เผยผลIMFทบทวนเศรษฐกิจไทย แนะเร่งกระตุ้นอุปสงค์-เรียกความเชื่อมั่น


ผู้จัดการรายวัน(28 มีนาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ภูมิหลัง

ในปี 2549เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณร้อยละ 5 แม้ว่าสภาวการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แต่การส่งออกที่ขยายตัวสูงช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกเป็นผลจากการเร่งตัวของอุปสงค์สินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (manufactured goods)

อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่อเนื่องจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ได้ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเหลือร้อยละ 3.5 ต่อปี สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ได้ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเหลือร้อยละ 1.5 ซึ่งอยู่ภายในช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ร้อยละ 0-3.5

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สรอ.แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 14 จากสิ้นปี 2548 เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าที่สูงต่อเนื่อง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับตัวดีขึ้น เงินสำรองทางการ ณ สิ้นปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 67 พันล้านดอลลาร์สรอ. หรือเทียบเท่าร้อยละ 221 ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2548 ประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์สรอ.) ในขณะที่หนี้ต่างประเทศรวมลดลงเหลือเพียงร้อยละ 27.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ภาคสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งแม้จะถูกกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดการเงินผันผวนตามเหตุการณ์ทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย

โดยรวมพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง แต่ความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะสั้นคือ การสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งหมายรวมถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่ช่วยสนับสนุนวัตถุประสงค์ข้างต้น อีกทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของไทยเกี่ยวกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ในระยะปานกลางเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวกลับไปขยายตัวได้ในอัตราการขยายตัวตามศักยภาพที่ประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ การเมืองกลับสู่ภาวะปกติ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น**

การประเมินของคณะกรรมการบริหาร

คณะกรรมการบริหารเห็นพ้องกับผลการประเมินของคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ และชื่นชมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารมีความเห็นว่า การส่งออกที่เติบโตเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่นโยบายการเงินการคลังที่ระมัดระวังได้ช่วยควบคุมเงินเฟ้อและส่งผลให้เงินสำรองทางการเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันภาคสถาบันการเงินสามารถรองรับความผันผวนที่มากขึ้นในตลาดการเงินจากเหตุการณ์ทางการเมือง และการปรับเปลี่ยนนโยบาย คณะกรรมการบริหารจึงเห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง

คณะกรรมการบริหารเห็นร่วมกันว่าความท้าทายหลักด้านนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป คือ การเร่งอัตราการเติบโตควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยทางการจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ เพิ่มปริมาณและคุณภาพของการลงทุนภาครัฐและเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุน ทั้งนี้ กรรมการบริหารส่วนใหญ่สนับสนุนการผ่อนคลายนดยบายการคลังและการเงิน ในภาวะแวดล้อมปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ และฐานะการคลังมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ กรรมการบริหารเน้นว่า การปรับตัวทางการเมืองสู่ภาวะปกติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูความมั่นใจของภาคธุรกิจและส่งเสริมการขยายตัวของการลงทุน

คณะกรรมการบริหารสนับสนุนนโยบายของธปท.ที่ดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดแม้ว่าในสภาวการณ์ที่เงินทุนไหลเข้าในปริมาณสูง และค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก โดยเห็นว่านโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสมในการช่วยให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวจากแรงกดดันด้านดุลการชำระเงิน ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมิได้มีปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากภาคส่งออกยังคงเติบโตดี

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารตระหนักถึงความยากในการเลือกแนวทางดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมเงินทุนนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น ก่อนที่ทางการจะตัดสินใจใช้มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ทั้งนี้ กรรมการบริหารจำนวนหนึ่งเห็นว่า มาตรการปกติ อาทิ การแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน การลดอัตราดอกเบี้ย และการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกไม่สามารถช่วยลดเงินทุนนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิผล ในขณะที่กรรมการบริหารอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่า ทางการน่าจะสามารถใช้มาตรการเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิผลได้มากขึ้น ทั้งนี้ กรรมการบริหารหลายท่านเห็นว่า มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าอาจเป็นเครื่องมือระยะสั้นที่มีประโยชน์ในการช่วยควบคุมผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และดูแลผลกระทบด้านเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารเน้นถึงผลลบที่สำคัญในระยะยาวของมาตรการดังกล่าวต่อความมั่นใจของนักลงทุน และพัฒนาการของตลาดทุนในประเทศ อีกทั้งย้ำว่าทางการควรอธิบายถึงแนวนโยบายและวัตถุประสงค์ของการใช้มาตรการควบคุมดังกล่าวต่อนักลงทุนเพื่อลดผลกระทบด้านความเชื่อมั่น โดยรวมกรรมการบริหารสนับสนุนการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว และแนวนโยบายของทางการที่จะยกเลิกมาตรการเมื่อเงินทุนไหลเข้ากลับสู่ภาวะปกติ**

คณะกรรมการบริหารชื่นชมความคืบหน้าในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคธนาคาร ซึ่งสะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ คุณภาพสินทรัพย์ และการเพิ่มทุน ทั้งนี้ กรรมการบริหารสนับสนุนการเร่งลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) รวมทั้งดำเนินมาตรการเสริมสร้างการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เร่งพิจารณาออกกฎหมายตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างความเข้มแข้งให้ธนาคารกลาง สถาบันการเงินอื่นๆ และการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก ทั้งนี้ กรรมการบริหารให้ความสนใจติดตามผลการประเมินภาคการเงินตามมาตรฐานสากล(FSAP)

คณะกรรมการบริหารรับทราบข้อชี้แจงของทางการเกี่ยวกับร่างการปรับเปลี่ยนกรอบนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาความคลุมเครือของกฎหมาย และมิใช่เพื่อเพิ่มข้อจำกัดสำรหับการลงทุนจากต่างประเทศ กรรมการบริหารเสนอแนะให้ทางการอธิบายแนวทางดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารสนับสนุนความพยายามในการพัฒนาตลาดทุนในประเทศ การเพิ่มความเข้มแข็งของรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้า และการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ การริเริ่มการออมแบบบังคับ (mandatory pension scheme) และการปรับสถานะของรัฐวิสาหกิจเป็นรูปบริษัท(corporatization)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.