|
ดันแบรนด์ซีพีรุกแช่แข็งตปท.
ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีพีเอฟ โหมสร้างแบรนด์ซีพี ดันเข้าตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน จับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตอกย้ำโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เผยเป็นกลยุทธ์ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เหตุปัญหาไข้หวัดนกที่ทำให้ไทยถูกระงับการส่งอาหารสดแช่แข็ง ตั้งเป้า 5 ปี สัดส่วนรายได้จากอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน เพิ่มเป็น กว่า 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 30% ด้านเซเว่นฯเตรียมเปิด 2 ธุรกิจใหม่กลางปีนี้
นายสุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยแผนธุรกิจว่า ในปีนี้บริษัทฯจะบุกตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ CP โดยตั้งงบประชาสัมพันธ์และการตลาดไว้ที่ 100 ล้านบาท แยกเป็นการจัดอีเว้นต์ การโฆษณา การวิจัยตลาด และ การสร้างแบรนด์ ตั้งเป้าเติบโตปีละ 10-15%
โดยตลาดในประเทศ ปีนี้ จะเพิ่มเมนูอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทานอีกกว่า 30 เมนู เน้น เมนูประเภทกุ้ง ,หมูแปรรูป และ ติ่มซำ เป็นต้น ตั้งเป้าในอีก 5 ปี สัดส่วนอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน จะสร้างรายได้เป็นสัดส่วน50-60% ของยอดขายอาหารแช่แข็งทั้งหมดของแบรนด์ซีพี จากปัจจุบันในกลุ่มอาหารแช่แข็งของซีพี จะแบ่งสัดส่วน 65-70% เป็นอาหารสดแช่แข็ง และ อีก 30-35% เป็นอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน ซึ่งกลุ่มนี้มีการเติบโตสูงจากในอดีต 2-3 ปีก่อนจะมีสัดส่วนเพียง 20% ของกลุ่มอาหารแช่แข็งทั้งหมด
ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ซึ่งซีพี ส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ฮ่องกง ไต้หวัน และ เตรียมจะไปบุกตลาดเพิ่มที่เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเมนูอาหารหลักๆของซีพี จะเป็น ไก่และกุ้งเป็นหลัก ส่วนเรื่องหนังโฆษณา ก็จะใช้ร่วมกัน ซึ่งเท่าที่ได้ลองส่งเมนูเกี๊ยวกุ้ง ลงตลาดไปแล้ว พบว่าผลตอบรับดีมาก โดยผลสำรวจตลาดที่ฮ่องกง พบว่า 90% ชื่นชอบในรสชาติและความสดของอาหาร และไม่คิดว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทย ส่วนราคา เทียบกับคู่แข่งในตลาดได้
นอกจากนั้นซีพียังมีอีกหลายตลาดที่ส่งออก เช่น ที่อเมริกา ปัจจุบัน ใช้แบรนด์ “ไทย ไทย” ในการทำตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน แต่ จากนี้ไปจะส่งแบรนด์ ซีพี เข้าไปทำตลาดด้วย ส่วนตลาดยุโรปและสแกนดิเนเวีย ใช้แบรนด์ คิทเช่น เอนจอย ซึ่งจากนี้ไป บริษัทฯจะทำตลาดในแบรนด์ ซีพีเพิ่มขึ้นด้วย
การที่บริษัทฯใช้แบรนด์ซีพีในการทำตลาดในต่างประเทศ เพื่อเป็นการตอกย้ำเรื่องของ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ดังนั้นซีพีต้องการสร้างการรับรู้ในตลาดต่างประเทศถึงความเป็นมืออาชีพด้านการปรุงอาหาร ทั้งรสชาติ ราคา และความสดใหม่ นอกจากนั้นยังถือเป็นการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพราะ ปัจจุบัน จากสถานการณ์ไข้หวัดนก ที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศแถบเอเชีย และประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กลุ่มยุโรปและอเมริกา ห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็ง และ หาหารสดประเภทอื่นๆ ดังนั้นเราจึงปรับกลยุทธ์รุกตลาดอาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทาน ซึ่งก็สามารถเติบโตได้ดีเช่นกัน โดยสัดส่วนอาหารแช่แข็ง ซีพีส่งออก 40% และขายในประเทศ 60% เพราะ สามารถขายในส่วนของอาหารสดแช่แข็งได้ด้วย
นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดในประเทศ บริษัทฯจะขยายธุรกิจโดยมีช่องทางจำหน่ายผ่านร้าน ซีพี เฟรช มาร์ท ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 300 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 40 แห่ง และสิ้นปีจะขยายเพิ่มเป็น 100 แห่ง ซึ่งการรุกตลาดมากขึ้น คาดว่าปีนี้บริษัทฯจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารแช่แข็งเป็น 20% จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งที่ 14% เป็นอันดับสอง รองจาก พรานทะเล ซึ่งมีส่วนแบ่งที่ 19% และ อันดับสามคือ สุรพล ฟู้ดส์ ส่วนแบ่ง 12% จากมูลค่าตลาดรวม อาหารแปรรูปแช่แข็งพร้อมทานที่ 1,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% ทุกปี อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดการทำงานของซีพี บริษัทฯจะประเมินที่ ส่วนแบ่งทางการตลาด การรับรู้แบรนด์ ในกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงความมั่นใจด้านความปลอดภัยที่ผู้บริโภคมีให้
เซเว่นฯผุด2ธุรกิจกลางปี
ดร.สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงกลางปีนี้ บริษัทฯเตรียมที่จะเปิดตัวธุรกิจใหม่อีก 2 รูปแบบซึ่งจะเป็นธุรกิจบริการ ของเซเว่นฯ ที่จะมาสร้างเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น โดย หนึ่งในนั้นคือ การร่วมมือกับทางบัตรสมาร์ทเพิร์สของบริษัท ไทยสมาร์ทการ์ด จำกัด ในเครือซีพีเช่นกัน ส่วนอีกธุรกิจนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งบริษัทฯจะต้องทำการประชุมผู้ถือหุ้นในรายละเอียดดังกล่าวอีกครั้งเร็วๆนี้
ส่วนแผนการขยายสาขาของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นนั้น มีต่อเนื่องตามแผนงานเดิม โดยขณะนี้มีสาขาเปิดบริการแล้วมากกว่า 3,800 สาขา แบ่งสัดส่วนเป็นร้านของบริษัทฯ 60% และแฟรนไชส์ 40% ซึ่งปีนี้จะปรับสัดส่วนให้เป็น 50% เท่ากัน ทำเลที่จะขยายร้านเซเว่นฯนั้นจะบุกหนักตามย่านอาคารที่พักอาศัยเช่น คอนโดมิเนียม หอพัก และตามชุมชนทั่วไป
ดร.สุวิทย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกด้วยว่า ต้องการให้ภาครัฐบาลออกพ.ร.บ.ค้าปลีกให้ชัดเจนโดยเฉพาะเขียนลงไปเลยว่าจะสนับสนุนช่วยเหลือโชยห่วยอย่างไร อีกทั้งเกรงว่าจะไปซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก และควรจะมีการทำประชาพิจารณ์ปรึกษาทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องไม่ใช่ทำแค่บางกลุ่มเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|