับนุกูล แทนที่จะให้พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้โทรศัพท์มาบอก ซึ่งนุกูลก็ตอบปฏิเสธไปว่าไม่ยอมลาออก

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนแก่อารมณ์ร้อนอย่างสมหมายที่เคยอยู่ธนาคารชาติมา 20 กว่าปี และอาวุโสกว่านุกูลมากก็คงจะไม่มีอารมณ์ไปนั่งจำนรรจากับนุกูลอีกต่อไป

ที่แน่ๆ นุกูล ประจวบเหมาะ ก็ได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า ไหนๆ จะเป็นคนหัวรั้นแล้ว ก็จะขอเป็นคนรั้นให้จนถึงที่สุด

เรียกได้ว่า นุกูล ประจวบเหมาะ ยินดีเป็นหยกที่แหลกลาญมากกว่าจะเป็นกระเบื้องที่สมบูรณ์

มันอาจจะเร็วจนเกินไปที่จะไปทำนายทายทักว่าการปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ครั้งนี้จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของประเทศไทยในตลาดการเงินหรือไม่ และมันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยหรือธนาคารชาติจะได้รับความเสียหาย จากการที่นุกูลถูกปลดครั้งนี้ ถ้าจะมีปัญหาก็คงจะเป็นเพราะสงสัยว่า ธนาคารชาติหลังจากที่นุกูลถูกปลดแล้ว จะยังคงอยู่ในสภาวะที่เป็นอิสระต่อไปหรือไม่?

และคำตอบนี้ ถึงแม้สมหมายจะตอบออกมาแล้วว่า ธนาคารชาติจะยังคงมีอิสระอยู่เหมือนเดิม แต่เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า ที่สมหมายพูดนั้นเป็นความจริง!!!!!
' หมายเหตุ : จากเรื่อง "เมื่อคนหัวรั้นเจอคนบ้าเลือด เลือดก็เลยท่วมธนาคารชาติ" ในนิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับที่ 13 กันยายน 2527



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.