|
ปููนใหญ่กระอักพิษค่าเงินแข็ง 1 บาทกำไรวูบพันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(29 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปูนใหญ่กระอักพิษค่าบาทแข็ง เผยทุก 1 บาท กำไรลดลง 700-1,000 ล้านบาท เนื่องจากมียอดการส่งออกถึง 30%ของยอดขาย
ขุนคลังรับเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยเหตุอยู่ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติยันเลิก 30% แน่แต่ขอให้มาตรการประกันความเสี่ยงได้ผลชัดเจนก่อน
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบให้กำไรของบริษัทฯ ลดลง โดยเงินบาทแข็งค่าทุก 1 บาทจะทำให้กำไรลดลง 700-1,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ผลการดำเนินงานจะลดหรือไม่ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯไม่มีนโยบายประกันความเสี่ยง แต่จะพยายามลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศช่วยลดผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งไม่มากนัก เพราะเครือซิเมนต์ไทยถือเป็นบริษัทผู้ส่งออก (Exporter) โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 30%ของรายได้รวม
โดยในปี 2549 ปูนซิเมนต์ไทย มีรายได้รวม 2.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 2.18 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.94 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.22 หมื่นล้านบาท
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีในประเทศเวียดนาม เนื่องจากเห็นว่าตลาดมีอัตราการขยายตัวอยู่และสอดคล้องกับนโยบายบริษัทฯที่ต้องการลงทุนในอาเซียน ซึ่งเครือซิเมนต์ไทยเองก็ขายเม็ดพลาสติกไปเวียดนามมานานถึง 15ปีแล้ว
ปัจจุบัน มีบริษัทร่วมทุนผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีในเวียดนาม ซึ่งเป็นบริษัทย่อย คือ บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ดังนั้นการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีในเวียดนามจึงถือว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจผลิตเม็ดพลสติกพีวีซีที่มีอยู่
“ หากบริษัทฯจะลงทุนปิโตรเคมี ไม่จำเป็นต้องรอให้โรงกลั่นน้ำมันที่เวียดนามเสร็จก่อน เพราะเห็นว่าธุรกิจโอเลฟินส์ และโรงกลั่นน้ำมันค่อนข้างแยกกัน" นายชลณัฐกล่าว
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ยอมรับว่าในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าระดับปกติ ที่ควรจะขยายตัวได้ถึง 6% ต่อปี เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาทิ ในโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่จะเน้นใช้องค์ความรู้มากขึ้นกว่าความได้เปรียบทางด้านแรงงานราคาถูก รวมถึงรัฐบาลก็อยู่ในช่วงการปฏิรูปการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนเหล่านี้คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และคงไม่สามารถทำได้ทั้งหมดภายในช่วงรัฐบาลชุดนี้
สำหรับกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน และเป็นอันดับรองสุดท้าย เมื่อเทียบกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกนั้น ถือว่า เป็นการชี้ให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ ก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติและน่ายินดีที่ประเทศที่เคยมีการพัฒนาต่ำ จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
"ส่วนของเรา ตามปกติแล้วเศรษฐกิจสามารถขยายตัว 6% กว่าได้ แต่มีในช่วงก่อนเกิดวิกฤตที่อาจจะขยายตัวเร็วเกินไป มีการขยายตัวจนเกิน 10% ทำให้เกิดสภาวะฟองสบู่ แต่ก็ยอมรับว่าช่วงนี้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าระดับปกติ" นายฉลองภพ กล่าว
รมว.คลังกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่เอดีบีเสนอให้นำมาตรการภาษีมาใช้ป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท แทนมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ยืนยันว่าขณะนี้มาตรการ 30% ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจาก ธปท. ได้มีทางเลือกเพิ่มให้กับผู้นำเงินเข้าประเทศแล้ว โดยระหว่างนี้ ธปท. คงต้องติดตามผลจากมาตรการทดแทนดังกล่าว เนื่องจาก ธปท. ไม่มีประสบการณ์จากเวทีสากลในการใช้มาตรการนี้ ดังนั้น จึงยังคงต้องมีมาตรการ 30% อยู่ เพราะว่า ธปท. ไม่แน่ใจว่ามาตรการใหม่ที่ออกมาจะดูแลได้แค่ไหน
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ยืนยันว่า ธปท. พร้อมจะพิจารณายกเลิกมาตรการสำรอง 30% เมื่อมีจังหวะที่ดี นั่นคือ การใช้มาตรการป้องกันความเสี่ยง (Fully Hedge) แบบเต็มที่ได้ผล โดยจะต้องไม่พบการรั่วไหลเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่งในขณะนี้ยังคงใช้ทั้งมาตรการ 30% แต่ก็มีทางเลือกให้ทำ Fully Hedge ทั้งนี้ ผู้นำเงินเข้าประเทศสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
"ตอนนี้ก็มี Fully Hedge รวมถึงมาตรการ 30% ก็ยังอยู่ แต่จริงๆ แล้วจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยมาตรการ 30% นั้น หากจังหวะดี ก็จะเลิก คือ ต้องดูว่ามาตรการป้องกันความเสี่ยงได้ผล และไม่เกิดการรั่วไหล" นางธาริษา กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังกังวลว่า การขอเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรของ ธปท. อาจจะก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะนั้น ยืนยันว่า การออกพันธบัตรของ ธปท. ถือเป็นเรื่องจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วนการจะออกเป็นวงเงินมากหรือน้อยเพียงใด ก็จะต้องปรึกษากับกระทรวงการคลังอยู่แล้ว
มีรายงานข่าวว่า ธปท. เตรียมขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาวงเงินออกพันธบัตรล็อตใหญ่ เพื่อดูซับสภาพคล่องในระบบ เพื่อดึงเงินบาทคืนมา หลังจากแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์เก็บไว้จำนวนมาก
นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า เงินบาทวานนี้ (28 มี.ค.) ปิดตลาดที่ 34.99/35.01 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิด 34.95/35.02 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนสุดที่ 35
" ในระหว่างวันเงินบาทค่อนข้างแกว่งตัวตามค่าเงินเยน ขณะที่เงินยูโรเองอ่อนค่าลงเล็กน้อย"
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 34.90-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ตลาดรอประกาศตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.พ.ของสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมทั้งการแถลงของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ว่า เศรษฐกิจในปีนี้ต้องยอมรับว่าจะต้องอยู่ในภาวะที่การเติบโตชะลอตัวลง ภาคการบริโกคของประชาชนลดลงค่อนข้างชัดเจน การเบิกจ่ายของงบประมาณรัฐเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นให้เศรษฐกิจกับมาฟื้นได้อีกครั้ง คือความมั่นใจของนักลงทุนทั้งประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากหลายเดือนที่ผ่านมาความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการสนับสนุนทางภาคการลงทุนของรัฐยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจค่อนข้างมากจึงส่งผลทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงพื้นฐานของประเทศ ยังเชื่อว่านักลงทุนจำนวนมากยังให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจหากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบยังน่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพราะหากพิจารณาถึงภาคอุตสาหกรรมกำลังการผลิตในหลายๆอุตสาหกรรมใกล้เต็มกำลังการผลิตซึ่งในทางปฎิบัติควรจะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับ การแข็งค่าของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปัจจัยทางต่างประเทศโดยเฉพาะการขาดดุลอย่างต่อเนื่องของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ในเรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศไทยซึ่งมีระดับที่สูงกว่าในสหรัฐทำให้มีเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งหากไทยมีการปรับลดลอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าสหรัฐก็จะทำให้เงินไหลออกไปได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|